โควิดดันเวลาทำงานที่บ้านทะลุ 44.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ภาพโดย Lukas Bieri จาก Pixabay

อะโดบี เปิดผลสำรวจคนทำงาน 7ภูมิภาคทั่วโลกช่วงโควิด พบเวิร์กฟรอมโฮม ทำคนเครียด ไม่มีเวลาส่วนตัว พนักงานบริษัททำงานเฉลี่ยพุ่ง 44.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนคน Gen Z มีแผนที่จะลาออกหลังจากโควิดคลี่คลายเพิ่มขึ้นทั่วโลก 

วันที่ 6 กันยายน 2564 นายท็อด เกอร์เบอร์  รองประธานฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ Adobe Document Cloud กล่าวว่า อะโดบี ได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง 5,500 คน ประกอบด้วยพนักงานบริษัท ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ใน 7 ภูมิภาคทั่วโลก โดยสอบถามเกี่ยวกับเวลาที่รู้สึกกดดันมากที่สุด และส่งผลกระทบกับชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้รับชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องเวลาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

WFH ทำงานทะลุ 44.9 ชม.ต่อวีก

จากผลการสำรวจ พบว่า การทำงานที่บ้านทำให้คนทั่วโลกรู้สึกกดดัน เครียด และเหนื่อยล้ามากขึ้น แม้การทำงานที่บ้านจะยืดหยุ่นในการทำงานได้ ซึ่งองค์กรก็มีความคาดหวังเพิ่มขึ้นว่าพนักงานจะต้องพร้อมทำงานอยู่เสมอ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวถูกหลอมรวมเป็นเส้นเดียวกันไปแล้ว

สำหรับหนึ่งในคำถามที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน คือ “ก่อนนี้เราเคยใช้เวลาราวสองชั่วโมงต่อวันเดินทางไป-กลับที่ทำงาน แต่ตอนนี้เมื่อเราทำงานที่บ้าน เราใช้เวลาดังกล่าวไปกับเรื่องใดบ้าง”

โดยคำตอบที่ได้คือ คนจำนวนมากใช้เวลาว่างที่เพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้น จากผลสำรวจอะโดบี พบว่า 49% ของพนักงานบริษัท และ 56% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระบุว่า ทุกวันนี้ใช้เวลาทำงานยาวนานกว่าเดิม โดยพนักงานบริษัททำงานโดยเฉลี่ย 44.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำงาน โดยเฉลี่ย 45.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าชั่วโมงทำงานปกติ


หมดไฟในการทำงาน 

ส่วนคำถามที่ว่า “พนักงานหรือผู้ประกอบการต้องพร้อมติดต่อได้เสมอ แม้กระทั่งหลังเวลาเลิกงาน” ทั้งนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของพนักงานบริษัท และ 3 ใน 5 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รู้สึกกดดันที่จะต้องตอบกลับอีเมล์ และแก้ปัญหาให้กับลูกค้าหลังเวลางาน

ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง และผู้ประกอบการ (ครอบคลุมผู้ตอบแบบสอบถามเฉพาะสหรัฐ และสหราชอาณาจักร) มีภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) กลายเป็นปัญหาที่พบมาก ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 1 ใน 3 ประสบกับปัญหาที่พนักงานรู้สึกเหนื่อยล้า และหมดไฟในการทำงาน เพราะความเครียดจากการทำงานในช่วงแพร่ระบาด

Gen Z มีแนวโน้มลาออกพุ่งทั่วโลก

นอกจากนี้พบว่า กลุ่มคน Gen Z คือแรงขับเคลื่อนหลักของกระแส “การลาออกครั้งใหญ่” จากผลสำรวจ ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่มีพนักงานลาออกเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว พนักงานในสหรัฐ กว่า 4 ล้านคนลาออกจากงาน (ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของสหรัฐ) และชัดเจนว่าแนวโน้มดังกล่าว จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง 

ยกตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัท 35% ระบุว่าตนเองมีแผนที่จะเปลี่ยนงานในปี 2565 และ 61% ของคนกลุ่มนี้ระบุถึงเหตุผลว่า เป็นเพราะต้องการที่จะออกแบบตารางเวลาชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น

ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงขึ้นสำหรับคนเพิ่งเริ่มทำงาน แม้ว่าคน Gen Z จะเพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่กว่าครึ่งหนึ่งมีแผนที่จะหางานใหม่ในปีหน้า นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้ยังระบุว่าพวกเขามีความพึงพอใจน้อยที่สุดกับ work-life balance 56% รวมถึงอาชีพการทำงานโดยรวม 59% และคนกลุ่มนี้รู้สึกกดดันมากที่สุดที่จะต้องทำงานในช่วงเวลาทำงานตามปกติ 62% 

มีเทคโนโลยีที่ดี จูงใจพนักงานได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพฤติกรรมการทำงานของพนักงาน ผู้ประกอบการจะมีความซับซ้อนมากขึ้น จากปัจจัยลบต่าง ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนจากผลสำรวจคือพนักงานมีความคาดหวังสูงขึ้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะช่วยให้พวกทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับงานง่าย ๆ เช่น การจัดการไฟล์ แบบฟอร์ม สัญญา การชำระเงิน และใบแจ้งหนี้ พนักงานต้องใช้เวลาราวหนึ่งในสามของชั่วโมงทำงานไปกับงานธุรการที่ต้องทำซ้ำ ๆ โดย 86% ของพนักงานบริษัท และ 83% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระบุว่างานปลีกย่อยเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่บั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงาน โดย 91% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความสนใจในเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานหรือกระบวนการต่าง ๆ เช่น Adobe Acrobat และ Adobe Sign ในอนาคต พนักงานจะต้องทำงานร่วมกันกับคนที่อยู่ในออฟฟิศ และคนที่ทำงานที่บ้าน

ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการปรับใช้เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย รวมไปถึงเทคโนโลยี AI และระบบอัตโนมัติ เพื่อรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้ทำงานกับองค์กรไปนาน ๆ