เปิดรายงานข้อมูลเชิงลึก 3 ปี คนไทยคุยอะไรกันบนทวิตเตอร์

ทวิตเตอร์
FILE PHOTO : Lionel BONAVENTURE / AFP

ทวิตเตอร์ เปิดรายงานข้อมูลเชิงลึก 3 ปี พบ 6 บทสนทนาที่คนไทยพูดถึงมากที่สุด พร้อมแนะให้แบรนด์ นักการตลาดร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับบทสนทนาของผู้บริโภค เพื่อให้สามารถเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น

วันที่ 12 กันยายน 2564 นายมาร์ติน ยูเรน หัวหน้าแผนกงานวิจัย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลกของทวิตเตอร์ กล่าวว่า ทวิตเตอร์ได้จัดทำรายงานข้อมูลเชิงลึก Thailand TwitterTrends Report ด้วยการเก็บข้อมูลจากบทสนทนาบนทวิตเตอร์เชิงลึกระหว่างเดือนกรกฎาคม 2561 ถึงเดือนมิถุนายน 2564

ผลจากการศึกษา พบว่า มี 6 กลุ่มหัวข้อสนทนาที่กำลังเป็นที่นิยมและกำหนดทิศทางอนาคต คือ Wellbeing, Creator Culture, Everyday Wonder, One Planet, Tech Life และ My Identity  โดยข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้มีประโยชน์กับนักการตลาดและแบรนด์ต่างๆ ที่กำลังมองหาวิธีเอ็นเกจและสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายได้ดีขี้น

สำหรับบทสนทนาแรก คือ Wellbeing โดยชาวทวิตภพจะไม่ปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพเดิมๆ และ ปล่อยชีวิตให้ผ่านไป แบบง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว บทสนทนาเกี่ยวกับ Wellbeing หรือ การมีชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น 16% แสดงให้เห็นว่าหัวข้อนี้แสดงถึงการที่คนไทยกำลังให้ความสำคัญในเรื่องของการเชื่อมต่อระหว่างสุขภาพกายและสุขภาพใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจิตที่เป็นเรื่องที่ชาวทวิตภพให้ความสำคัญมากขึ้น และได้มีการพูดถึงโดยทั่วไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น

นอกจากนี้คนไทยกำลังเปลี่ยนหัวข้อการพูดคุยจากเรื่องของการอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก และการออกกำลังกายแบบยกเวท มาเป็นการพูดคุยในหัวข้อที่เกี่ยวกับสุขภาพองค์รวม การมองร่างกายของตัวเองในเชิงบวกและการค้นหาตัวเอง ในขณะเดียวกันพวกเขาก็แบ่งปันคำปรึกษาและให้กำลังใจผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน

สิ่งที่แบรนด์ต้องทำ คือ ต้องแสดงให้เห็นว่าแบรนด์มีมุมมองเรื่อง Wellbeing อย่างไร และแบ่งปันเรื่องราวอย่างเปิดเผยว่าแบรนด์ได้ใส่ใจดำเนินการในเรื่องของ Wellbeing กับพนักงานในบริษัทอย่างไรบ้าง โดย#ความเครียด, #mentalhealth, #สุขภาพ, #ออกกำลังกาย และ #healthy เป็นแฮชแท็กที่ได้รับความนิยม ที่แบรนด์สามารถใช้ เพื่อเข้าไปร่วมพูดคุยในบทสนทนาได้

บทสนทนาที่ 2 คือ Creator Culture โดยวัฒนธรรมของครีเอเตอร์มีการเติบโตมากขึ้นบนทวิตเตอร์ไทย ตั้งแต่ครีเอเตอร์หน้าใหม่ไปจนถึงครีเอเตอร์มืออาชีพที่มากประสบการณ์ เช่น การโปรโมทเกมต่างๆ และการสร้างรายได้จากการสตรีมเกม เป็นต้น

สิ่งที่แบรนด์ต้องทำคือ  การสนับสนุนและให้คุณค่าในความคิดสร้างสรรค์ แบรนด์ควรให้ความสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ มอบเครื่องมือต่างๆ สร้างโอกาส ซึ่งแบรนด์สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหล่าครีเอเตอร์ได้ด้วยการมองพวกเขาว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคอนเซปต์และมีทักษะฝีมือ ไม่ใช่มองว่าพวกเขาคืออินฟลูเอนเซอร์

แฮชแท็กที่ได้รับความนิยม ที่แบรนด์สามารถใช้เพื่อเข้าไปร่วมพูดคุยในบทสนทนาได้ เช่น  #โบ๊ะบ๊ะแฟมิลี่, #gamerboys, #ร้านกาแฟ, #คาเฟ่, และ #แอพแต่งรูป

ส่วนที่ 3. Everyday Wonder คนไทยกำลังแสดงออกถึงแพสชั่นบนโลกรอบตัวหรือไกลกว่านั้น โดยค้นพบวิธีที่จะรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันและยังมีความหวัง รวมถึงมีมุมมองในแง่บวกเกี่ยวกับอนาคต จึงทำให้มีบทสนทนาเกี่ยวกับ Everyday Wonder หรือ สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเพิ่มขึ้น 45%

