เจมาร์ท-BTS ผนึกธุรกิจ ย้ำพลังซินเนอร์ยี่เร่งโตทวีคูณ

หลังเดินหน้าผนึกกำลังในเครือมานานกว่า 6 ปี ล่าสุดกลุ่มเจมาร์ทประกาศดีลสำคัญที่ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” แม่ทัพเครือเจมาร์ทถึงกับบอกว่าเป็นดีลการ “ร่วมทุน” ที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต นั่นทำให้เขาและครอบครัว “สุขุมวิทยา” ลดสัดส่วนหุ้นเหลือ 35%

“ในอดีตผมถือ 100% บริษัทยังมีมูลค่าไม่เท่าไร ต่อมาถือ 46% บริษัทมีมูลค่าเกือบ4 หมื่นล้าน ถ้าต่อไปจะถือ 36% บริษัทอาจมีมูลค่าเป็นแสนล้านก็ได้เป็นเรื่องปกติสิ่งที่ให้ความสำคัญ คือ ทำให้บริษัทแข็งแรงและเติบโตอย่างมีคุณภาพ”

ดีลที่ว่า คือ บริษัทในเครือบีทีเอสเข้ามาถือหุ้น ใน “เจมาร์ทและซิงเกอร์”

“ที่เจมาร์ทเราจะมี 1 บอร์ดซีต และมีผู้บริหารของฝั่งบีทีเอสที่จะเข้ามาช่วยรันโอเปอเรชั่น เข้ามาช่วยกันให้เราทำงานร่วมกันได้ เพราะวัฒนธรรมองค์กรสำคัญมาก ต้องมีตัวเชื่อม ในซิงเกอร์ก็เช่นกัน”

“อดิศักดิ์” ย้อนเล่าถึงสมัยที่เขาเข้าไปซื้อ “ซิงเกอร์” ว่า กว่าที่จะปรับจูนวัฒนธรรมองค์กรให้ทำงานกันได้ก็ต้องใช้เวลาหลายปี

“ตอนที่เข้าไปในซิงเกอร์ วัฒนธรรมองค์กรของเราตอนนั้น 27 ปี ของซิงเกอร์ 127 ปี เล่นเอาผมเองก็งง ๆ ไปเหมือนกัน ใช้เวลา 6 ปี ทำให้ซิงเกอร์เป็นบริษัทที่ทำสถิติกำไรสูงสุดใน 130 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งมาในประเทศไทยได้”

ย้ำกลยุทธ์ “ซินเนอร์ยี่”

ที่ผ่านมากลุ่มเจมาร์ทเดินหน้ากลยุทธ์การสร้างความร่วมมือหรือซินเนอร์ยี่ธุรกิจในเครืออย่างต่อเนื่อง และ “วันนี้” ได้โจทย์ใหม่ คือ การซินเนอร์ยี่ครั้งใหญ่กับกลุ่มบีทีเอส เพื่อต่อยอดและสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดร่วมกันให้ได้

“ถ้าเราจะไปต่อ ต้องยอมรับว่า ถ้าเงินทองไม่มีก็ไปต่อยาก และคิดว่าวันนี้ กลุ่มเจมาร์ทมีความพร้อม เมื่อกลุ่มบีทีเอส โดยวีจีไอและยูซิตี้ โดยการนำของคุณเควิน(กวิน กาญจนพาสน์) มาคุยเรื่องที่ว่า เราจะไปต่อยังไงให้แข็งแรง ผมจึงตอบตกลง”

โดยมองไปยัง 1.การสร้างการเติบโตแบบทวีคูณ (exponential growth) ซึ่งจะทำได้ต้องมี X factor เมื่อพิจารณาธุรกิจในกลุ่มบีทีเอส ซึ่งมีทั้งสื่อโฆษณา, บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์, โลจิสติกส์ และประกัน ถือว่าค่อนข้างครบ และลงตัวที่จะนำมาต่อยอดให้แข็งแรงขึ้นไปด้วยกันได้

ลดถือหุ้นแลกเสริมแกร่งทุน

“ครอบครัวผมลดการถือหุ้นจาก 46.2% เหลือ 34.7% แต่บนโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้น โดยเจมาร์ทจะเสนอหุ้นเพิ่มทุนให้วีจีไอ และยูซิตี้ก็จะได้เงินราวหมื่นล้านเจเอ็มทีก็จะเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมได้มาอีกหมื่นล้าน และซิงเกอร์ก็จะออกหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (พีพี) ให้ยูซิตี้ มีเงินเข้ามา 7,100 ล้านบาท อีกส่วนออกให้ผู้ถือหุ้นเดิม3,500 ล้าน รวมแล้วราว 3 หมื่นล้าน”

สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ 1.ทำให้บริษัทมีฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้น ส่งผลให้ “เครดิตเรตติ้ง” ดีขึ้น ทำให้การกู้เงินในอนาคตก็น่าจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ทั้งเจมาร์ท,เจเอ็มที และซิงเกอร์ และ 2.เจมาร์ทและกลุ่มบีทีเอสมี “อีโคซิสเต็ม” ที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายการจัดจำหน่าย, การตลาดผ่านแพลตฟอร์ม “วีจีไอ” มี “เจมาร์ท โมบาย ช้อป” ในห้าง และเมืองใหญ่ รวมถึงทีมขายของ “ซิงเกอร์” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ยังไม่นับ “ดาต้าเบส” ของเจมาร์ทที่มีฐานลูกค้า 7 ล้านราย

