พรินเตอร์ โตรับอานิสงส์พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์บูม

ตลาดพรินเตอร์ “อิงก์เจ็ต” แรงไม่ตก “เอปสัน” ขนสินค้าใหม่ลงตลาด 17 รุ่น เจาะโฮมออฟฟิศ-กลุ่มองค์กร เดินหน้าบริหารสต๊อกสินค้า พร้อมชูบริการ “เหมาเหมา เช่า” เพิ่มทางเลือกลูกค้า “บีทูบี” ตั้งเป้าดันรายได้โตไม่ต่ำกว่า 10%

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด GfK ระบุว่า ภาพรวมตลาดสินค้าไอทีครึ่งปีแรกปีนี้เติบโตกว่าปีที่่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสินค้าที่เติบโตมากที่สุด

ได้แก่ แท็บเลต โตขึ้น 48% รองมาเป็นพรินเตอร์ 21% อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (storage) 16% โน้ตบุ๊ก 14% และพรินเตอร์แบบมัลติฟังก์ชั่น 4% เนื่องจากการปรับรูปแบบการทำงานเป็น “ไฮบริดเวิร์กเพลซ” ของผู้บริโภค ทำให้ตลาดพรินเตอร์เติบโตมาก โดยเฉพาะความต้องการเครื่องพิมพ์ขนาดกลางและเล็กเพื่อใช้งานที่บ้าน

สำหรับเทคโนโลยีพรินเตอร์ที่ได้รับความนิยม 69% เป็นอิงก์เจ็ต 20% เป็นเครื่องพิมพ์ใบเสร็จ และฉลากขนาดพกพา(thermal printer) เติบโตขึ้นจากการขายสินค้าออนไลน์ และ11% เป็นเลเซอร์พรินเตอร์ ขณะที่ตลาดพรินเตอร์อิงก์เจ็ตกว่า 71% เป็นระบบอิงก์แท็งก์ โดยในไตรมาส 2 โตขึ้นจากปีก่อน 5% อีก 29% เป็นอิงก์เจ็ตตลับหมึก ทั้งพบว่าอิงก์เจ็ตมัลติฟังก์ชั่น ที่ครอบคลุมงานพิมพ์ แฟกซ์ และสแกนเอกสาร เติบโต 89.2% ส่วนพรินเตอร์อิงก์เจ็ตที่สั่งพิมพ์เอกสารได้อย่างเดียวโตขึ้นเพียง 10.8%

“ช่วงล็อกดาวน์กระแสพรินเตอร์อิงก์แท็งก์ในไทยบูมมาก ส่งผลให้ยอดขายโตขึ้น โดย 72% ยังมาจากการขายหน้าร้าน และ 28% มาจากออนไลน์ ทำให้เอปสันรักษาส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ที่ส่วนแบ่ง 46% ในตลาดพรินเตอร์อิงก์แท็งก์ไว้ได้”

ล่าสุดเปิดตัวพรินเตอร์ EcoTank รุ่นใหม่ 17 รุ่น แบ่งเป็นพรินเตอร์ขนาดเล็กใช้ตามบ้าน 8 รุ่น พรินเตอร์โฮมออฟฟิศ 7 รุ่น และพรินเตอร์คุณภาพสูงสำหรับองค์กร 2 รุ่น ทำให้ปัจจุบันมีไลน์อัพสินค้าอิงก์แท็งก์ 29 รุ่น เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคและทดแทนการใช้พรินเตอร์เลเซอร์ในบางรุ่น

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจปีนี้ (เม.ย. 2564-มี.ค. 2565) บริษัทจะเดินหน้าผลักดันให้ภาพรวมธุรกิจเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีที่ผ่านมา โดยเร่งเพิ่มสัดส่วนลูกค้าองค์กร (B2B)

ที่ปัจจุบันมีเพียง 30% ให้เพิ่มขึ้นผ่านบริการเช่าพรินเตอร์และเครื่องถ่ายเอกสาร “EasyCare 360 เหมาเหมา” รองรับการพิมพ์สูงสุด 120,000 แผ่นใน 24 เดือน คาดว่าหากสถานการณ์โควิดคลี่คลายจะมียอดใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และปรับแผนการออกสินค้าใหม่โดยโฟกัสพรินเตอร์ขนาดกลางและเล็กในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น จากเดิมเน้นพรินเตอร์เฉพาะขนาดใหญ่ ส่วนพรินเตอร์พิมพ์ฉลากและใบเสร็จ

ตนมองว่าเป็นเทรนด์ระยะสั้นที่มาพร้อมกระแส “ช็อปออนไลน์” ซึ่งบริษัทมีพรินเตอร์ขนาดเล็กราคาประหยัด รองรับกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์โดยเฉพาะ

นายยรรยงกล่าวต่อว่า ความท้าทายสำคัญของตลาดพรินเตอร์คือปัญหาชิ้นส่วนขาดแคลน โดยสินค้าเข้ามาเป็นลอตในปริมาณไม่มาก จึงต้องหาชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์จากหลายเวนเดอร์เพื่อกระจายความเสี่ยงและปรับดีไซน์สินค้าใหม่ให้ต้นทุนน้อยที่สุด โดยไม่มีนโยบายปรับขึ้นราคา แต่จะตั้งราคาให้อยู่ในเรตที่ผู้บริโภครับได้ และแบรนด์แข่งขันกับเจ้าอื่นได้