เริ่มขายของออนไลน์ ผ่าน E-marketplace ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?

เกียรตินาคินภัทร เผย 5 ปัจจัยสำหรับขายของออนไลน์
ภาพจาก pixabay

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร แนะ 5 ปัจจัยควรคำนึง หากจะเริ่มขายสินค้าออนไลน์ 

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร” หรือ “เกียรตินาคินภัทร (KKP)” เผยแพร่รายงาน ตีแผ่สมรภูมิ E-Commerce ไทย ตรงไหนคือโอกาส ซึ่งใจความตอนหนึ่งมีการแนะนำ ผู้เริ่มขายสินค้าผ่าน E-marketplace เช่น Shopee หรือ Lazada ให้คำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

1. การขายของออนไลน์มีการแข่งขันด้านราคาสูง

เนื่องจากสินค้าในแต่ละหมวดหมู่มักเป็นสินค้าที่เหมือนและใกล้เคียงกันจึงทำให้สามารถเปรียบเทียบราคาได้ง่าย ขณะที่การนำเสนอสินค้าที่มีลักษณะพิเศษ (unique) อาจทำได้ยากกว่าบน E-marketplace เนื่องจากผู้ซื้อมักสืบค้นเฉพาะยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักทั่วไป หรือต้องการสินค้าราคาถูกที่ตอบโจทย์ทั่วไปในบ้านได้

การตั้งราคาและเข้าร่วมโปรโมชั่นต่าง ๆ เช่น การส่งฟรี หรือการได้เงินคืน (Cashback) จึงมีความสำคัญสูง ซึ่งอาจสะท้อนถึงความจำเป็นที่ร้านค้าออนไลน์จะต้องมีต้นทุนสินค้าที่ต่ำเพื่อให้ยังเหลือส่วนต่างกำไร

2. คะแนนรีวิวเป็นแต้มต่อ

การขายของออนไลน์ต่างจากการขายแบบมีหน้าร้าน เพราะผู้ขายของออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่เป็นที่รู้จักของผู้ซื้อ ทำให้ความเชื่อมั่นต่อผู้ขายจากแต่เดิมที่การมีหน้าร้านอาจแสดงความน่าเชื่อถือของกิจการ และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ขายโดยตรงช่วยเสริมความมั่นใจต่อการซื้อสินค้า เปลี่ยนไปเป็นการสะท้อนความน่าเชื่อถือของผู้ขายผ่านคะแนนรีวิวที่ได้จากผู้ซื้อและยอดขายแทน การสื่อสารกับผู้ซื้อทั้งก่อนส่งสินค้าและหลังการขายจะมีส่วนช่วยให้ผู้ขายของออนไลน์มีคะแนนรีวิวที่ดี

3. ค่าธรรมเนียมผู้ขายอาจทำให้เหลือส่วนต่างกำไรไม่มาก

การขายของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce มีค่าธรรมเนียมที่ผู้ขายต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มเมื่อขายได้ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการขาย (Platform fee) ค่าธรรมเนียมธุรกรรม (Payment fee) และค่าธรรมเนียมร่วมการส่งเสริมการขาย เช่น การส่งฟรี (Promotion participation)

ซึ่งหากรวมกันแล้วในปัจจุบันอยู่ที่ราว 10-12% ของราคาสินค้า (รูปที่ 30) หรือ อาจสูงกว่านั้น ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า ดังนั้นผู้ขายของออนไลน์จึงควรคาดหวังส่วนต่างกำไรเบื้องต้นมากกว่าระดับดังกล่าวพอสมควร เพื่อให้การขายผ่านออนไลน์ยังเหลือกำไรในขั้นสุดท้าย

4. การจัดการหลังบ้านเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อการขายของออนไลน์มีส่วนต่างกำไรต่ำ ความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับการขายให้ได้จำนวนมากเพียงพอ (Scale) ในระยะเริ่มต้น ผู้ค้าปลีกเดิมที่มีหน้าร้านอาจใช้พื้นที่ในร้านในการจัดเก็บสินค้าและให้พนักงานของตนเองเป็นผู้หยิบและจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อ

อย่างไรก็ตาม เมื่อยอดขายออนไลน์เริ่มมีมากขึ้น และการจัดการเริ่มมีข้อจำกัด การใช้บริการศูนย์บริการด้านพัสดุครบวงจร หรือ Fulfillment Center อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยให้การบริหารจัดการคลังสินค้าและการจัดส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอาจช่วยประหยัดต้นทุนหลังบ้านได้ในระยะยาว

5. เก็บหลักฐานการใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ทางการชำระภาษี

การขายของออนไลน์จำเป็นต้องเสียภาษีเงินได้เช่นเดียวกับการค้าทั่วไป โดยยื่นแบบภาษี 2 ครั้งสำหรับครึ่งปีแรกและทั้งปีโดยในระยะเริ่มแรกที่ยอดขายไม่มาก สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ของรายได้จากการขาย หรืออาจหักได้ตามค่าใช้จ่ายจริง ซึ่งจำเป็นต้องมีหลักฐานเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ และหากมีรายได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี อาจเลือกชำระด้วยอัตรา 0.5% ของรายได้จากการขายของออนไลน์ได้

ทั้งนี้ การขายของออนไลน์มักมีการชำระผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือผ่านการโอนเงินเข้า-ออกบัญชี จึงสามารถตรวจสอบได้ ผู้ขายของออนไลน์จึงควรเก็บหลักฐานที่จำเป็นเพื่อได้รับประโยชน์จากการลดภาระทางภาษีมากที่สุด