ในส่วนของการทำนายทายทัก การดูดวง สายมู และข้อความที่ให้กำลังใจทั้งหลาย ช่วยให้คนไทยปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกใบนี้ บทสนทนาที่เกี่ยวกับด้านจิตวิญญาณในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น 10% ส่วนทวีตที่เกี่ยวกับการดูดวงออนไลน์เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับบทสนทนาที่เกี่ยวกับแรงบันดาลใจและการมองโลกในแง่บวก

สิ่งที่แบรนด์ ต้องทำ คือกับบทสนทนาในหัวข้อนี้ คือ การเข้าร่วมสร้างบทสนทนาที่ช่วยสร้างความสุข ทำให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถหลีกหนีจากโลกความจริงได้ตามความต้องการ เช่น การช่วยบรรเทาให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายด้วยทวีตที่มีอารมณ์ขัน ความสนุกสนาน และความหวัง

โดยแฮชแท็กเด่นที่แบรนด์สามารถใช้เพื่อเข้าไปร่วมวงสนทนาได้ เช่น #การ์ตูน, #anime, #cosplay, #ดูดวง และ #ดวงรายวัน เป็นต้น

บทสนทนาที่4 คือ One Planet โดยเป็นเทรนด์บทสนทนาที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดบนทวิตเตอร์ประเทศไทย สูงถึง 191% เนื่องจากบทสนทนาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน กลายเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสหลัก คนไทยเริ่มใส่ใจ ขวนขวายหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เช่น เรื่องภาวะโลกร้อน และความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร

ดังนั้นนสิ่งที่แบรนด์ต้องทำ  คือ  การเป็นผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์และคอนเซปต์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน โดยการสร้างความน่าเชื่อถือและแบ่งปันความก้าวหน้าและความโปร่งใสในการพัฒนาความยั่งยืนดังกล่าว สำหรับแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนี้ เช่น #earthday, #ถุงผ้า, #recycle และ #greenerychallenge เป็นต้น

สำหรับบทสนทนาสุดท้ายคือ  Tech Life ถือเป็นหัวข้อที่มีการพูดคุยสม่ำเสมอบนทวิตเตอร์ประเทศไทย โดยเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ผลักดันให้คนไทยก้าวไปข้างหน้าตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สะท้อนได้จากบทสนทนาที่เกี่ยวกับชีวิตด้านเทคโนโลยีบนทวิตเตอร์ประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น 31%  แบ่งเป็น 3 เทรนด์  คือ ชีวิตแบบดิจิทัลของฉัน ใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยี และการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสิ่งดีๆ

อย่างไรก็ตามจากบทสนทนาหัวข้อนี้ สิ่งที่แบรนด์ต้องทำ เพื่อเข้าไปอยู่ในบทสนทนานี้ คือ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เหนือคู่แข่ง แต่ก็ควรโฟกัสในสิ่งที่บริษัททำได้ดีที่สุดและให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด เนื่องจากทุกสิ่ง คือโอกาสในการสร้างความประหลาดใจและสร้างความสุขให้กับลูกค้าได้เสมอ

ขณะเดียวกันก็ควรปรับปรุงประสิทธิภาพและปรับปรุงการมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้าด้วยการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน โดยแฮชแท็กส่วนหนึ่งที่ได้รับความนิยม ที่แบรนด์สามารถนำไปใช้เพื่อสร้างบทสนทนาได้ เช่น #ai, #ลำโพงบลูทูธ, #หูฟังไร้สาย, และ #เรียนออนไลน์  เป็นต้น

ปิดท้ายด้วยบทสนทนาสุดท้าย My Identity โดยคนไทยมีความมั่นใจมากขึ้นและสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง บทสนทนาที่เกี่ยวกับ My Identity หรืออัตลักษณ์ของตนเอง จึงเติบโตขึ้น 72%

ทั้งนี้แบรนด์สามารถเชื่อมต่อระหว่างผู้คนสามารถสร้างขึ้นได้จากการแบ่งปันความสนใจและให้คุณค่าต่างๆ ร่วมกัน โดยแบรนด์จำเป็นต้องพิจารณาถึงพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมายในแง่ที่ว่าพวกเขาชอบทำอะไร อยากเห็นอะไร ชอบทานอะไร ชอบฟังและชอบเล่นอะไร มากกว่าจะไปค้นหาว่าพวกเขาอาศัยอยู่ที่ไหน อายุเท่าไหร่ ทำอาชีพอะไร ซึ่งเป็นก้าวแรกที่แบรนด์สามารถเพิ่มความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมร่วมกับกลุ่มเป้าหมายได้

ตัวอย่างแฮชแท็กบางส่วนที่ได้รับความนิยมสูง ซึ่งแบรนด์สามารถเริ่มเข้าไปร่วมบทสนทนากับกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น #เป็กผลิตโชค, #bbrightvc, #lisa, #LGBTQ และ #MissUniverse