“อีเว้นท์ป็อป” แท็กทีม “ซิงกะ” พลิกเกมออนไลน์อีเวนต์ข้ามชอตโควิด

ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการจัดอีเวนต์ครบวงจร ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อีเว้นท์ป็อป” (Eventpop) ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างมาก เพราะเมื่อไม่มีอีเวนต์ก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีงานทำให้ในปีที่ผ่านมาต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อหาน่านน้ำใหม่ ๆ ซึ่งกว่าที่จะรอดมาได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

กระทั่งกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซิงกะ (SYNQA) ฟินเทคสัญชาติไทย บริษัทแม่ “โอมิเซะ” ผู้ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์ ประกาศความร่วมมือทางธุรกิจกับ “อีเว้นท์ป็อป” จังหวะก้าวจากนี้จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเว้นท์ป็อป โฮลดิ้ง จำกัด ถึงที่มาที่ไปของความร่วมมือและเป้าหมายนับจากนี้

Q : ดีลนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ต้องบอกว่าที่ผ่านมาเรากับซิงกะมีประสบการณ์การทำงานร่วมกันมาก่อน จริง ๆ อีเว้นท์ป็อปถือเป็นลูกค้ารายแรก ๆ ของซิงกะ และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แม้จะอยู่คนละอุตสาหกรรม

หลังจากนั้นก็มีโปรเจ็กต์ร่วมกันมาเรื่อย ๆ เริ่มพูดคุยกันมาสักระยะก่อนที่จะตัดสินใจมาเป็นพาร์ตเนอร์กัน โดยมีเป้าหมายที่จะใช้จุดแข็งของทั้งอีเว้นท์ป็อปและซิงกะมาต่อยอดจากบริการเดิม เพื่อสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้น

Q : รูปแบบความร่วมมือ

เราอยู่ระหว่างการวางแผนงานร่วมกันในหลาย ๆ ส่วน และกำลังเปิดรับทีมงานเพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจขยายมากขึ้น

โดยหนึ่งในความร่วมมือที่เกิดขึ้นคือ จะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกันมากขึ้น โดยอีเว้นท์ป็อปยังเดินหน้าพัฒนาโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องธุรกิจอีเวนต์ มีการนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือซิงกะ

คือ โอมิเซะ มาเชื่อมต่อ และต่อยอดธุรกิจเดิมของอีเว้นท์ป็อป เพื่อสนับสนุนผู้จัดงานอีเวนต์ คาดว่าต้นปี 2565 จะเริ่มเห็นเครื่องมือและโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่พัฒนาร่วมกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่ธุรกิจอีเวนต์โดยรวมฟื้นกลับมาได้ระดับหนึ่งแล้ว

ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เราร่วมกับโอมิเซะ พัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อเอสิโม่ (Esimo) เป็นแพลตฟอร์มที่

พัฒนาขึ้นเพื่อให้ร้านค้าและแบรนด์ต่าง ๆ ที่ไม่มีทีมพัฒนาระบบของตนเอง ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี สร้างเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ และค้าขายออนไลน์เองได้ เป็นการช่วยผู้ประกอบการ แบรนด์สินค้า เจ้าของธุรกิจต่าง ๆ

ทั้งรายใหญ่และรายย่อยให้จัดการทุกส่วนของการจำหน่ายสินค้า บริการออนไลน์ได้เอง ตั้งแต่สร้างหน้าเว็บไซต์ บริหารการขายแต่ละวัน และการโปรโมตธุรกิจ

Q : โครงสร้างการบริหาร

โครงสร้างภายในอีเว้นท์ป็อปที่ผ่านมามีการปรับเรื่อย ๆ มีการรับทีมงานเพิ่ม แต่หลังจากนี้อาจต้องมีการปรับกระบวนการทำงานภายในให้เหมาะสมมากขึ้น รวมถึงการเน้นไปในเรื่องการหาโซลูชั่น หรือผลิตภัณฑ์ที่ภายในกลุ่มมีอยู่แล้วนำมาต่อยอดกับธุรกิจอีเวนต์

แต่ในเชิงของการบริหารยังเหมือนเดิม ฝั่งอีเว้นท์ป็อปทีมเดิมยังดูแลอยู่ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง

Q : โอกาสใหม่หรือบริการใหม่ ๆ

เมื่อบริษัทโซลูชั่นอีเวนต์รวมเข้ากับธุรกิจฟินเทค หลายคนก็คาดหวังว่าน่าจะเกิดบริการใหม่ ๆ แต่ ณ สถานการณ์ตอนนี้คงพูดยาก เพราะอุตสาหกรรมอีเวนต์ยังไม่ฟื้น ซึ่งมีการคาดกันว่าน่าจะเริ่มกลับมาได้ในช่วงต้นปี 2565

ความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นการเตรียมตัวที่จะรองรับการกลับมาของอุตสาหกรรมอีเวนต์ในปีหน้า

