ดีอีเอส ลงพื้นที่ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ชง เสนอ ศบค.เปลี่ยนเกณฑ์คัดกรอง นทท.

ดีอีเอสลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งระบบติดตามบุคคลโดยการจับใบหน้า, ระบบติดตามตัวหมอชนะ, Dash Board รายงานสถานการณ์ แจ้งเตือนในระบบ Phuket Tourism Sandbox ตั้งเป้าขยายโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียง เตรียม เสนอ ศบค.ผ่อนปรนการตรวจ RT-PCR เป็น ATK จูงใจนักท่องเที่ยว

วันที่ 8 ตุลาคม 2564 นายชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อก หลังจากรับฟังรายงานจากหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ทั้งจากสาธารณสุข ภาคเอกชน  ทำให้มั่นใจว่าจะขยายโครงการนี้ไปยังจังหวัดที่ใกล้เคียงต่อไป ในพื้นที่อื่นๆได้ เช่น จังหวัดพังงา และกระบี่ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ติดตามตัวนักท่องเที่ยวและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองโควิด-19

“เชื่อว่าเราจะสามารถเปิดประเทศได้ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้  ในส่วนของมาตรการบางอย่างที่ยังไม่เหมาะสม มีข้อจำกัด และเป็นภาระกับนักท่องเที่ยวนั้น มองว่ายังต้องใช้มาตรการควบคุมการเดินทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อของโรค ก็จะลดภาระของนักท่องเที่ยวได้”

โดยเฉพาะกรณีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดภูเก็ตแบบ RT-PCR มีค่าใช้จ่ายในการตรวจค่อนข้างสูงครั้งละ 2,600 บาทต่อครั้ง ถือเป็นภาระของนักท่องเที่ยว ซึ่งประเด็นนี้อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำการตรวจแบบ ATK มาใช้แทน เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและมีราคาถูกอยู่ที่ประมาณ 100-200 บาทต่อครั้ง โดยเตรียมจะนำเสนอมาตรการนี้ไปยัง ศบค. ต่อไป

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า อาจจะต้องมีการผ่อนปรนหรือปรับเปลี่ยนมาตรการนี้ ซึ่งจะต้องมีการหารือต่อไปถึงแผนการผ่อนปรนมาตรการ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การลงพื้นที่ภูเก็ตครั้งนี้ ยังได้ติดตามความคืบหน้าของหน่วยงานที่ดีอีเอสกำกับดูแลอยู่เช่น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เป็นต้น ที่มีการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ  เพื่อนำร่องขับเคลื่อนแผนการเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เริ่มจากภูเก็ต  โดยให้ดีป้า ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีให้กับการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เช่น ระบบติดตามบุคคลโดยการจับใบหน้า, ระบบติดตามตัวหมอชนะ, Dash Board ที่ใช้สำหรับรายงานสถานการณ์ แจ้งเตือนในระบบ Phuket Tourism Sandbox, ระบบ Shaba Plus และระบบตรวจสอบนักท่องเที่ยวเพื่อใช้ในการกักตัว เป็นต้น