สแกนบิ๊กดีล “AISCB” ย้ำกลยุทธ์ “กินแบ่ง” ปั้น S-Curve ใหม่

นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญกับบิ๊กมูฟล่าสุดของ “เอไอเอส” กับการประกาศความร่วมมือทางธุรกิจกับธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) ภายใต้บริษัทร่วมทุน “เอไอเอสซีบี” (AISCB) เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจบริการการเงินดิจิทัล

แม้ที่ผ่านมา “เอไอเอส” จะมีความร่วมมือกับพันธมิตรในหลากหลายมิติอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำจุดยืน และแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ “สมชัย เลิศสุทธิวงค์”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)

เรียกว่า เป็นสไตล์ “กินแบ่ง” เพราะเชื่อในพลังของพาร์ตเนอร์ และมองว่าการนำจุดแข็งที่แต่ละฝ่ายมีมาผสมผสานกันจะยิ่งสร้าง impact ให้ทวีคูณยิ่งขึ้น กรณีกับธนาคารไทยพาณิชย์จัดตั้งบริษัท AISCB ก็ด้วย

ย้ำเทรนด์ธุรกิจข้ามสายพันธุ์

“พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนชัดเจนว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากพัฒนาการของเทคโนโลยี

ทำให้ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมอีกต่อไปแล้ว โดยทุกบริษัทในทุกอุตสาหกรรมสามารถกระโดดข้ามไปทำธุรกิจของอีกฝ่ายได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีปตท. จับมือ Foxconn

จัดตั้งแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และส่วนประกอบหลักต่าง ๆ หรือ “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี” ที่เข้าไปลงทุนในเอไอเอสก็ข้ามจากธุรกิจพลังงานมายังโทรคมนาคมเช่นกัน

“เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว การดำเนินธุรกิจก็เปลี่ยนไปด้วย ส่วนหนึ่งเพราะการลงทุนสมัยนี้ก็มีต้นทุนถูกลง ขณะที่ผู้บริโภคก็มีความพร้อม”

ในอดีตการเข้าสู่ธุรกิจธนาคารและธุรกิจสินเชื่อ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), การมีฐานทุนที่แข็งแรง มีสาขาครอบคลุม ทำให้มีผู้เล่นน้อยราย

ขณะที่ความต้องการสินเชื่อมีเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลงได้มาก จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่มากด้วย เพราะยังมีคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงสินเชื่อของธนาคาร

“พิสุทธิ์” บอกว่าความแตกต่างระหว่างสินเชื่อแบบเดิมกับ digital lending เปรียบได้กับเมื่อก่อนถ้านำของไปจำนำที่โรงรับจำนำก็จะได้เงินมา แต่โรงรับจำนำจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้จำนำเลย

ต่างจากสินเชื่อดิจิทัลที่คนปล่อยกู้ จะเก็บดาต้า และใช้ดาต้าที่มีมาวิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยงของผู้กู้เป็นรายบุคคล เพื่อพิจารณาว่าจะปล่อยวงเงินเท่าไร และมีโอกาสเกิดหนี้เสียแค่ไหน เป็นต้น

“ดาต้า” ขุมพลังธุรกิจยุคใหม่

กรณีความร่วมมือระหว่างเอไอเอสและเอสซีบี ก็จะใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล (ดาต้า) ที่ต่างฝ่ายต่างมีอยู่ เช่น ฐานลูกค้าเอสซีบีที่มี 16 ล้านราย ขณะที่เอไอเอสมีถึง 43.2 ล้านราย มากกว่าเอสซีบีถึง 3 เท่า เท่ากับว่า การผนึกกำลังครั้งนี้เพิ่มความน่าสนใจให้ตลาด digital lending ด้วย

