JAS มองข้ามชอตล็อกดาวน์ ถอดรหัส “รอด” ตู้มือถือ “IT Junction”

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลากยาวเกินคาดการณ์ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวแล้วปรับตัวอีก ที่หนักไม่แพ้ใครเห็นจะเป็นผู้ให้บริการพื้นที่เช่าในห้างสรรพสินค้า

ด้วยว่ามาตรการล็อกดาวน์รอบล่าสุดของรัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น จนต้องสั่งปิดหลายกิจการในห้างสรรพสินค้าและคอมมิวนิตี้มอลล์

แน่นอนว่า “เจเอเอส แอสเซ็ท” ผู้ให้บริการพื้นที่เช่าในห้างสรรพสินค้าภายใต้แบรนด์ “IT Junction” และผู้พัฒนาศูนย์การค้าชุมชน “JAS Mall” ย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน

สแกนวิกฤตโควิดระลอกใหม่

“สุพจน์ สิริกุลภัสสร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ทจำกัด (มหาชน) หรือ JAS แสดงความคิดเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดลากยาวกว่าการระบาดระลอกแรกที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา

ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลก็เข้มงวดมากขึ้น โดยมีการปิดบริการต่าง ๆ ในศูนย์การค้าและคอมมิวนิตี้มอลล์เกือบทั้งหมดยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ตทำให้ผลกระทบรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

โดยตนมองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายในสิ้นไตรมาส 3 ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงอาจต้องอยู่ในสถานการณ์นี้ไปอีก 1-2 เดือน

“การระบาดรอบแรกที่ว่ารุนแรงแล้ว แต่ร้านอาหารในห้างและคอมมิวนิตี้มอลล์ยังเปิดได้แม้ไม่ให้นั่งในร้านก็ยังซื้อกลับบ้านได้ แต่รอบล่าสุดเปิดได้เฉพาะบริการดีลิเวอรี่แต่ในไตรมาส 4 น่าจะเริ่มกลับมาจึงคาดว่าบรรดาผู้ประกอบการทุกรายก็จะโฟกัสการทำตลาดไปยังไตรมาส 4 เช่นกัน

เพราะเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองที่ผู้บริโภคออกมาจับจ่าย และเป็นหน้าขายสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนที่แบรนด์ต่าง ๆ จะมีสินค้าใหม่ออกมา”

สำหรับธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในชื่อ “IT Junction” ได้รับผลกระทบจากนโยบายล็อกดาวน์ โดยต้องปิดให้บริการชั่วคราว 18 สาขา จากที่มี 26 สาขาทั่วประเทศ โดยการเปิด-ปิดของแต่ละสาขาจะขึ้นอยู่กับประกาศของแต่ละจังหวัดด้วยซึ่งเทียบรอบนี้สำหรับบริษัทถือว่าดีกว่ารอบที่ผ่านมา

เนื่องจากปีที่แล้วปิดบริการทั่วประเทศ แต่รอบนี้หนักเฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แผนการขยายสาขา “IT Junction” ที่วางไว้ 10 แห่งในช่วงต้นปีอาจต้องชะลอไปก่อน เนื่องจากไม่สามารถเซอร์เวย์พื้นที่ได้จึงคาดว่าปีนี้จะเปิดสาขาใหม่ได้อย่างน้อย 3 แห่ง

“ตู้มือถือ” ไม่มีวันตาย

“สุพจน์”กล่าวต่อว่า การขยายสาขาแต่ละแห่งของ IT Junction ใช้เวลาการศึกษาตลาดเพียง 6 เดือนก็เปิดได้ แต่ผลการระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องปรับรูปแบบการหาโลเกชั่นใหม่ด้วยการเน้นไปในพื้นที่เปิดมากขึ้น

เช่น ตามตลาดร้อน และชุมชนต่าง ๆ เพื่อเจาะเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ มากขึ้น แต่ก็ยังคงหาพื้นที่ในศูนย์การค้าควบคู่ไปด้วย