ถ้าอีเวนต์กลับมาจัดออฟไลน์ได้เหมือนต่างประเทศ ก็จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้แน่นอน เพราะสุดท้าย ถ้ากลับมาจัดอีเวนต์ได้ โควิดกลายเป็นไวรัสที่เราไม่ได้กลัวเหมือนตอนนี้ บางประเทศวันนี้ไม่ได้กลัวโควิดแล้ว เพราะทุกคนมีวัคซีนป้องกัน โควิดกลายเป็นปัจจัยรอง ๆ ในการตัดสินใจว่าจะจัดหรือไม่จัดงาน

Q : สถานการณ์ในไทย

การจัดงานอีเวนต์ของไทยยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการกระจายวัคซีน และการควบคุมโรค แม้ภาครัฐจะปลดล็อกให้สามารถจัดงานอีเวนต์ได้ แต่นโยบายการจัดอีเวนต์ก็มีความซับซ้อนมากขึ้น

คือจัดได้แต่ผู้จัดงานต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ด้วยว่าการจัดแบบไหนทำได้ ทำไม่ได้ ตนมองว่าตรงนี้ต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้จัดงานตัดสินใจ

ทำให้การจัดอีเวนต์ในช่วงหลังโควิดจะเพิ่มความยากขึ้นไปอีก ในมุมของผู้จัดก็อยากจัด และพร้อมกลับมาจัดงานอยู่แล้ว แต่ต้องประเมินอีกว่าในมุมของผู้บริโภคยังอยากเข้าร่วมงานอีเวนต์หรือไม่

ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นจากมาตรการควบคุมโรค ตอนนี้รัฐบาลให้เปิดร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าได้ ผู้ประกอบการอีเวนต์ก็มีความหวังว่า ไตรมาส 4 จะอนุญาตให้กลับมาจัดอีเวนต์ได้ หรืออย่างช้าที่สุดต้นปี 2565 ทุกอย่างน่าจะกลับมา ทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจนี้

หากปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว ธุรกิจอีเวนต์ก็จะฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น ซึ่งก็ต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง เพราะธุรกิจอีเวนต์เป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่จะได้รับการใส่ใจและเยียวยา

Q : ยังโฟกัสธุรกิจเดิม

ใช่ครับ โควิดทำให้ผู้ประกอบการอีเวนต์ต้องปรับตัว อีเว้นท์ป็อปก็ต้องปรับมาเน้นการจัดเวอร์ชวลอีเวนต์ และเวอร์ชวลรัน (virtual run) ทำระบบขึ้นมาเกี่ยวกับการวิ่ง โดยนักวิ่งสามารถวิ่งในเวลาใดก็ได้ในเส้นทางที่กำหนดเอง

เราพยายามรักษาการเติบโตและอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม ด้วยการโฟกัสที่สองธุรกิจหลักนี้ก่อน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น มีโอกาสใหม่ ๆ ค่อยเดินหน้าต่อ ระหว่างนี้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับซิงกะ

ถือเป็นการทำทุกอย่างใส่กล่องให้ชัดเจนไว้ก่อนว่าอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มอยู่ตรงนี้ อีเวนต์อยู่ตรงนี้ ถ้าทุกอย่างพร้อมก็เดินหน้าได้ทันที

สำหรับทิศทางในปีหน้า คาดว่าผลจากความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้อีเว้นท์ป็อปแข็งแรงขึ้น และเดินได้ไกลกว่าเดิม

การมีซิงกะเข้ามาก็เหมือนเป็นพี่ใหญ่ที่เข้ามาซัพพอร์ต เพิ่มความสามารถในธุรกิจเดิมที่มี

Q : โอกาสสตาร์ตอัพไทยยังมี

โควิดทำให้สตาร์ตอัพไทยบางธุรกิจแผ่วลง แต่ก็มีหลายรายที่เติบโตจนมีดีลใหญ่ ๆ โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ การเงิน Construction tech ที่ตอบโจทย์ด้านการฟื้นฟู โครงสร้างเศรษฐกิจ

ซึ่งกลุ่มนี้จะมีนักลงทุนสนใจเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นกลุ่มอีเวนต์จะหานักลงทุนยาก เพราะธุรกิจอีเวนต์ก็ยังไม่ฟื้น

โควิดส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ แม้แต่สตาร์ตอัพตัวท็อป ๆ ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ขยายตัวขึ้นจากพฤติกรรมคนที่สั่งสินค้าออนไลน์แต่ก็มีปัญหาเรื่องการขนส่ง เป็นต้น เชื่อว่าทุกธุรกิจก็มีการปรับตัวต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโต

ในกลุ่มสตาร์ตอัพอยู่ระหว่างการระดมทุนเพิ่มเติม คาดว่าในช่วงปลายปีอาจมีดีลใหญ่อีกดีล แต่หากพิจารณาในมุมของนักลงทุนช่วงนี้ มีทั้งกลุ่มที่มองหาดีลใหม่ ๆ และบางส่วนชะลอการลงทุน เพราะยังไม่เชื่อมั่นและรอให้สถานการณ์ดีขึ้น