5G บิ๊กมูฟขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พลิกโฉมภาคการผลิต-เกษตร

เทคโนโลยี 5G ไม่เพียงทำให้การแข่งขันบนสมรภูมิธุรกิจมือถือจากทั้ง 3 ค่ายคือ เอไอเอส ทรูมูฟ เอช และดีแทค ร้อนแรงขึ้น แต่อีกมิติถือเป็นบิ๊กมูฟสำคัญในการพลิกโฉมอุตสาหกรรม เป็นจิ๊กซอว์สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “Shaping Tomorrow: Power of 5G และ Tech Convergence” จัดโดย นสพ.บางกอกโพสต์ว่า เทคโนโลยี 5G เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมอย่างจริงจังในการนำโซลูชั่นและแพลตฟอร์มไปใช้ในทุกส่วน ทั้งเมืองอัจฉริยะ, สาธารณสุข และการเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ชู 3 ประสานรัฐ-เอกชน-ปชช.

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาพใหญ่ของยุคนิวนอร์มอล และคาดว่าตลาด 5G ในไทยจะมีมูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 จาก 3 กลุ่มคือ การใช้อินเทอร์เน็ตบ้าน, การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโมบาย และ B2B ในภาคอุตสาหกรรม เน้นไปในกลุ่มธุรกิจการผลิต ขนส่ง

ซึ่งที่ผ่านมาเอไอเอสทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ในหลายอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

“แต่การจะนำศักยภาพทั้งหมดมาเสริมความแข็งแรงประเทศได้ ต้องมาจาก 3 ประสาน คือ ภาคประชาชนที่พร้อมจะปรับตัวเปิดรับการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ต่อมาคือภาครัฐที่มีทรัพยากรจำนวนมาก ต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจนสอดรับกับสถานการณ์ และต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนทั้งผู้ให้บริการเครือข่าย และผู้ประกอบการในดิจิทัลอีโคซิสเต็ม เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลบนความเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมดิจิทัลและแข่งขันในเวทีโลกได้”

หาพาร์ตเนอร์ทำยูสเคส

ฝั่ง “ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า 5G มีส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อโลกได้เร็วขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาคธุรกิจ โดยเมื่อเดือน มี.ค.ได้เปิดตัว “True 5G Worldtech X” พื้นที่สำหรับสร้างยูสเคส 5G ใหม่ ๆ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็ม 5G ให้แข็งแรง ซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนา 5G Use Case ต่อเนื่อง เช่น กลุ่มค้าปลีกที่ใช้ 5G ติดตามการซื้อของลูกค้าในร้านว่าสินค้าชิ้นไหนคนซื้อมาก สาขานี้ควรขายอะไรเพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย หรือด้านเกษตรด้วยการใช้ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ และส่งข้อมูลวัวเพื่อให้การผสมเทียมแม่นยำขึ้น เป็นต้น

ด้าน “ชารัด เมห์โรทรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ข้อดีของคนไทยคือเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ และเชื่อว่า 5G จะเข้ามาปลดล็อกหลายข้อจำกัด โดยมี 5 สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับ 5G คือ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิดจะมีการนำดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน

2.5G ไม่ใช่แค่เครือข่ายแต่เป็นทั้งแพลตฟอร์มและโซลูชั่นที่มีการประมวลผลอุปกรณ์ บริการ เครือข่าย ซึ่งขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ ๆ ของประเทศไทยได้

3.การเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต โดยนำ 5G มาต่อยอดสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาร่วมกับพันธมิตร เช่น WHA Group พัฒนาโซลูชั่นบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ 4.การทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดยูสเคสที่ใช้ได้จริง เป็นสิ่งสำคัญที่จะพลิกอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการต่าง ๆ ในช่วงหลังโควิด

และ 5.5G private network การสร้างสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อความปลอดภัย โดยร่วมกับอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส จัดทดสอบ POC (proof-of-concept) สำหรับ 5G private network และ edge computing เพื่อสาธิตการใช้งานจริงให้อุตสาหกรรม

คาดคนใช้ 5G ทะลุ 3 ล้านราย

ขณะที่ “อาเบล เติ้ง” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มองโอกาสจากการที่ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เปิดใช้ 5G ว่า จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจค้าปลีก เกษตรกรรม คาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่า 10% เพราะไทยมีการขยายเครือข่ายสัญญาณ 5G มากกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ และน่าจะมีผู้ใช้บริการ 5G เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านราย

“5G ไม่ใช่แค่เรื่องการสื่อสารที่เหนือกว่า 4G แต่เป็นอะไรที่ไกลกว่านั้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเชื่อว่าจะเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตได้มากกว่า 20 เท่าเมื่อเทียบกับ 4G อีกด้วย”