“ร้านตู้มือถือโดยรวมไม่ได้ลดลง แต่อาจย้ายไปเปิดนอกห้างเพราะธุรกิจยังมีการขยายตัวจึงไม่ใช่ว่าจะเลิกอาชีพไปเลย ยิ่งถ้าออกไปในต่างจังหวัดจะเริ่มเห็นตู้มือถือออกมาเช่าอาคารพาณิชย์ตามข้างถนน

และตามปั๊มน้ำมัน ถือเป็นการปรับตัวของร้านตู้ เพราะโควิดลากมาเกือบ 2 ปี ทำให้ต้องปรับตัวด้วยการไปเปิดในทำเลใหม่ ๆ ทำให้เกิดตลาดใหม่ ๆ”

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นร้านตู้มือถือต่าง ๆ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างอีโคซิสเต็มให้ตลาดโทรศัพท์มือถือโดยรวมให้มีการเติบโต และหากตลาดรวมเติบโตลดลง

ตลาดตู้มือถือก็โตลดลงด้วย สำหรับในปีนี้ตลาดกลับมาเติบโต และคาดว่าในช่วงปลายตลาดตู้มือถือก็จะคึกคัก โดยจะมีผู้บริโภคบางกลุ่มนำมือถือออกมาขายเป็นทุนสำหรับการซื้อเครื่องใหม่

ครีเอตเครื่องมือช่วยร้านตู้

“สุพจน์” กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทั้งกลุ่มบริษัทในเครือเจมาร์ท และนอกเครือในการสร้างเครื่องมือช่วยให้ผู้เช่าขายสินค้าให้ขายได้คล่องขึ้น เช่น เจมาร์ท เข้ามาช่วยเรื่องสินเชื่อให้ผู้เช่าใน IT Junction ด้วยการให้นำสินค้าจากร้านเจมาร์ทโมบายมาขายได้

หรือร่วมกับเอไอเอสสร้างแคมเปญหรือให้ส่วนลดระหว่างร้านตู้กับเอไอเอส ทั้งหมดจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้เช่าขายสินค้าได้ง่ายขึ้นซึ่งในไตรมาส 4 ก็จะยังช่วยเหลือร้านตู้มือถืออย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิดส่งผลกระทบทำให้กำลังซื้อชะลอตัวทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจและความมั่นใจของผู้บริโภค ทำให้บางส่วนอยากเก็บเงินไว้ใช้ยามจำเป็น แต่หากสถานการณ์คลี่คลายกำลังซื้อก็จะฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

เปิด JAS Village แห่งใหม่

“สุพจน์” ยังพูดถึงธุรกิจพัฒนาศูนย์การค้าชุมชนด้วยว่า บริษัทเตรียมเปิดคอมมิวนิตี้มอลล์แห่งใหม่ JAS Green Village คู้บอนในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยจะถือเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ มีพื้นที่ 14,000 ตารางเมตร และขณะนี้ขายพื้นที่เช่าไปแล้ว 90%

ไม่ปรับลดเป้ารายได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีแผนปรับลดเป้าหมายการเติบโต เพราะเชื่อมั่นว่าไตรมาส 4 สถานการณ์ต่าง ๆ จะดีขึ้นและผู้บริโภคน่าจะออกมาจ่าย โดยในไตรมาสสุดท้ายเตรียมทำแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นการขายให้ร้านค้า

และในครึ่งปีแรกยังสามารถเติบโตได้เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสะสมมูลค่าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาต่อเนื่อง ปัจจุบันจึงเป็นการเก็บเกี่ยวรายได้ ส่วนศูนย์การค้าชุมชนแห่งใหม่ที่จะเปิดก็ดำเนินการก่อสร้างและขายพื้นที่เช่าตั้งแต่ปลายปีก่อนจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 2/2564 มีรายได้รวม 96.2 ล้านบาท เพิ่ม 0.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรสุทธิ 22.2 ล้านบาท รวม 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2564) มีรายได้ 221.3 ล้านบาท ลดลง 15.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 260.8 ล้านบาท