ส่องพฤติกรรมนักช็อปไทย เปลี่ยนไปแค่ไหน

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ย้อนไปในปี 2009 บริษัทญี่ปุ่น Rakuten เข้ามาซื้อกิจการ TARAD.com ของผม ในช่วงที่ทางญี่ปุ่นส่งผู้บริหารเข้ามานั่งทำงานกับผม เขาบอกว่าตอนนั้นคนญี่ปุ่นซื้อสินค้าต่าง ๆ ทางออนไลน์หมดแล้ว

10 กว่าปีที่แล้ว ผมยังไม่เข้าใจ เพราะในไทย ผู้ประกอบการยังไม่โดดมาในออนไลน์เท่าไร แต่ตอนนี้เวลาจะซื้ออะไร คนไทยหยิบมือถือขึ้นมาช็อป

เราห่างจากญี่ปุ่น 10 ปีจริง ๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ แต่เกิดจากการที่บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่วันนี้หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไป

แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก “สายช็อปเซฟ” กลุ่มนี้จะดูราคา ซื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะซื้ออะไรผมเชื่อว่าจะเกิดพฤติกรรมหนึ่ง คือหากรู้สึกต้องการซื้อสินค้าจะยังไม่ซื้อ แต่ใส่ไว้ในช็อปปิ้งคาร์ตก่อน รอช่วงที่มีการลดราคา

กลุ่มที่ 2 นักช็อปสายส่อง เป็นกลุ่มที่ชอบเปรียบเทียบก่อนค่อยตัดสินใจซื้อ ส่วนกลุ่ม 3 เป็นนักช็อปสายสบาย ๆ แม้แบบที่อยากได้หาไม่เจอก็ซื้อเลย กลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป และสุดท้าย คือสายช็อปเซียนล่ารางวัล ชอบเอ็นเตอร์เทนซื้อแล้วมีของแถมมีเล่นเกมได้แต้ม ที่ชอบเล่นกิจกรรม 40% เป็นเพศชาย

“ลาซาด้า” มีการวิเคราะห์ข้อมูลเช่นกันว่า พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป

1.ซื้อถี่ขึ้น และใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้น เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 70 นาที หรือชั่วโมงกว่า ๆ ความถี่ในการเข้ามาใช้เดือนละประมาณ 7 ครั้งต่อคน

2.นิยมซื้อเป็นเซต บางคนเรียกซื้อเป็น bulky เป็นแพ็กใหญ่ ๆ ยอดเฉลี่ยใช้จ่ายต่อครั้งของผู้บริโภคลดลง 30% ฉะนั้นการทำโปรโมชั่นลองทำเป็นเซต เป็นแพ็กมีโอกาสกระตุ้นคนที่อยากซื้อสินค้ามากขึ้น

3.ผู้หญิงยังครองแชมป์นักช็อปมากถึง 52% ที่นิยมซื้อเป็นพวกสกินแคร์ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ขณะที่ผู้ชายหันมาซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคคนไทยพัฒนาขึ้นมากด้วยปัจจัยหลัก ๆ คือ 1.โครงข่ายอินฟราสตรักเจอร์พัฒนาขึ้น ทั้งระบบขนส่ง และการชำระเงิน 2.การขายสินค้า

แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ พวก standard product ซื้อที่ไหนเหมือนกันหมด อีกกลุ่ม nonstandard หรือ custom made เป็นสินค้าเฉพาะ ไม่มีแบรนด์ สินค้ากลุ่มนี้ต้องอาศัยการให้ข้อมูล เพราะลูกค้าไม่รู้จักมาก่อน

4.พฤติกรรมคนไทยอยู่ที่ไหนก็ซื้อเริ่มมาแล้ว คนต่างจังหวัดนิยมซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น นิยมช็อปผ่านแอปพลิเคชั่นมากถึง 85% เมื่ออีคอมเมิร์ซเข้ามา ก็ซื้อสินค้าได้ทุกประเภท เห็นได้ชัดว่า กลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดกำลังโตมากขึ้น

ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจต้องกลับมาปรับกระบวนทัศน์ในการคิดหรือวางแผนกลยุทธ์ใหม่ ใครไม่เคยขายออนไลน์บอกได้เลยว่า เมื่อคุณเข้าสู่ออนไลน์จะพบว่าสัดส่วนยอดขายของลูกค้าต่างจังหวัดจะโตขึ้นเยอะมาก

5.อายุของนักช็อปออนไลน์จะเป็นกลุ่ม Gen Y เพิ่มขึ้น มากกว่า 70% เป็นกลุ่มที่เริ่มทำงาน มีกำลังซื้อ และคุ้นเคยกับดิจิทัลมากแล้ว

6.ตอนนี้คนมั่นใจในแบรนด์ที่มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ฉะนั้นคุณจะมีแบรนด์แล้วขายแค่ออฟไลน์อย่างเดียวไม่พอ

7.สินค้าที่ยอดฮิต และยังนิยมในปัจจุบัน เป็นสินค้าที่เกี่ยวกับโควิด-19 มีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 70%

8.สินค้าดิจิทัล คือพวกแพ็กเกจ โวเชอร์ คูปองต่าง ๆ แพ็กเกจตรวจสุขภาพโรงพยาบาลโตขึ้น

9.นักช็อปคาดหวังบริการ การจัดส่งมากขึ้น ปีที่ผ่านมานักช็อปในไทยใช้คูปองจัดส่งสินค้าฟรี 117 ล้านครั้งช่วยผู้บริโภคประหยัดเงินค่าขนส่งไป 350 ล้านบาท การส่งฟรีกระตุ้นให้คนตัดสินใจซื้อสินค้าง่ายมากขึ้น

นั่นคือเทรนด์แนวโน้มที่มาชัดแล้ว และผมบอกได้เลยว่า เทรนด์นี้จะเริ่มแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ หมวดหมู่สินค้าจะเริ่มขยายตัวออกไปในทุกกลุ่มมากขึ้น