โนเกีย งัดแผนสู้โควิด ลุยขยายตัวแทนจำหน่ายจังหวัดรอง

โนเกียเขย่าแผนใหม่ เร่งขยายตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดรอง หลังโควิดทุบกำลังซื้อ กระทบยอดขายหน้าร้าน ขณะที่ครึ่งปีหลังเดินเกมต่อ โหมทำการตลาด เตรียมขนส่งสินค้าใหม่ลงตลาดไม่ยั้ง

นายภราดร รามบุตร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เอชเอ็มดี โกลบอล เจ้าของลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เสริมแบรนด์ “โนเกีย” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกล่าสุดทำให้กำลังซื้อในตลาดสมาร์ทโฟนลดลงกว่า 40% เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังลังเลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ชะลอการใช้จ่ายลง ขณะเดียวกันมาตรการของรัฐบาลที่ขยายพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดเป็น 29 จังหวัด

ทำให้ร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของเอชเอ็มดีฯ ในกรุงเทพฯ ซึ่งเปิดให้บริการในห้าง คอมมิวนิตี้มอลล์ ต้องปิดให้บริการชั่วคราวลงกว่า 100 สาขา จากปัจจุบันที่มีตัวแทนจำหน่าย 3,000 สาขาทั่วประเทศ

ส่วนร้านค้าต่างจังหวัดที่เปิดให้บริการนอกห้างแม้จะเปิดให้บริการได้ตามปกติ แต่ก็ต้องลดเวลาการให้บริการลง ทำให้ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน เพราะจำนวนผู้ใช้บริการหน้าร้านก็ลดลงตามไปด้วย ด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้เอชเอ็มดี โกลบอล ต้องปรับแผนการขยายตัวแทนจำหน่ายใหม่

โดยในส่วนของตัวแทนจำหน่ายกรุงเทพฯ อย่างกลุ่มทีจีโฟน บิ๊กซี ซึ่งต้องปิดให้บริการชั่วคราว ทำให้ยอดขายหายไป ดังนั้น เอชเอ็มดี โกลบอล ต้องปรับแผนระยะสั้น ด้วยการเปิดพื้นที่ขายนอกห้างมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางการขาย และอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า

ส่วนต่างจังหวัดจะเน้นการขยายตัวแทนจำหน่ายไปยังจังหวัดรอง ๆ มากขึ้น เนื่องจากยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ และยังมีกำลังซื้ออยู่ จากเดิมที่โฟกัสเฉพาะการขยายตัวแทนจำหน่ายในหัวเมืองใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัดเท่านั้น

“แม้ตลาดออนไลน์จะเติบโตอย่างมาก แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังต้องการมาหน้าร้านเพื่อสัมผัสสินค้าจริงก่อนซื้อ ซึ่งปัจจุบันยอดขายโนเกียมาจากออฟไลน์(หน้าร้าน) มากถึง 80% และออนไลน์ 20% ของรายได้รวม ทำให้โนเกียยังเดินหน้าหาตัวแทนจำหน่ายในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น”

ขณะเดียวกันครึ่งปีหลังนี้ยังเดินหน้าทำตลาดอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิด “Love it Trust it Keep it” ด้วยการมุ่งมั่นพัฒนา และออกแบบโทรศัพท์มือถือให้ตอบโจทย์ ความต้องการผู้บริโภคให้มากที่สุด เน้นคุณภาพและความปลอดภัยในการใช้งาน และมีแผนที่จะเพิ่มบริการอื่น ๆ เช่น HMD Connect ซิมการ์ดเดียวใช้ได้หลายประเทศทั่วโลก หรือระบบ soft lock e-Service ช่วยควบคุมการใช้งานดาต้าของผู้บริโภค

โดยตั้งเป้าหมายว่า จะเปิดตัวสมาร์ทโฟนออกสู่ตลาดให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นแบรนด์โทรศัพท์ในใจผู้บริโภคทุกกลุ่ม ที่ใช้งานได้นานคุ้มค่า ในราคาที่จับต้องได้

นายภราดรกล่าวว่า ปัจจุบันตลาดมือถือในไทยยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เล่นรายใหม่จากทั่วโลกเพิ่มเข้ามาในตลาดนี้เรื่อย ๆ โดยตลาดนี้แข่งขันกันที่เรื่องราคาเป็นหลัก สะท้อนจากราคาสมาร์ทโฟนที่วางจำหน่ายในไทยจะต่ำกว่าราคาสมาร์ทโฟนที่วางจำหน่ายอยู่ในต่างประเทศ เพราะทุกแบรนด์ต้องการชิงฐานลูกค้าและส่วนแบ่งทางการตลาด

ดังนั้น ผู้เล่นส่วนใหญ่ที่เริ่มเข้ามาในตลาดไทยจึงเน้นไปที่การทุ่มตลาด จัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นความสนใจ หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ ลดการจัดโปรโมชั่นและปรับขึ้นราคา เพื่อสร้างรายได้ แต่โนเกียจะเน้นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำตลาด รวมถึงการมีสินค้าที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างครอบคลุม

ในส่วนสินค้าที่วางจำหน่ายขณะนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ มือถือปุ่มกด เจาะกลุ่มผู้สูงอายุและลูกค้าเดิมที่ย้ายจากเครือข่าย 2G, 3G มาใช้เครือข่าย 4G ซึ่งโนเกียยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 70%

ขณะที่สินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟน จะเจาะลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยมีสินค้าตอบโจทย์ทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มล่าง กลาง และบน ได้แก่ ตระกูล C-series ราคาเริ่มต้น 2,000-4,000 บาท G-series ราคา 4,000-10,000 บาท

และ X-series ราคา 10,000 บาทขึ้นไป ซึ่งครึ่งปีแรกโนเกียมียอดขายเติบโตขึ้น 40% จากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ 5 รุ่น เป็นมือถือปุ่มกด 2 รุ่น และสมาร์ทโฟนอีก 3 รุ่น ได้แก่ Nokia C10, Nokia G10 และ Nokia G20