เอไอเอส ชู “วัคซีนแพลตฟอร์ม” หนุนภารกิจปูพรมฉีดวัคซีน

เอไอเอส จับมือ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผุด “วัคซีนแพลตฟอร์ม” สานต่อภารกิจปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วยคนไทย

วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนภาคสนามจะต้องมีระบบและกระบวนการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงได้ร่วมกับเอไอเอสพัฒนาวัคซีนแพลตฟอร์ม เพื่อดูแลและบริการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเกิดความคล่องตัวและรองรับการฉีดวัคซีนต่อวันให้ได้มากที่สุด

เห็นได้ชัดจากจุดฉีดวัคซีนภาคสนาม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีระบบการทำงานผ่านแพลตฟอร์มบนแท็บเล็ตโดยบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ทำให้ขั้นตอนการฉีดวัคซีนตั้งแต่การลงทะเบียนยืนยันตัวตนตามมาตรฐาน การติดตามผลและนัดหมาย การส่งต่อข้อมูลผู้ฉีดวัคซีนเข้าสู่ฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขมีความคล่องตัว

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสมุ่งสนับสนุนภาคสาธารณสุขภายใต้แนวคิด “เชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อคนไทย” โดยการสร้างดิจิทัลเซอร์วิสสนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุขในทุกด้าน นอกเหนือจากการสนับสนุนสัญญาณเครือข่าย ภายในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และจุดฉีดวัคซีน

ล่าสุดร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์พัฒนาวัคซีนแพลตฟอร์ม โดยใช้แนวคิดแบบ Modular Design หรือการออกแบบขั้นตอนการทำงานภายในแพลตฟอร์มให้มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถขยายแพลตฟอร์มและการทำงานของระบบให้รองรับกับจุดฉีดวัคซีนภาคสนามอื่น ๆ ทั้งขนาดเล็กรองรับระดับ 100 คน หรือขนาดใหญ่ที่รองรับได้มากกว่า 10,000 คน ซึ่งการทำงานร่วมกันในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการนำวัคซีนแพลตฟอร์มมาใช้ในภาคสนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ยังได้ร่วมมือกันให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) แก่ประชาชนผ่าน “วัคซีนแพลตฟอร์ม” สร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการกว่า 5,000 คน ณ ลานกิจกรรม ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นการยืนยันถึงความพร้อมของระบบที่สามารถบริหารจัดการในรูปแบบศูนย์วัคซีนภาคสนามเพื่อรองรับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนไทยในทุกพื้นที่

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้วัคซีนแพลตฟอร์มได้เริ่มทดสอบและใช้จริงในจุดฉีดวัคซีนภาคสนาม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปแล้วกว่า 120,000 โดสสำหรับเข็มแรก ภายใน 20 วัน และร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ บริการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้พิการกว่า 4,000 คนด้วย

“วัคซีนแพลตฟอร์ม เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการทำงานของภาคสาธารณสุขของไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือต่อเนื่องของเอไอเอสและราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คาดว่าวัคซีนแพลตฟอร์มนี้จะเป็นต้นแบบในการนำไปใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนไทยได้สำเร็จ”