ระเบิดศึกโค้งท้ายเน็ตบ้าน NT ดัมพ์ราคาชิงแชร์ตลาด

อานิสงส์โควิดดันเน็ตบ้านโตไม่หยุด ทุกค่ายเร่งเกมปั๊มส่วนแบ่งตลาดไม่ยั้ง “เอ็นที” กัดฟันดัมพ์ราคาเหลือแค่ 290 บาท/เดือน ฟาก “ทรูออนไลน์” ย้ำกลยุทธ์ “คอนเวอร์เจนซ์” พร้อมดึง AI อัพเกรดงานบริการ ขณะที่ “3BB” ชูพรีเมี่ยมคอนเทนต์ดึงลูกค้า ขณะที่ “เอไอเอส ไฟเบอร์” อัพสปีดงานบริการ หวังสร้างแต้มต่อระยะยาว

เทรนด์การทำงานและเรียนที่บ้านจากสถานการณ์โควิดผลักดันให้การใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เติบโตต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้การแข่งขันในธุรกิจนี้ลดความร้อนแรงลงแต่อย่างใด

โควิดดันเน็ตบ้านโต

นายธนภูมิ ภาคย์วิศาล ผู้อำนวยการและหัวหน้าสายงานการพาณิชย์ ทรูออนไลน์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนทำงานและเรียนที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้โดยรวมเพิ่มขึ้น 40% จากต้นปี ทั้งผลักดันให้จำนวนผู้ใช้โตขึ้น 10%

ขณะที่การแข่งขันหลักยังอยู่ที่ความเร็วและราคา โดยเฉพาะช่วงความเร็ว 500 Mbps-1 Gbps ซึ่งเป็นจุดขายหลักของแต่ละราย ทำให้ทรูออนไลน์ต้องลงมาแข่งด้วยการวางแพ็กเกจราคาเริ่มต้นที่ 399 บาท/เดือน ความเร็ว 300 Mbps/300 Mbps

ส่วนความเร็ว 500 Mbps ราคาจะอยู่ที่ 599 บาท และ 1 Gbps ที่ 699 บาทต่อเดือน พ่วงแพ็กเกจคอนเวอร์เจนซ์ที่ดูทรูไอดี และทรูวิชั่นส์ได้ด้วย เพื่อสร้างความคุ้มค่าและกระตุ้นการตัดสินใจ คาดว่าเฉพาะในไตรมาส 4/2564 จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น 1 แสนราย และในสิ้นปีจะมีลูกค้ารวมกว่า 4.5 ล้านราย

ทรูชูคอนเวอร์เจนซ์อัพรายได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการแต่ละรายกำลังเผชิญปัญหารายได้เฉลี่ย (ARPU) ลดลง ซึ่งการชูกลยุทธ์แบบคอนเวอร์เจนซ์ เป็นส่วนหนึ่งในการแก้โจทย์ทำให้รายได้ต่อเดือนต่อฐานลูกค้าแต่ละรายของทรูออนไลน์ไม่ลดลงมาก โดย ณ ไตรมาส 2 อยู่ที่ 527บาทต่อเดือน สูงกว่าภาพรวมตลาดที่อยู่ที่ 516 บาทต่อเดือน อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจใช้ทรูออนไลน์

“คู่แข่งขันที่พัฒนาตัวเร็วขึ้นเป็นความยากส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ยากที่สุด คือ พฤติกรรมคนเปลี่ยนเร็ว และความคาดหวังที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องเร่งพัฒนาทั้งนวัตกรรม เทคโนโลยี และบริการใหม่ ๆ ต้องนำเสนอบริการมากกว่าที่ลูกค้าคาดหวัง แม้ลูกค้าจะยังไม่ต้องการ เรียกว่านำหน้าความต้องการของผู้บริโภคไปก่อน”

นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง และรักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 เช่น ในด้านบริการหลังการขายที่นำเทคโนโลยี AI มาเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลคุณภาพเครือข่ายที่เน้นการซ่อมก่อนเสีย และหากพบปัญหาในการใช้งานก็แก้ไขให้ลูกค้าได้ทันทีผ่านระบบ remote service รวมถึงมีมาตรการการันตีในการติดตั้งดูแล และแก้ปัญหาภายใน 24 ชั่วโมง เป็นต้น

3BB ชูแพ็กเกจคุ้มพ่วง HBO

ด้านนายยอดชาย อัศวธงชัย รองประธานบริหาร สายงานปฏิบัติการ 3BB บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแข่งขันในตลาดโค้งท้ายยังสูงต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการใช้จ่าย จึงเน้นเรื่องส่วนลดมากขึ้น ทำให้ลูกค้าที่อ่อนไหวด้านราคาไหลเข้าไหลออกมากขึ้น

ขณะที่บริการอินเทอร์เน็ตบ้านเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตในปัจจุบัน จึงมีการใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยลูกค้าที่มีกำลังซื้อไม่สูง อาจหันไปหาผู้ให้บริการรายอื่นที่ให้ราคาถูกกว่า

