จังหวะก้าวกระโดดกลุ่ม Sea ก้าวข้ามโควิดต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจครบวงจร

โควิดเร่งให้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” เป็นสิ่งปกติใหม่ในชีวิตประจำวัน และสำคัญกับธุรกิจต่าง ๆ อย่างมาก ทำให้บรรดายักษ์แพลตฟอร์มก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

หนึ่งในนั้นมี “Sea Group” รวมอยู่ด้วย พูดถึง “กลุ่มซี” คนนอกวงการไอทีอาจนึกไม่ออกแต่ถ้าบอกว่าเป็นเจ้าของอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้” เกมออนไลน์การีน่า, “ช้อปปี้เพย์” คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) เกี่ยวกับการขับเคลื่อนธุรกิจ และองค์กร ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

Q: เริ่มขยายไปธุรกิจโลจิสติกส์ด้วย

ปีที่ผ่านมาช้อปปี้โตมาก ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายโดยเฉพาะแบรนด์สินค้า กระโดดเข้ามาในแพลตฟอร์มมากขึ้น เราจึงขยายไปยังบริการโลจิสติกส์ “ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส” เพื่อรองรับปริมาณพัสดุที่เพิ่มขึ้น

ทำให้การจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้ารวดเร็ว โดยปรับระบบการขนส่งให้อยู่ในรูปแบบ standard delivery เลือกบริการขนส่งให้เหมาะสมกับคำสั่งซื้อโดยใช้ระบบ AI คำนวณหาผู้ให้บริการขนส่งที่ให้ราคาดี และส่งเร็วที่สุดในพื้นที่

วิเคราะห์จากจำนวนพนักงานขนส่ง รถขนส่ง และความสามารถในการขนส่งสินค้าต่อวัน เป็นระบบที่อีคอมเมิร์ซเจ้าอื่น ๆ ทำอยู่แล้ว แต่ช้อปปี้เริ่มมาจากมาร์เก็ตเพลซ ไม่ได้ออกแบบระบบขนส่งให้เป็นแบบอีคอมเมิร์ซ

เมื่อมีระบบ มีดาต้ามากพอก็เลือกบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าได้แม่นยำขึ้น แต่ยังให้บริการเฉพาะออร์เดอร์บนช้อปปี้เท่านั้น

เราพยายามพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุดไม่ได้ไปแข่งกับโลจิสติกส์เจ้าอื่น เริ่มศึกษาการทำจุดรับสินค้าเจาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบนช้อปปี้ เป็นโมเดลเดียวกับช้อปปี้ในไต้หวัน

Q: เป้าหมายที่วางไว้ของช้อปปี้

ขยายให้ครอบคลุมทั้งอีโคซิสเต็มตั้งแต่อีคอมเมิร์ซ เพย์เมนต์ โลจิสติกส์ และฟู้ดดีลิเวอรี่ เป็นกลยุทธ์จากบริษัทแม่ที่ต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่ดีที่สุดให้ลูกค้า อยากให้ช้อปปี้เป็นเหมือนเพื่อน ไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าก็เข้ามาในแอปได้

ปีที่ผ่านมาจึงมีฟีเจอร์ใหม่ เช่น Shopee Farm, Shopee Feed และ Shopee Live ทิศทางคือพัฒนาบริการที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และพัฒนาบริการใหม่ ๆ ควบคู่กันไปสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งออนไลน์ให้สนุกขึ้น

Q: การช่วยเหลือร้านค้าและลูกค้า

ในแต่ละตลาดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและกฎระเบียบของแต่ละประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ที่มีปัญหาเรื่องกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง รัฐบาลเปิดกว้างให้ประชาชนลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนผ่านช้อปปี้ ใช้แพลตฟอร์มเป็นจุดกระจายวัคซีน

ขณะที่ไทยเน้นไปที่การอัดบัดเจต สร้างแคมเปญลดราคาสินค้า เช่น ShopeeShopFromHome ให้ประชาชนซื้อสินค้าออนไลน์ในราคาที่จับต้องได้

รวมทั้งจับมือกับธนาคารกสิกรไทยออกสินเชื่อส่วนบุคคล “SPayLater” ยืมก่อนจ่ายทีหลังสำหรับลูกค้าช้อปปี้ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจสำหรับร้านค้า

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความถี่ในการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น แต่ยอดใช้จ่ายต่อคำสั่งซื้อลดลง เพราะกำลังซื้อผู้บริโภคหดตัวจากภาวะเศรษฐกิจ

Q: เพย์เมนต์รีแบรนด์เป็น “ช้อปปี้เพย์”

เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจแบรนด์มากขึ้น นำบริการเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มช้อปปี้ พยายามโปรโมตและมอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้า ทำให้ได้ลูกค้าใหม่ที่เป็นผู้ใช้งานช้อปปี้เพิ่มขึ้น เราอยากเห็นธุรกิจเพย์เมนต์ของ Sea เป็นเหมือนอาลีเพย์ของ “อาลีบาบา”

