ผู้เชี่ยวชาญห่วง”ไทย”ยังตามไม่ทันยุคการค้าดิจิทัล แนะรัฐออกกฎแบบคนเข้าใจเทคโนโลยี

ผู้เชี่ยวชาญห่วง”ไทย” ยังตามไม่ทันยุคการค้าดิจิทัล แนะรัฐออกกฎแบบเข้าใจเทคโนโลยี ไม่มีหน่วยงานผูกขาด

 

วันที่ 19 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD จัดเวทีประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2560 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยการประชุมในช่วงที่ 3 ว่าด้วยเรื่อง “การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล : ความจำเป็นของการค้าดิจิทัล”

นายวิสิทธิ์ อธิพยากูล ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานภูมิภาคของเอเชีย-แปซิฟิก (ITU, APAC Regional office) กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะการใช้โทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น แต่ทว่ายังคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จึงเป็นความท้าทายขององค์การสหประชาชาติและ ITU ที่จะนำผู้คนทั่วโลกมาเชื่อมต่อหากันได้ เพิ่มโอกาสเข้าสู่เครือข่ายอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปพัฒนาอย่างเร่งด่วน

“โลกกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลอีโคโนมีและ Internet of Things กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเทคโนโลยีและนโยบายภาครัฐ ขณะที่ไทยตอนนี้ยังตามไม่ทันและยังคงมีช่องว่างอยู่มาก”นายวิสิทธิ์กล่าว

นายวิสิทธิ์ กล่าวว่า การมาถึงของยุคอินเทอร์เน็ตทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อระบบการเงิน เศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญอีกอย่าง การบริการการเงินดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟน อย่าง Mobile -banking , Mobile -payment และ Mobile money transfer โดย “ดิจิทัลแบงก์” ไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่เฉพาะในไทยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก เพราะบริษัทข้ามชาติต้องการใช้ข้อมูลผ่านดิจิทัลทั้งสิ้น

@แนะรัฐออกกฎแบบผู้เข้าใจเทคโนโลยี ใช้ได้จริง ไม่มีหน่วยงานผูกขาด

ผู้เชี่ยวชาญ ITU กล่าวต่อว่า การเข้าสู่ “Cashless society” หรือสังคมไร้เงินสด หลายประเทศจึงมีความจำเป็นต้องนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนและผู้ให้บริการรับรู้โดยทั่วกัน เพื่อสนับสนุนอีคอมเมิร์ซให้ทำได้โดยสะดวก อย่างไรก็ตามกฎระเบียบการจัดการการค้าดิจิทัลในประเทศไทยยังต้องปรับปรุงต่อไป

สำหรับข้อเสนอแนะในกฎระเบียบดูแลธุรกิจดิจิทัลนั้น เขาบอกว่าในอนาคตจะต้องไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงาน หนึ่งมีสิทธิ์ชี้ขาด แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยต้องคำนึงว่าหากซับซ้อนมากเกินก็จะใช้ยาก โดยรัฐต้องออกกฎระเบียบวิธีการทางด้านการเงินที่มีการคุ้มครองผู้บริโภค หากนำเอาบริการนี้มาปฏิบัติจริงแล้ว ผู้ใช้ซึ่งเป็นประชาชนจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้และเชื่อถือได้ เพื่อให้ไม่มีกลไกใดถูกนำไปใช้ในทางผิด อีกทั้งยังต้องมีมาตรฐานชัดเจน ใช้ได้จริงทั้งผู้บริการและผู้ให้บริการ

“ผู้มีอำนาจต้องเข้าใจเทคโนโลยีและสถานการณ์สังคม เพื่อให้ออกกฎหมายที่ดีที่สุดพร้อมนำไปปฏิบัติและได้ผลจริงๆ ในอนาคตการค้า การทำธุรกิจจะเกี่ยวข้องกับดิจิทัลทั้งหมด”นายวิสิทธิ์กล่าว

@ยุคหุ่นยนต์มา คนหวั่นตกงาน ความกังวลที่ต้องเตรียมตัว

ด้าน Jonathan Wong จาก ESCAP ICT and Digital Economy Division กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าร่วมกับการค้าการการลงทุนเป็นประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองของโลก ประกอบกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีอัจฉริยะ ที่สร้างความหวาดกลัวให้มนุษย์ว่าเครื่องจักรกลจะเข้ามาแย่งงานคนหรือไม่ ผู้คนเกิดความวิตกว่าหากเกิดการปฏิวัติดิจิทัลจะต้องเสียการจ้างงานมนุษย์อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่ายังไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลในเร็ววันนี้ โดยคิดว่าเทคโนโลยีน่าจะเป็นประโยชน์ต่อโลก เพียงแต่มนุษย์จะต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ดีเท่านั้น