สำหรับบริษัทในไตรมาส 4 ยังเน้นการทำตลาดแพ็กเกจ “3BB GIGA” ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 4 แสนราย จากกว่า 3.57 ล้านราย (ณ ไตรมาส 2/2564) เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่ากับราคา 700 บาท/เดือน ได้ทั้งอินเทอร์เน็ตความเร็ว 1 Gbps/500 Mbps พร้อมกับดูคอนเทนต์ช่องพรีเมี่ยมได้ถึง 30 ช่อง รวมช่อง HBO

ขณะเดียวกันยังเร่งพัฒนาคุณภาพการติดตั้ง สัญญาณไวไฟ (WiFi 6) และบริการหลังการขาย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้ในระยะยาว คาดว่าในสิ้นปีจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น 10% จาก 3.42 ล้านราย ในปีที่ผ่านมา

“เอ็นที” ดัมพ์ราคาเร่งเกมโต

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โควิด-19 หลายระลอกที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ธุรกิจ แต่ไม่ใช่กับธุรกิจบรอดแบนด์ที่ยังโตต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะโตไม่ต่ำกว่า 12% หรือทั้งตลาดจะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านราย ขณะที่ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับมา จึงเชื่อว่าจะทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งด้านราคา และความเร็วอินเทอร์เน็ต

“แม้ตลาดจะขยายตัว แต่การแข่งขันก็สูงขึ้นตามไปด้วย โดยแข่งกันที่ราคา และความเร็วเป็นหลัก โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มแมสมีการเพิ่มความเร็วในการใช้มากขึ้น เราจึงมีแพ็กเกจใหม่ ราคาคุ้มค่า ออกมารองรับพฤติกรรมดังกล่าวคือ แพ็กเกจ NT ValueMAX Fiber ถือเป็นโปรโมชั่นที่ดีที่สุดในขณะนี้ ด้วยความเร็ว 300 Mbps/300 Mbps ถึง 1 Gbps/1 Gbps ราคาเริ่มต้น 290-1,300 บาท คาดว่าจะทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 90,000 ราย จากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 1.8 ล้านราย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 16% และคาดว่าในสิ้นปีนี้ ฐานลูกค้าจะขยับขึ้นไปเป็น 1.9 ล้านราย

เอไอเอสหนีสงครามราคา

ด้านนายกิตติ งามเจตรมย์ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ (เอไอเอส ไฟเบอร์) บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในปีนี้น่าจะเติบโต 10-15% จากฐานผู้ใช้ 11.48 ล้านราย เพิ่มเป็น 12.98 ล้านราย หรือคิดเป็น 57.6% ของจำนวนครัวเรือนในไทย ที่มี 22-23 ล้านครัวเรือน ในสิ้นปี

“โควิดผลักดันให้การใช้เน็ตบ้านเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของเอไอเอสพบว่า เดือน เม.ย.-มิ.ย.ปีที่แล้ว การใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 9% และเริ่มทรงตัวปลายปี เพราะคนเริ่มกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ จนในต้นปีนี้ที่มีระบาดรอบ 2 และอีกหลายระลอกต่อเนื่อง ทำให้การใช้เน็ตบ้านเพิ่มขึ้น 31% คาดว่าในไตรมาส 4 ก็จะยังโตต่อ”

โดยเอไอเอส ไฟเบอร์ คาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีฐานลูกค้า 1.6 ล้านราย จากครึ่งปีแรกมี 1.54 ล้านราย มีส่วนแบ่งตลาด 13.5% ซึ่งหากไม่เกิดการรวมกันระหว่างทีโอทีกับ กสท เป็น “เอ็นที” ก็จะมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 เมื่อตลาดเปลี่ยน มีการรวมกัน ทำให้ส่วนแบ่งตลาดขยับลงเป็นเบอร์ 4 แต่ถึงอย่างนั้นก็คาดว่าภายในต้นปีหน้าจะขึ้นมาเป็นเบอร์ 3 ได้

ที่ผ่านมาบริษัทพยายามหนีการแข่งขันด้านราคา ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ให้ลูกค้าซื้อเราเตอร์ (router) แบรนด์ดังราคาพิเศษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน และในไตรมาส 4 จะผลักดัน “Service Innovation” ชู 3 บริการ ได้แก่ 1.แก้ปัญหาใน 24 ชม. ทั้งให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าใช้ได้ 2.ติดตั้งเร็ว พร้อมเข้าติดตั้งให้ลูกค้าใช้ได้เร็วที่สุด และ 3.ทีมช่างตรงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้ง การให้บริการ คาดว่าจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกใช้ “เอไอเอส ไฟเบอร์” มากขึ้น

“ตลาดแข่งที่ความเร็วและราคา ซึ่งเอไอเอสก็ต้องแข่งด้วย และพยายามสร้างพื้นที่การต่อสู้ โดยสู้บนพื้นที่ใหม่ ๆ ด้วยการสร้างมาตรฐานด้านบริการ ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์ที่เชื่อว่าจะทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการเอไอเอส ไฟเบอร์”