เปิดแนวรบธุรกิจหลังโควิด ดึงเทคโนโลยี AI-คลาวด์ หนุนการเติบโต

โควิดเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ มิติ ล่าสุด คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. ได้ทำวิจัยขึ้นภายใต้โครงการ Thailand Digital Outlook

เพื่อแสดงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ให้ภาคธุรกิจ รัฐบาล นำข้อมูลนี้ไปต่อยอดและวางแผนธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา” เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. กล่าวว่า สดช.ได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัย Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 ขึ้น

ตามแนวทาง Measuring the Digital Transformation และ Digital Economy Outlook ของ The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) เพื่อให้ภาครัฐ และเอกชนนำผลการศึกษามาวิเคราะห์และใช้เป็นแนวทางในการวางแผนสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจได้

คนไทยใช้เน็ตพุ่ง 6-10 ชม./วัน

“ดร.ทวิชา ตระกูลยิ่งยง” ที่ปรึกษาโครงการ Thailand Digital Outlook กล่าวว่า หลักเกณฑ์การศึกษาแบ่งออกเป็นหลายมิติ ทั้งด้านพฤติกรรม การตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตในภาคประชาชน การใช้ช่องทางออนไลน์ ทั้งในองค์กรธุรกิจเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ

โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 77 จังหวัด แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคประชาชน จำนวน 39,145 ตัวอย่าง ภาคธุรกิจเอกชน จำนวน 3,381 ตัวอย่าง และหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการปฐมภูมิแก่ประชาชน จำนวน 935 ตัวอย่าง เก็บข้อมูลเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ปี 2564

ผลศึกษาพบว่า ปีนี้ภาคประชาชนมีสัดส่วนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มเป็น 85.1% จากปีก่อนอยู่ที่ 67.7% โดยใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 6-10 ชม.ต่อวัน ขณะที่ 5 กิจกรรมแรก ได้แก่ ทำงาน 75.2% เรียนออนไลน์ 71.1% ซื้อขายสินค้าออนไลน์ 67.4% แชต 65.1% และธุรกรรมการเงิน 54.7%

ขาช็อป ซื้อสินค้าจำเป็นพุ่ง

หากเจาะรายละเอียดเฉพาะการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์พบว่า คนไทยซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น 76.6% จากปีก่อนอยู่ที่ 37.7% โดยสินค้าที่นิยมซื้อ 3 อันดับ คือ สั่งอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และยารักษาโรค ซึ่งต่างจากปีก่อนที่คนไทยนิยมซื้อ สินค้าแฟชั่น บริการสั่งอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้ เทียบประเภทสินค้าบริการออนไลน์ที่มีความนิยมลดลง ระหว่างช่วงก่อนโควิด (ก.ย.-พ.ย. 63) และหลังโควิด (ธ.ค. 63-ก.ค. 64) พบว่า เครื่องสำอางอยู่ที่ 19.4% เสื้อผ้า รองเท้ากีฬา

และเครื่องประดับ 19.7% และซื้อตั๋วหนัง คอนเสิร์ต อยู่ที่ 3.3% จากช่วงก่อนโควิดเครื่องสำอางอยู่ที่ 68.2% เสื้อผ้า รองเท้ากีฬา และเครื่องประดับ 36.7% และซื้อตั๋วหนัง คอนเสิร์ต อยู่ที่ 19.2%

ขณะที่รูปแบบการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง/โมบายแบงกิ้ง มีสัดส่วนที่สูงขึ้น อยู่ที่ 61.3% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 50.1% และการจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็สูงขึ้น อยู่ที่ 36.9% จากปีก่อนอยู่ที่ 27.5%

เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเรื่องของสุขภาพอนามัย ในส่วนของการชำระเงินสด หรือเก็บเงินปลายทาง มีแนวโน้มลดลงเหลือ 25.1% จากปีก่อนอยู่ที่ 45.6%

ธุรกิจพลิกขายออนไลน์

สำหรับภาคเอกชน พบว่า 98.4% ของผู้ประกอบการมีการใช้อินเทอร์เน็ต และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็หันมาขายสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น มีสัดส่วนถึง 73.9% เมื่อเทียบกับปี 2563 อยู่ที่ 29.9%

โดยกลุ่มที่มีการปรับตัวสูงสุด คือ ธุรกิจการเกษตร เพิ่มขึ้น 54.6% ธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 27.9% และอาหาร เครื่องดื่ม 27.4%

หากแบ่งย่อยรายละเอียดพบว่า บริษัทขนาดใหญ่มีการปรับตัวออนไลน์สัดส่วนสูงถึง 91.8% และรายย่อยปรับตัวสูงถึง 89.4% ส่วนขนาดกลางอยู่ที่ 65.7% และบริษัทขนาดย่อยอยู่ที่ 69.2%

ช่องทางออนไลน์ที่ผู้ประกอบการนิยม ได้แก่ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย 71.2% อีมาร์เก็ตเพลซ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ เป็นต้น 54.7% และ e-Tailer เช่น เซ็นทรัลออนไลน์ เทสโก้ออนไลน์ เป็นต้น 36.2% ซึ่งสวนทางกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมใช้แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซ 82.3% โซเชียลมีเดีย 78.6% และเว็บไซต์เจ้าของสินค้า 35.7%

จากผลศึกษาระบุว่า ผู้ประกอบการไทยน้อยกว่า 10% ที่มีการขายสินค้าระหว่างประเทศในรูปแบบออนไลน์ (cross border) โดยกลุ่มนี้เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มที่ขายข้ามพรมแดน 3 กลุ่มแรก ๆ คือ แฟชั่น สินค้าเกษตร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยก็นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจมากขึ้น โดยนำคลาวด์เข้ามาใช้ถึง 70.3% ทั้งจัดการระบบอีเมล์ จัดเก็บไฟล์ และรองรับระบบแอปพลิเคชั่นของสำนักงาน

และใช้ data analytic ถึง 61.5% ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพิ่มยอดขายและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ตามด้วยการใช้ AI ถึง 41% ด้านบริการลูกค้าสัมพันธ์ ด้านความปลอดภัย เช่น การยืนยันตัวตน เป็นต้น

ส่วนเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ มีเพียง 33.9% ในด้านการผลิต การบริการ และความปลอดภัย เช่น หุ่นยนต์ตรวจอุณหภูมิ เป็นต้น

“รูปแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์อาจจะเกิดขึ้นไม่มาก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายส่วน ทั้งต้นทุนสูง และใช้งานเฉพาะเจาะจง เช่น อุตสาหกรรมผลิต ด้านการบริการ เป็นต้น แต่การใช้ AI ถือว่ามีการเติบโตที่ดี ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศในหลาย ๆ ด้าน”