ปิดดีลวัดเรตติ้งทีวีดิจิทัล นีลเส็น คว้าสัญญา 4 ปี

นีลเส็นชนะประมูล
ภาพโดย Adriano Gadini จาก Pixabay

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เซ็นสัญญา นีลเส็น เดินหน้าวัดเรตติ้งทีวีทุกแพลตฟอร์ม  หลัง กสทช.อนุมัติงบสนับสนุน 288.8 ล้านบาท คาดเดือนสิงหาคมปี65 รายงานชุดเรตติ้งชุดแรกได้ใช้แน่

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล(ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯได้เดินหน้าโครงการพัฒนาระบบสำรวจความนิยมรายการโทรทัศน์แบบใหม่ เพื่อให้สอดรับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัลมากว่า 2 ปี ซึ่งทางสมาคมฯได้ดำเนินการสรรหา และเปิดโอกาสให้บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสมนำเสนอแผนงานการสำรวจความนิยมแบบใหม่ต่อสมาชิกผู้ประกอบการทีวีระบบดิจิทัลทุกช่อง และตัวแทนมีเดียเอเยนซี ร่วมพิจารณาคัดเลือก

จนสุดท้ายมีมติให้ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ มีชื่อเสียง และมาตรฐานการสำรวจวิจัยระดับสากล เป็นผู้รับจ้างดำเนินการสำรวจความนิยมครั้งนี้ จากนั้นสมาคมฯก็ได้ยื่นเสนอรายละเอียดของแผนงานการบริหารจัดการโครงการต่อ กสทช.ตามเงื่อนไขจนได้รับการพิจารณาจัดสรรงบสนับสนุนจำนวน 288.8 ล้านบาท  เพื่อเริ่มดำเนินการสำรวจความนิยมโทรทัศน์แบบใหม่ในกรอบระยะเวลาทั้งหมด 4 ปี

สำหรับสาระสำคัญในการสำรวจความนิยมโทรทัศน์แบบใหม่นี้ จะขยายหน่วยตัวอย่างที่ใช้เป็นพื้นฐานพัฒนาเรตติ้งรายการ จากเดิม 9,000 ตัวอย่าง เป็น 13,000 ตัวอย่าง ควบคู่กับการพัฒนาโปรแกรมการสำรวจ (Software) ระบบใหม่  ซึ่งจะนำไปสู่การวัดความนิยมของรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลตฟอร์ม (Cross Platform) ทั้งจากหน้าจอทีวีภาคพื้นดินและหน้าจอของแพลทฟอร์มออนไลน์ โดยมีผู้ตรวจสอบอิสระที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลตรวจสอบความเที่ยงตรงและโปร่งใสของการสำรวจความนิยมครั้งนี้โดยตลอด

อีกทั้งไม่ได้จำกัดการรายงานผลการสำรวจความนิยมให้เฉพาะผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและ กสทช .เท่านั้น ยังเปิดโอกาสให้หน่วยราชการ, หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา เข้าถึงข้อมูลตามการร้องขออีกด้วย

“หลังจากที่ได้เซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมฯ และ นีลเส็น ก็เริ่มดำเนินการตามแผนงานทันที โดยในช่วงปีแรกของการดำเนินการครั้งนี้จะเป็นขั้นตอนการติดตั้งระบบ อุปกรณ์ และขยายกลุ่มตัวอย่าง เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนเก็บผลสำรวจต่อไป โดยคาดว่าจะได้รายงานผลสำรวจความนิยมของรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลตฟอร์มชุดแรกประมาณเดือน สิงหาคม 2565”

อย่างไรก็ตามการสำรวจความนิยมรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลทฟอร์มนี้ เป็นเทคโนโลยีระบบการวิจัยล่าสุดที่ นีลเส็น ได้พัฒนาและเริ่มใช้แล้วในสหรัฐอเมริกา และเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก ล่าสุดได้ทำการติดตั้งระบบที่เดนมาร์ก และซาอุดิอาระเบีย ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะใช้ระบบการวัดทีวีเรตติ้งแบบใหม่นี้

ผู้สื่อข่าวรายงาน เพิ่มเติมว่า  การยกเครื่องเรตติ้งทีวีใหม่ครั้งนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ด้วยการนำของนางวรรณี รัตนพล ในฐานะนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ในขณะนั้น โดยมีกรอบและแนวทางที่ชัดเจน ด้วยการตั้งสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) ตามขึ้นมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 เพื่อจัดทำเรตติ้งแบบมัลติสกรีน

หลังจากนั้นก็มีการเรียกประมูล ซึ่ง “กันตาร์ มีเดีย” เป็นผู้ชนะประมูลและเซ็นสัญญาเมื่อปลายปี 2558 ขณะที่นีลเส็นไม่ได้เข้าร่วมประมูลดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า บริษัทแม่ตอบกลับไม่ทัน จึงไม่สามารถส่งรายละเอียดได้ตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้

จากนั้น ในเดือนกันยายนปี 2560 สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDAได้ยกเลิกสัญญาวัดเรตติ้งกับกันตาร์ มีเดีย เนื่องจากกันตาร์ มีเดียได้ส่งสัญญาเพิ่มโดยระบุว่า มีสิทธิยกเลิกสัญญาหลักภายใน 6-12 เดือน หลังจากมีรายงานข้อมูลเรตติ้ง ถ้าไม่สามารถหาสมาชิกได้ครบตามจำนวนเงินที่จะชดเชยค่าติดตั้ง เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน ทำให้เอ็มอาร์ดีเอตัดสินใจยกเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวไป