เปิดรายงานสรรหา7 “กสทช.” กว่าจะเป็นตัวจริง-ใครลงคะแนนให้ใคร

เปิดรายงานคณะกรรมการสรรหา “กสทช.” ชุดใหม่ ใครโหวตให้ใครบ้าง-กว่าจะเป็นตัวจริง “7 (ว่าที่) กสทช.ใครได้คะแนนเท่าไร” ขณะที่ ส.ว.รอ “กมธ.ตรวจประวัติ” มั่นใจสมัยประชุมหน้าได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการคัดเลือก กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้จัดทำรายงานการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ของคณะกรรมการสรรหา กสทช.

ใครเป็นใคร กรรมการสรรหา

สำหรับคณะกรรมการสรรหา กรรมการ กสทช. มี 7 คน ประกอบด้วย 1.นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล ประธานคณะกรรมการสรรหา 2.นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต รองประธานกรรมการสรรหา3.นายนภดล เทพพิทักษ์

4.นายณรงค์ รัฐอมฤต 5.นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ กรรมการสรรหา 6.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ และ 7.นายวิษณุ วรัญญู เลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา

ในรายงานระบุว่า หลังคณะกรรมการสรรหาเปิดให้ผู้สมัครทั้ง 78 คน แสดงวิสัยทัศน์แล้ว (ไม่มา 1 คน) ได้มีการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเมื่อ 4 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ผลจากการลงคะแนนดังนี้

กิจการกระจายเสียงพลิกรอบ 2

ด้านกิจการกระจายเสียง มีผู้สมัคร 12 คน มีการลงคะแนน 2 รอบ ในรอบแรก มีผู้ได้รับคะแนน ดังนี้ 1.นางอรษา มุขเตียร์ เปอร์ดี้ ได้ 3 คะแนน (จากนายเกียรติพงศ์, นายเศรษฐพุฒิ และนายวิษณุ)

และ 2.พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ได้ 4 คะแนน (จากนายสมศักดิ์,นายนภดล, นายณรงค์ และนางยุพิน) เท่ากับไม่มีผู้ใดได้คะแนน 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา กรรมการ กสทช.จึงคัดเลือกรอบที่ 2

ในรอบที่ 2 ปรากฏว่า นางอรษา มุขเตียร์ เปอร์ดี้ ได้ 2 คะแนน (จากนายเศรษฐพุฒิ และนายวิษณุ) ขณะที่พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ได้ 5 คะแนน จึงเป็นผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการ กสทช.ด้านที่ 1 ด้านกิจการกระจายเสียง

“ดร.พิรงรอง” คะแนนนำทุกรอบ

ด้านกิจการโทรทัศน์ มีผู้สมัคร 11 คน ลงคะแนน 3 รอบ โดยรอบที่ 1 มีผู้ได้รับคะแนน 3 คน 1.ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร ได้ 2 คะแนน (จากนายนภดล และนางยุพิน) 2.ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต ได้ 4 คะแนน

(จากนายเกียรติพงศ์, นายสมศักดิ์, นายเศรษฐพุฒิ และนายวิษณุ) และ 3.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้ 1 คะแนน (จากนายณรงค์)

เมื่อไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนน 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงเลือกรอบที่ 2 ซึ่งผลคะแนนเป็นไปเช่นเดียวกับรอบแรก จึงเลือกรอบ 3 มีผู้ได้คะแนน 2 คน คือ ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร ได้ 2 คะแนน

(จากนายนภดล และนางยุพิน)และศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต ได้ 5 คะแนน (จากนายเกียรติพงศ์, นายสมศักดิ์, นายณรงค์, นายเศรษฐพุฒิ และนายวิษณุ) จึงเป็นผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการ กสทช.ด้านที่ 2 ด้านกิจการโทรทัศน์

“กิตติศักดิ์” พลิกชนะรอบ 3

สำหรับด้านกิจการโทรคมนาคม มีผู้สมัคร 13 คน ลงคะแนนถึง 3 รอบ โดยในรอบแรกมีผู้ได้คะแนนถึง 5 คน ได้แก่ 1.ดร.อานนท์ ทับเที่ยง ได้ 2 คะแนน (จากนายสมศักดิ์ และนายณรงค์) 2.รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ 1 คะแนน (จากนายวิษณุ)

3.นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ ได้ 2 คะแนน (จากนายนภดล และนายเศรษฐพุฒิ) 4.นายวันชัย ผโลทัยถเกิง ได้ 1 คะแนน (จากนายเกียรติพงศ์) และ 5.ศาสตราจารย์อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร ได้ 1 คะแนน (จากนางยุพิน)

ในรอบแรกไม่มีผู้ใดได้คะแนน 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดจึงเลือกรอบที่ 2 แต่ได้คะแนนรอบที่ 1 จึงต้องมีรอบที่ 3 ปรากฏว่า รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ 1 คะแนน (จากนายวิษณุ) และนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ ได้ทั้ง 6 คะแนน จึงเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการด้านที่ 3 ด้านกิจการโทรคมนาคม

“นพ.สรณ” พลิกโหวตเข้าวิน

ส่วนด้านคุ้มครองผู้บริโภค มีผู้สมัคร 11 คน โดยรอบที่ 1 คือ 1.พลตำรวจเอกดร.ณัฐธร เพราะสุนทร ได้ 4 คะแนน (จากนายเกียรติพงศ์, นายสมศักดิ์, นายณรงค์ และนายเศรษฐพุฒิ)

และ 2.ศ.คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ได้ 3 คะแนน (จากนายนภดล, นางยุพิน และนายวิษณุ)

เมื่อไม่มีผู้ใดได้คะแนน 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงเลือกรอบที่ 2 ปรากฏว่า คะแนนพลิกเป็น 1 ต่อ 6 โดยพลตำรวจเอก ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร ได้ 1 คะแนน (จากนายสมศักดิ์)

และคณะกรรมการสรรหาอีก 6 คน ลงคะแนนให้ ศ.คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ จึงเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการด้านที่ 4 ด้านคุ้มครองผู้บริโภค

“ต่อพงศ์” กวาด 7 เสียง

ด้านที่ 5 ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีผู้สมัคร 13 คน ลงคะแนน 2 รอบ โดยรอบแรกมีผู้ได้คะแนนถึง 4 คน ได้แก่ 1.พลเรือเอก ประสาน สุขเกษตร ได้ 1 คะแนน (จากนายเกียรติพงศ์) 2.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ได้ 3 คะแนน (จากนายสมศักดิ์,

นายเศรษฐพุฒิ และนายวิษณุ) 3.พลเอก รศ.(คลินิก) นายแพทย์สายัณห์ สวัสดิ์ศรี ได้ 2 คะแนน (จากนายนภดล และนางยุพิน) และ 4.นายวิทยา สุริยวงศ์ ได้ 1 คะแนน (จากนายณรงค์)

เมื่อไม่มีผู้ใดได้คะแนน 2 ใน 3 ของทั้งหมด จึงเลือกรอบที่ 2 ปรากฏว่า นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ได้ไป 7 คะแนน จึงเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการด้านที่ 5 ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ด้าน กม.เฉือนกันสูสี

ด้านที่ 6 ด้านอื่น ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ก) ด้านกฎหมาย มีผู้สมัคร 12 คน โดยรอบที่ 1 มีผู้ได้คะแนน 2 คน คือ ร้อยโท ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ

ได้ 4 คะแนน (จากนายเกียรติพงศ์, นายสมศักดิ์, นายณรงค์ และนายวิษณุ) และ 2.นายจิตรนรา นวรัตน์ ได้ 3 คะแนน (จากนายเศรษฐพุฒิ, นายนภดล และนางยุพิน)

เมื่อไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด จึงเลือกรอบที่ 2 ปรากฏว่า ร้อยโท ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ ได้ 5 คะแนน (จากนายเกียรติพงศ์, นายสมศักดิ์, นายณรงค์, นายวิษณุ และนายเศรษฐพุฒิ) ส่วนนายจิตรนรา นวรัตน์ ได้ 2 คะแนน (จากนายนภดล และนางยุพิน) จึงถือว่า ร้อยโทดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการด้านที่ 6 ด้านอื่น ๆ (ก) ด้านกฎหมาย

“เศรษฐศาสตร์” โหวตม้วนเดียว

ด้านที่ 6 ด้านอื่น ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์ มีการลงคะแนนเพียง 1 รอบเท่านั้น เนื่องจากรองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ได้รับการโหวตไปทั้งหมด 6 คะแนน

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภักดี มะนะเวศ ได้ 1 คะแนน (จากนายณรงค์) จึงถือว่ารองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการด้านที่ 6 ด้านอื่น ๆ (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์

ตั้ง กมธ.ตรวจคุณสมบัติ 60 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อ 7 ว่าที่บอร์ด กสทช. ให้วุฒิสภาแล้ว ที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 15 คน เพื่อตรวจสอบประวัติ

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติว่าที่บอร์ด กสทช. กล่าวว่า สมัยประชุมนี้จะปิดในวันที่ 18 ก.ย.

และเปิดสมัยประชุมใหม่ วันที่ 1 พ.ย. โดยเท่าที่หารือใน กมธ. “ต้องตรวจสอบให้เสร็จใน 60 วัน เว้นแต่ตรวจสอบไปแล้วพบพฤติกรรมพิเศษที่จำเป็นต้องตรวจสอบให้มากขึ้น อาจขยายเวลาไม่เกิน30 วัน ตามข้อบังคับ

เตรียมโหวตสมัยประชุมสภาหน้า

จากการหารือในที่ประชุมนัดแรก (14 ก.ย.) เห็นว่าการแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ เนิ่นนานมาตั้งแต่ยุค คสช. และ กสทช.ชุดรักษาการมีมาหลายปีควรมี กสทช.ตัวจริง ดังนั้น กมธ.ชุดนี้จะดำเนินการให้เรียบร้อยใน 60 วันให้ได้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างปิดสมัยประชุมยังมีเวลาอีกเดือนครึ่งจึงน่าจะมีความคืบหน้า และเสร็จทันสมัยประชุมหน้า

ส่วนกระบวนการโหวต โดยหลักการวุฒิสภาจะใช้วิธีลงคะแนน โดยผู้รับเลือกต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด เพื่อเสนอชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกต่อให้นายกรัฐมนตรี คาดว่าจะได้เห็นโฉมหน้าบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ในปีนี้