Revolution Foods ปฏิวัติอาหารโรงเรียน

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ ปัญหาทำเงิน

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ปัญหาอาหารโรงเรียนถกเถียงกันมายาวนานในอเมริกา โดยเฉพาะในยุค 80s-90s ที่มีการตัดงบฯสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันทำให้โรงเรียนต้องเสิร์ฟอาหารแช่แข็งราคาถูกเต็มไปด้วยไขมันและโซเดียม ผลที่ตามมาคือ โรคอ้วนในเด็กพุ่งกระฉูด

ต่อมาถึงออกกฎหมายใหม่กำหนดให้อาหารที่เสิร์ฟในโรงเรียนต้องมีสารอาหารครบถ้วนและมีโภชนาการสูง เช่น ขนมปังหรือโดนัทต้องทำจากธัญพืช และจำกัดโซเดียม, ไขมัน และทุกมื้อต้องมีผักผลไม้สด แต่ปัญหาคือ รสชาติไม่อร่อยจนอาหารเหลือทิ้งล้นถังขยะ

สตาร์ตอัพที่เราจะพูดถึงในวันนี้เกิดมาเพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะค่ะ

Revolution Foods ก่อตั้งโดย “คริสติน ริชมอนด์” และ “เคอร์เซ็น โทบี้” ในปี 2006 สมัยที่ยังเป็นนักศึกษา MBA มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ และต้องแก้โจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการสูง

โปรเจ็กต์นั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งคู่เปิดบริษัท Revolution Foods เพื่อปฏิวัติอาหารในโรงเรียน เน้นผลิตอาหารที่ดีมีประโยชน์ในราคาไม่แพง (ชุดละราว 3 เหรียญ) ทำจากวัตถุดิบสดใหม่ ไม่ใส่สี ไม่แต่งกลิ่น ไม่ใช้สารกันบูด-เพิ่มความหวาน ที่สำคัญ ต้องอร่อย

เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารมีรสชาติถูกปากกลุ่มเป้าหมาย บริษัทเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมชิมและวิจารณ์อาหารแต่ละเมนูในระหว่างพัฒนาสูตรด้วย บางเมนูที่ดูง่าย ๆ อย่าง ชิกเก้นวิงส์ เชฟของบริษัทต้องปรับสูตรเป็นพันรอบ กว่าจะเป็นที่พอใจของนักโภชนากรในแง่คุณค่าอาหาร และเด็ก ๆ ในแง่ของรสชาติ

จากปีแรกที่มีพนักงานแค่ 6 คน และมีลูกค้าเป็นโรงเรียนไม่กี่แห่งแถวโอกแลนด์ ในแคลิฟอร์เนีย อันเป็นที่ตั้งของบริษัท ตอนนี้ Revolution Foods มีพนักงาน 1,700 คน เสิร์ฟอาหารสัปดาห์ละ 1.5 ล้านชุดให้โรงเรียนกว่าพันแห่งใน 30 เมืองทั่วประเทศ และมีรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 30% ล่าสุดในปี 2016 บริษัทมีรายได้ 125 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ ยังระดมทุนได้กว่า 130 ล้านเหรียญ นำเงินมาเพิ่มไลน์สินค้าให้หลากหลายขึ้น ทั้งอาหารเช้า กลางวัน เย็น เนื่องจากลูกค้าหลักเป็นโรงเรียนรัฐจึงมีงบฯค่อนข้างจำกัด Revolution Foods จึงเน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และนำมาปรุงเป็นอาหารที่ครัวใหญ่ของบริษัทก่อนแพ็กใส่กล่องไปส่งให้โรงเรียนจัดเสิร์ฟ

ในแต่ละสัปดาห์มีกว่า 100 เมนูให้เลือก แต่ละมื้อในแต่ละวันไม่ซ้ำกัน โดยทุกมื้อจะเสิร์ฟพร้อมผลไม้สดตามฤดูกาล และนมสดไขมันต่ำหรือไม่มีไขมันเลย

นอกจากนี้ ยังมีเมนูสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กที่ต้องควบคุมคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล (ส่วนมากเป็นเด็กที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือโรคอ้วน) เด็กที่กินมังสวิรัติ รวมทั้งเด็กที่แพ้นมวัว ถั่ว ปลา อาหารทะเล ไข่ และแป้ง

บริษัทจะส่งรายละเอียดวัตถุดิบที่ใช้และสารอาหารของแต่ละเมนูให้โรงเรียนทุกครั้ง (ผู้ปกครองขอรายงานได้จากโรงเรียน) ทุกมื้อมีการตรวจสอบคุณภาพจากทีมโภชนากร และทุกเมนูมีสารอาหารครบถ้วนตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

นอกจากมีรายได้จากโรงเรียนเหล่านี้แล้ว Revolution Foods ยังมีรายได้จากการขายชุดอาหารพร้อมปรุง/พร้อมทานในร้านค้ากว่า 4,000 แห่งด้วย โดยเริ่มขยายเข้าสู่ตลาดอาหารพร้อมทานเมื่อ 3 ปีก่อนเน้นผลิตอาหารที่มีโภชนาการสูง รสชาติดี และราคาไม่แพง เพื่อที่เด็ก ๆ และครอบครัวจะซื้อหามากินได้แม้ไม่อยู่ในโรงเรียนแล้วก็ตาม


จึงไม่น่าแปลกใจที่ Revolution Foods จะได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในสตาร์ตอัพที่มีการเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกา และน่าจะโตได้อีกเยอะเพราะทั่วประเทศยังมีโรงเรียนรัฐอีกกว่า 1 แสนแห่ง และเด็กนักเรียนกว่า 30 ล้านคนที่อาจสนใจหันมาใช้บริการ หากบริษัทยังคงรักษามาตรฐานแบบนี้ไปได้เรื่อย ๆ