ทั้งนี้ กรณีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงศตวรรษที่ 18 เมื่อมีการนำเครื่องจักรกลมาใช้ในโรงงานทอผ้า เหล่าแรงงานผู้หญิงต่างบอกว่าตนเองจะตกงาน จึงเป็นความหวดกลัวรูปแบบเดียวกันที่โรงงานในปัจจุบันหันมาใช้หุ่นยนต์และเครื่องพิมพ์สามมิติมากขึ้น

สำหรับการเตรียมความพร้อมของประชาชนให้รับมือกับการปฏิวัติดิจิทัลนั้น Jonathan Wong ยกตัวอย่างการฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมให้พนักงาน โดยเฉพาะคนที่กลัวจะตกงานหากบริษัทหันมาใช้ระบบอัจฉริยะ และในกรณีของสหราชอาณาจักรที่กำลังจะระบุกฎหมายชัดเจนเกี่ยวกับการควบคุมหุ่นยนต์ โดยทั้งหมดนี้ต้องคิดถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นด้วย ว่าจะไม่สร้างความเดือดร้อนแก่มนุษยชาติ

นอกจากนี้ เขาได้กล่าวถึงโครงการขยายเครือข่ายให้คนยากจนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในแอฟริกาที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยมองว่าหากนำรูปแบบโครงการนั้นมาใช้พัฒนากับกลุ่มประเทศในอาเซียนก็จะเป็นที่น่าพึงพอใจเช่นเดียวกัน ซึ่งอินเดียและสิงคโปร์ก็กำลังขยายอินเทอร์เน็ตเข้าถึงคนรายได้น้อยเพื่อนำไปสู่พัฒนาประเทศ

@ ชี้ WTO ควรดูการค้าการลงทุนดิจิทัล

ด้าน Richard Bolwijn จาก Enterprise & Innovation Division, UNCTAD Geneva กล่าวถึงเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ที่มีผลต่อการลงทุนของโลก ว่า บริษัทดิจิทัลข้ามชาติต่างๆ ซึ่งทำงานต่างกันออกไปมีทรัพย์สิน “ที่มองไม่เห็นจำนวนมาก” เพื่อทำให้พวกเขาจ่ายภาษีน้อยลง โดยผลประโยชน์ดิจิทัลถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงาน
โดยดิจิทัลมีผลกระทบด้านการลงทุนโดยตรงอย่างบริษัทด้านสื่อสารมวลชน หรือบริษัทที่จำเป็นต้องใช้ดิจิทัลในการทำงานที่ถูกบังคับให้ใช้เทคโนโลยีขนาดสูง ทั้งนี้บริษัทต้องใช้เงินลงทุนที่มากขึ้น พนักงานหนึ่งคนต้องมีความสามารถหลายหลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ทุกประเทศมีนโยบายด้านดิจิทัลหมดเเล้ว แต่ในจำนวนนั้นกว่าครึ่งหนึ่งระบุถึงความจำเป็นทางการเงิน โดยส่วนน้อยที่จะระบุถึงการลงทุนทางดิจิทัล

Bolwijn กล่าวว่าต้องมีการพัฒนาที่มากขึ้น เพื่อสร้างสภาพเเวดล้อมเเละเครือข่ายผู้เข้าถึงสัญญาณ ทั้งนี้ส่วนใหญ่ยังคงลงทุนกับระบบดิจิทัลที่มีคุณภาพต่ำ


“ในส่วนนี้เป็นเรื่องของสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ต้องตัดสินใจเเละพิจารณากรณีการค้าดิจิทัล ซึ่งเปรียบได้เหมือนห่วงโซ่อาหารของโลก ไม่ใช่เเค่ปรับโครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัลหรือเทคโนโลยีเท่านั้น หากเเต่หมายถึงขอบเขตการลงทุนที่จะทำให้ดิจิทัลดีขึ้นได้จริงหรือไม่ด้วย” Richard Bolwijn กล่าว