ซินเน็คสยายปีกลงทุนสตาร์ตอัพ ปั้น “ไอทีอีโคซิสเต็ม”

“ซินเน็ค” ตั้ง “ซินเน็ค อินคิวท์เบชั่น” สยายปีกลงทุนบริษัทเทคโนโลยี “ดิจิทัล” หวังยกระดับธุรกิจสู่ “ไอทีอีโคซิสเต็ม” ไม่เกี่ยงรูปแบบ และขนาดบริษัท ตั้งแต่สตาร์ตอัพยันบริษัทใหญ่มุ่งผนึกจุดแข็งอัพสปีดองค์กร พร้อมเปิดตัวไตรมาส 3 ปีนี้ ขณะที่กระแส “เวิร์ก-เลิร์นฟรอมโฮม” ดันดีมานด์สินค้าไอทีโตติดลม ลุ้นปลายปีบิ๊กแบรนด์มีคิวเปิดตัวสินค้าใหม่ปลุกตลาดคึกคัก คาดตลาดรวมปีนี้โตอย่างน้อย 5%

นางสาวสุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอที เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทวางแผนปรับทิศทางธุรกิจสู่การเป็นไอทีอีโคซิสเต็ม (IT ecosystem) ขยับจากปัจจุบันที่เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอที โดยเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ได้ตั้งบริษัทใหม่ “ซินเน็ค อินคิวท์เบชั่น” เพื่อลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะเปิดกว้างทั้งเข้าไปลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพ หรือการซินเนอร์ยี่กับบริษัทด้านเทคโนโลยีทั้งขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาบริษัท และสร้างธุรกิจใหม่ ๆ คาดว่าจะเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่เข้าไปลงทุนได้ในไตรมาสที่ 3

“เมื่อเปิดตัวแล้ว ภาพลักษณ์ และทิศทางของบริษัทจะชัดเจนว่ากำลังจะปรับสู่การเป็นไอทีอีโคซิสเต็ม อาจไม่ได้เปลี่ยนไปในทันที แต่ท้ายที่สุดซินเน็คจะก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้ สอดรับกับธุรกิจปัจจุบันที่มีบริการหลากหลาย ไม่ได้ขายเฉพาะสินค้าไอที แต่ยังเป็นตัวแทนดูแลศูนย์บริการให้แบรนด์ต่าง ๆ กว่า 10 แบรนด์ เช่น หัวเว่ย เสี่ยวหมี่ เป็นต้น ธุรกิจนี้เติบโตดี ทั้งมีผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มองค์กร และบริการคลาวด์

รวมถึงเป็นตัวแทนในการดูแลออฟฟิเชียลสโตร์บนช่องทางออนไลน์ทั้งลาซาด้า ช้อปปี้ และบริการคลังสินค้าออนไลน์ หรือ fulfilment ให้แบรนด์ไอทีต่าง ๆ ด้วย”

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทปรับรูปแบบการทำงานใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่มีเข้ามาช่วยให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ดีขึ้น โดยที่ยังสามารถรับออร์เดอร์และให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพปัจจุบันพนักงานซินเน็คได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจเมื่อเข้ามาใช้บริการ

ขณะที่การระบาดที่ลากยาว ทำให้ผู้บริโภคยังทำงาน และเรียนที่บ้าน ส่งผลถึงความต้องการสินค้าไอทีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาเรื่องซัพพลายขาดในหลายกลุ่มสินค้า ทั้งโน้ตบุ๊ก, แท็บเลต

และสมาร์ทโฟนบางรุ่น เพราะโรงงานต้องปิดไป รวมถึงมีปัญหาขาดแคลนชิปเซต เนื่องจากมีการนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งด้านไอที และรถยนต์ แต่คาดว่าสถานการณ์น่าจะคลี่คลายขึ้นในปลายปี

“ภาพรวมของธุรกิจไอทีในปีนี้อาจต้องรอประเมินจาก 2 ปัจจัยหลักที่เกิดขึ้นครึ่งปีหลังนี้ คือ กำลังซื้อที่มีแนวโน้มลดลง และปัญหาซัพพลาย เพราะสินค้าที่เข้ามายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่คาดว่าปลายปีนี้จะดีขึ้น และเชื่อว่าธุรกิจไอทีในปีนี้ยังจะมีการเติบโตแน่นอน”

สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลรอบล่าสุดทำให้ศูนย์การค้าต้องปิดกระทบกลุ่มผู้ประกอบการที่มีร้านในห้าง แต่ที่ผ่านมาคนเดินห้างลดลงเรื่อย ๆ โดยเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการสาขานอกห้างมากขึ้น

ประกอบกับมีช่องทางการซื้อทางออนไลน์ ทำให้ยอดขายสินค้าไอทียังเติบโต คาดว่าจะโตอย่างน้อย 5% จากปีที่ผ่านมา เพราะยังมีปัญหาเรื่องซัพพลาย

นางสาวสุธิดากล่าวต่อว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนสินค้ามากนัก เนื่องจากนำเข้ามากถึง 60-70 แบรนด์ ทั้งกลุ่มสมาร์ทโฟน, แท็บเลต, คอมพิวเตอร์, ชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ จึงมีความหลากหลายของสินค้า สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/2564 มีรายได้รวม 8,636 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะเติบโต 10-15% จากปีที่แล้วมีรายได้ 32,148 ล้านบาท เนื่องจากทำตลาดในกลุ่มคอนซูเมอร์ได้ดี และมีแบรนด์ที่แข็งแรง

“รายได้รวมปีนี้อาจไม่โตมากนักจากปัญหาซัพพลาย แต่กำไรโดยรวมคาดว่าจะดีขึ้น ซึ่งไตรมาสแรกกำไรดี ส่วนไตรมาส 2 และ 3 ปกติเป็นช่วงโลว์ซีซั่น แนวโน้มผลประกอบการจึงลดลงเป็นปกติแต่จะกลับมาโตอีกครั้ง ประกอบกับในไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่หลายแบรนด์ทยอยออกสินค้าใหม่ โดยในปลายปีมีทั้งแอปเปิล และซัมซุง ตลาดจึงน่าจะคึกคักเช่นกัน”