“กลุ่มวีจีไอเพิ่งเข้าไปลงทุนในแฟนลิงก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอทีแบรนด์เสี่ยวหมี่ และอื่น ๆ เราก็ช่วยขายได้ เช่นกันกับเรื่องเทคโนโลยี ที่เรามีเจฟินคอยน์ พัฒนาบล็อกเชน และฟินเทค ก็น่าจะนำมาขยายในอีโคซิสเต็มของบีทีเอสได้ด้วย”

ขยายธุรกิจ “JMT-ซิงเกอร์”

นายอดิศักดิ์กล่าวด้วยว่า “เจเอ็มที”ในเครือเจมาร์ทจะนำเงินหมื่นล้านที่ได้มาไปซื้อหนี้เสีย เพื่อขยายธุรกิจ อีกส่วนเตรียมการไว้ชำระหนี้ เช่นกันกับ “ซิงเกอร์” ก็จะนำเงินเกือบหมื่นล้านบาท ไปขยายพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ รวมถึงขยายสาขาให้เข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศ

“ปี 2020 ในภาพรวมกลุ่มเราก็ยังโตที่เด่นสุด คือ เจเอ็มที โต 11 เท่าซิงเกอร์วันที่ไปซื้อมูลค่าตลาด 3,700 ล้าน วันนี้ 2 หมื่นล้าน ส่วนเจมาร์ท มีอีก 4 บ.ที่ยังไม่ได้ตีมูลค่า เช่น เจมาร์ทโมบายที่ปีนี้น่าจะโต 100% หรือเจเวนเจอร์ที่ทำดิจิทัล แอสเซตทั้งคริปโทฯ ดีไฟน์ และเรื่องที่เป็นอนาคตอื่น ๆ”

“เจเวนเจอร์” เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้กลุ่มเจมาร์ทเติบโตแบบทวีคูณด้วยศักยภาพของ “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม”

“ปัจจุบันเราหาลูกค้า 2 หมื่นคนต่อเดือนผ่านหน้าร้าน แต่ต่อไปเมื่อทำแพลตฟอร์มจะหาลูกค้าได้ 5 หมื่นคนต่อวัน ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เป็นเอ็กซ์โพเนนเชียลโมเดล ที่เกิดจากการมีแพลตฟอร์มที่แข็งแรง ซึ่งจะเป็นฮิดเดนแอสเซตในเจมาร์ทที่จะปล่อยออกมาตามเวลาที่เหมาะสม”

Super Snergy 360 องศา

“ปิยะ พงศ์อัชฌา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจเอ็มที เน็ตเวิร์ค เซอร์วิสเซ็สเสริมว่า ที่ผ่านมาการรวมพลังธุรกิจในเครือเจมาร์ททำได้ 180 องศา

แต่ถ้ามีบีทีเอสกรุ๊ปเข้ามาน่าจะทำได้ 360 องศา จากการผสานความร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจทั้งโลจิสติกส์ “เคอรี่”, แพลตฟอร์มสื่อโฆษณา “วีจีไอ, ยูซิตี้ และแรบบิท เป็นต้น

“ที่ผ่านมาลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคล ฐานลูกค้าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน เมื่อวีจีไอมีเคอรี่ที่มีไรเดอร์ และมีรถปิกอัพในเครือข่าย ซึ่งในอดีตอาจไม่ได้รับโอกาสทางการเงิน แต่จากการมีดาต้าของเคอรี่เราก็จะปล่อยสินเชื่อในกลุ่มนี้ได้

ไรเดอร์อยากได้มอเตอร์ไซค์หรือซื้อมือถือก็ทำสัญญาสินเชื่อผ่านซิงเกอร์ได้ คนมีรถปิกอัพอยากมีเงินทุนเพิ่มรถให้เคอรี่ ก็เอารถมาทำคาร์ฟอร์แคชได้”

“กวิน กาญจนพาสน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) ปิดท้ายว่า วีจีไอและยูซิตี้ ลงทุนมูลค่ากว่า 1.75 หมื่นล้านบาท ด้วยความตั้งใจเป็นพันธมิตรในระยะยาว

“โปรเจ็กต์แรก คือ เจฟินคอยน์ เพราะเทรนด์ของโลกมาตรงนี้ เราก็คิดว่าเมื่อไรที่กลุ่มบีทีเอสกับเจมาร์ทจะใช้ดิจิทัลสแตรทิจีด้วยกันได้ ทำให้เจฟินคอยน์เป็นยูทิลิตี้โทเค็น ในครอบครัวบีทีเอส”


และย้ำว่า การลงทุนในกลุ่ม “เจมาร์ท” เป็นดีลที่ดี และ “วินวิน” ทั้ง 2 ฝ่าย