ซึ่งอาจต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละประเทศจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับใครได้บ้าง และสามารถขอใบอนุญาตอะไรได้บ้าง เช่น เมื่อปลายปีซีมันนี่ในสิงคโปร์เพิ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการดิจิทัลแบงกิ้ง

หรือช้อปปี้เพย์ของไทยที่เริ่มปล่อยสินเชื่อบนแพลตฟอร์ม และหาบริการทางการเงินดิจิทัลอื่น ๆ มาเสริม

Q: ธุรกิจเกมในไทยยังโตต่อเนื่อง

ตลาดเกมมือถือในไทยโตมากเมื่อเทียบกับตลาดเกมพีซีและคอนโซลที่เติบโตอย่างจำกัด เพราะคอมพิวเตอร์เกมมิ่งมีราคาสูง ผู้ผลิตเกมจึงพยายามลดสเป็กเกมบนพีซีให้เล่นบนมือถือได้ เป็นสาเหตุให้การีน่าเริ่มพัฒนาเกมมือถือและปล่อยเกม Free Fire ที่เป็นเกมแนว Battle Royale ออกมาตั้งแต่ปี 2560

ทิศทางต่อจากนี้จะเน้นไปที่การนำเกมที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับพฤติกรรมของเกมเมอร์ชาวไทย ทั้งยังผลักดันให้วงการอีสปอร์ตเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านโครงการ Garena Academy ให้ความรู้ด้านทักษะดิจิทัลและอาชีพในวงการเกม อาทิ นักกีฬาอีสปอร์ต และนักพัฒนาเกม

มีนักเรียนและนักศึกษาเข้าร่วมแล้ว 300,000 คน มีอาจารย์เข้าร่วมแล้ว 500 คนจากทั่วประเทศ

Q: การบริหารองค์กรในช่วงโควิด

ระลอกแรก เราแบ่งพนักงานเป็นทีม A และ B สลับกันเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ เริ่มพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์ซื้ออุปกรณ์ไอที ติดตั้งเครือข่าย VPN ส่งให้พนักงานที่บ้านเพื่อให้เชื่อมต่อกับระบบในองค์กรอย่างปลอดภัย

รวมถึงขยายระบบของทุกแพลตฟอร์มเพื่อรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ใช้เวลาปรับเพียง 3 สัปดาห์ ทำให้การระบาดของโควิดในระลอกถัดมา จนถึงล่าสุดเราปรับให้พนักงานเวิร์กฟรอมโฮมได้เต็มรูปแบบโดยไม่เกิดปัญหา

Sea มีพนักงานในเครือร่วม 5,000 คน การสื่อสารภายในองค์กรจึงสำคัญ ต้องทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นทีม และความใส่ใจขององค์กร จึงออกนโยบายเร่งด่วนจัดหาวัคซีนให้พนักงาน

ปัจจุบันพนักงานกว่า 40% ได้รับวัคซีนแล้ว ทั้งยังแจกโวเชอร์ให้ 300 บาทต่อเดือน สำหรับซื้อของใช้จำเป็น

Q: ปัญหาขาดแคลนคนดิจิทัล

เราแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีพัฒนาแอปพลิเคชั่นและโปรดักต์กับบริษัทแม่ที่สิงคโปร์และบริษัทในเครือ ทำให้ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานดิจิทัลในไทยถือเป็นความท้าทายมาโดยตลอด

Sea จึงพยายามรับพนักงานรุ่นใหม่วัย Gen Z ที่เรียนรู้เร็วเข้ามา ทั้งอบรมให้มีทักษะดิจิทัลที่ประยุกต์ใช้ได้ทุกสายงานในตลาด

Q: ไทยกับเศรษฐกิจดิจิทัล

ส่วน digital workfore หรือพนักงานที่มีทักษะดิจิทัลในไทยมีประมาณ 54% ไม่ได้เลวร้ายแต่ต่ำอินโดนีเซียมีสัดส่วนอยู่ที่ 65% และสิงคโปร์อยู่ที่ 75%

สิ่งที่ไทยต้องเร่งทำคือ ปรับนโยบายรัฐให้เอื้อกับการลงทุนในสตาร์ตอัพ ทำอย่างไรไม่ให้สตาร์ตอัพแห่ออกนอกประเทศ การลงทุนด้านเทคโนโลยีจึงต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมไปกับการพัฒนาทักษะคนวัยทำงานให้มีศักยภาพและพร้อมที่ทำงานในตลาดดิจิทัล


สุดท้ายต้องทำให้คนไทยทุกวัยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียม รู้จักใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจองค์รวม และพัฒนาทักษะดิจิทัลของคนไทยให้สูงขึ้นเป็น 60-70% ในอนาคต เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นจริง แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้