“พิสุทธิ์” ย้ำว่า ความน่าสนใจดีลนี้ อยู่ที่ฐานลูกค้าในมือเอไอเอสที่มีกว่า 43 ล้านราย ถือเป็นฐานที่กว้าง ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และยังรู้ด้วยว่าลูกค้าแต่ละรายใช้บริการมากี่ปี มีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร จ่ายค่าบริการตรงเวลาหรือไม่ ทั้งหมดเป็นโปรไฟล์ลูกค้ารุ่นใหม่ที่สินเชื่อแบบเดิมทำไม่ได้

“เอไอเอสคงใช้ดาต้าที่มีมาวิเคราะห์ว่าจะปล่อยสินเชื่อลูกค้าที่เป็นทั้งลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อและใช้บริการมือถืออย่างไร ถือเป็นส่วนเสริมทำให้ได้รายได้เพิ่มจากดอกเบี้ย

หรือส่วนแบ่งที่ปล่อยกู้แล้วยังดึงลูกค้าให้อยู่ในระบบได้นานขึ้นด้วย และอาจได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วย หรืออาจทำมากกว่านั้น เช่น ถ้ามีประวัติการจ่ายค่าบริการที่ดีก็อาจให้ดอกเบี้ยพิเศษ หรือได้วงเงินกู้เพิ่ม เป็นต้น”

ถือเป็นจุดขายใหม่แทนที่จะมาแข่งจัดโปรโมชั่นลดราคาโทร.ฟรี-เน็ตไม่อั้นแบบเดิม ๆ เป็นวิธีการที่จะสร้างความแตกต่าง และดีดตัวเองออกจากคู่แข่งได้

“พิสุทธิ์” มองว่าปัจจุบันตลาดมือถือในไทยค่อนข้างทรงตัว ขณะที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านก็ใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ผลักดันให้ทีมผู้บริหารของค่ายมือถือจำเป็นต้องหาS-curve ใหม่ ๆ

ซึ่งที่ผ่านมาพยายามทำหลายอย่าง เช่น การขายเครื่องผูกกับบริการ และการทำคอนเทนต์ เช่น ทรูไอดี และเอไอเอสเพลย์ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าคนเดิมจ่ายเงินมากขึ้น

“การขยับมายัง digital lending ถือเป็น S-curve ใหม่ ถ้าทำแล้วดีก็จะเป็น S-curve ที่ตัวใหญ่ มีรายได้มากขึ้น แต่ถ้าไม่ดีก็ต้องหา S-curve ใหม่ ๆ”

เปรียบมวย “ทรู-เอไอเอส”

อย่างไรก็ตาม ในธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล กลุ่มทรูเริ่มมาก่อน โดยมี แอสเซนด์นาโน (สินเชื่อดิจิทัล)และแอสเซนด์ มันนี่ (ทรูวอลเล็ต) โดย “พิสุทธิ์” มองว่าดีลที่เกิดขึ้นระหว่างเอสซีบีและเอไอเอสมีความน่าสนใจในระยะสั้น

เพราะเป็นการรวมตัวของเบอร์ 1 ของแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมหลายส่วนทั้งเทคโนโลยีและเงินลงทุน แต่ถ้ามองในระยะยาวกลุ่มทรูน่าสนใจกว่าเพราะไม่ได้จับมือกับผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดิม ทำให้ได้ฐานลูกค้าใหม่ในพื้นที่ที่กลุ่มธนาคารไม่ทำ และฐานลูกค้าเก่าไปพร้อม ๆ กัน

ประกอบกับ “ซีพีกรุ๊ป” ก็มีเป้าหมายในการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินดิจิทัล
หรือการเป็นธนาคารรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันสามารถมีบริการหลากหลาย ทั้งทรูวอลเล็ตสินเชื่อดิจิทัล

เช่น สินเชื่อสบายกระเป๋า ไม่ง้อบัตรให้ผ่อนซื้อมือถือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงมีสินเชื่อ micro credit กับลูกค้าที่ถือบัตรทรูการ์ด เป็นต้น

แต่ท้ายที่สุดต้องไปวัดที่ความสามารถในการนำ “ข้อมูล” ที่มีมาใช้ว่าใครจะเข้าถึง และนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ดีกว่ากัน