“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” อดีต เลขาฯกสทช. แจงปม “ไทยคม”

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
ฐากร ตัณฑสิทธิ์

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” อดีตเลขาธิการ “กสทช.” แจงปมใบอนุญาต “ไทยคม” ไม่ใช่อำนาจสำนักงาน หรือเลขาธิการ กสทช. กระทุ้งผู้เกี่ยวข้องชี้เแจงให้ประชาชนเข้าใจ

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ชี้แจงผ่านบัญชีทวิตเตอร์ @TakornNBTC ว่าตามที่มีข่าวว่ามีคนร้องเรียนผม เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. กับ ปปช. เกี่ยวกับเรื่องดาวเทียมไทยคมนั้น

ผมขอเรียนว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสำนักงาน กสทช. หรือเลขาธิการ กสทช. ที่จะดำเนินการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ผมได้ตรวจสอบในรายละเอียดเบื้องต้น เพื่อจะนำมาชี้แจงให้กับประชาชนเข้าใจ ดังนี้

1.การที่ดาวเทียมจะทำงานได้ จะต้องมีอนุญาต 2 ส่วนเพื่อใช้งาน
1.สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม
2.ใบอนุญาตประกอบกิจการ เพื่อตั้งสถานีภาคพื้นดิน
อำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ตามข้อ 1 ในขณะนั้นตามกฎหมายเป็นของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลจัดสรรแล้วจะส่งเรื่องให้ กสทช.พิจารณาออกใบอนุญาตตามข้อ 2 ซึ่งในขณะนั้นเป็นอำนาจของ กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ตามกฎหมายที่จะพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ แล้วจึงส่งเรื่องให้ กสทช. เพื่อรับทราบมติ

2.ซึ่งในเรื่องนี้ กทค.ได้มีการพิจาณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ตามที่รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้ กสทช.พิจารณาดำเนินการ

3.ในปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ ได้กำหนดให้อำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่เคยเป็นของรัฐบาล มาเป็นอำนาจของ กสทช. ซึ่งก็ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะ กสทช.ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ

ดังนั้น หลังจากปี 2560 กสทช.จึงมีหน้าในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และตามข้อมูล ดาวเทียมไทยคม 5 กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงในเดือน ก.ย. 2564

เมื่อกฎหมายให้ กสทช.มีอำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมซึ่งเป็นสมบัติของชาติ กสทช.จึงได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อจะได้มีการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในระบบใบอนุญาตโดยจะใช้วิธีการประมูล ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่มีความโปร่งใส ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม สามารถตรวจได้ และเป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วโลก และ กสทช.ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ จนเปิดให้ยื่นเข้าประมูล แต่มีผู้ยื่นเข้าประมูลเพียงรายเดียว จึงได้ยกเลิกการประมูลไป เพื่อความโปร่งใส และเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

อนึ่ง สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรสิทธิในเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และใบอนุญาตประกอบกิจการ ก็น่าจะมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องดังกล่าวต่อไป