“เรียลมี” เร่งเกมไต่บันไดแชมป์ เขย่งก้าวกระโดดศึกสมาร์ทโฟน

ตลาดสมาร์ทโฟนไทยถือเป็นศึกชิงพื้นที่ของสารพัดแบรนด์จากจีนอย่างแท้จริง “เรียลมี” (realme) เป็นหนึ่งในนั้น หลังเปิดตัวในกลางปี 2561 ก็ประกาศขึ้นเป็นเบอร์ 6 ของโลกที่มีจำนวนเครื่องออกสู่ตลาดมากที่สุด

จากการจัดอันดับของ Counterpoint (เก็บข้อมูลในไตรมาส 3/2561 ถึงไตรมาส 2 ปี 2564) ส่งให้ “เรียลมี” กลายเป็นแบรนด์น้องใหม่มาแรงไม่แพ้รุ่นพี่ ๆ อย่างเสียวหมี่, วีโว่ หรือแม้แต่ “ออปโป้”(OPPO) แบรนด์แม่ก่อนที่จะแยกออกมาตั้งบริษัทใหม่ และแยกการบริหารออกจากกันในเวลาต่อมา

“ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ “ศิรศร เบญจาธิกุล” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ เรียลมี ประเทศไทย ถึงแผนการรุกตลาดสมาร์ทโฟน สินค้ากลุ่ม IOT รวมถึงเป้าหมายการเติบโต

เร่งเกมไต่อันดับโลก

“ศิรศร” ย้ำถึงจุดเด่นที่ทำให้ “เรียลมี” สามารถขยับขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักอันดับ 6 ในตลาดสมาร์ทโฟนโลกในเชิงของจำนวนเครื่องที่ออกสู่ตลาดมากที่สุดว่า มาจากการมี “จุดขาย” ที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งประกอบด้วย การมี “นวัตกรรมล้ำหน้า-ฟังก์ชั่นครบ และราคาที่จับต้องได้ง่าย”สำหรับเจาะตลาดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงสามารถสร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักในตลาดโลกได้ภายในเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินเดีย, เอเชียกลาง, แอฟริกา และตะวันออกกลาง

“การมีเป้าที่ชัดเจนทำให้เรียลมีประสบความสำเร็จทั่วโลกภายในเวลารวดเร็ว ด้วยกลยุทธ์หลักที่มุ่งไปยังการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งยังเพิ่มความแปลกใหม่ด้วยการเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่ใช้ชิปเซต Qualcomm Snapdragon 888 กล้องความละเอียดสูงถึง 64 ล้านพิกเซล แต่ราคาประหยัด ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในหลายตลาดทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย”

ภายในสิ้นปีนี้ “เรียลมี” ยังตั้งเป้าด้วยว่าจะผลักดันสมาร์ทโฟนออกสู่ตลาดทั่วโลกให้ได้ถึง 100 ล้านเครื่อง และเพิ่มเป็น200 ล้านเครื่องในปี 2565 และ 300 ล้านเครื่องในปี 2566 เรียกว่าเท่าตัวต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญ และท้าทายอย่างยิ่ง

ฝันไกลเบอร์ 1 ตลาดไทย

“ศิรศร” กล่าวว่า เมื่อบริษัทแม่มีเป้าหมายชัดเจนในการผลักดันสมาร์ทโฟนเรียลมีเข้าสู่ตลาดทั่วโลกให้ได้ 300 ล้านเครื่องในปี 2566 ในแง่ดีกรีการทำตลาดในไทยก็จะเข้มข้นขึ้นด้วยเช่นกัน

โดยตั้งเป้าว่าจะขยับจากปัจจุบันอันดับ 5 เป็นท็อป 3 และที่ 1 ให้ได้ในที่สุดในเชิงจำนวน (จากรายงานของบริษัทวิจัย Canalys ณ เดือน ก.พ. 2564 ระบุว่าวีโว่มีส่วนแบ่งตลาดในเชิงจำนวนเครื่อง 19% รองมาคือ ออปโป้ 18% ซัมซุง17% แอปเปิล 11% และเรียลมี 11%)

“นโยบายและทิศทางการทำตลาดในไทยของเราจากนี้ไปจะสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทแม่ ในหลายส่วนด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โปรโมชั่นและขยายช่องทางจำหน่าย”

ไม่ใช่แต่ “สมาร์ทโฟน” แต่ยังรวมไปถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ IOT และอื่น ๆ มากขึ้น นอกเหนือไปจากสมาร์ทโฟนในตระกูล GT series ระดับพรีเมี่ยมรวม 2 รุ่นที่เพิ่งเปิดตัวไป ก็มีสินค้าอื่น ๆ

เช่น แล็ปทอปเครื่องแรก realme book ที่ทำตลาดไปเมื่อกลางปี หรือก่อนหน้านี้ก็มี “สมาร์ทวอตช์” และ “หูฟังไร้สาย” เป็นต้น โดย “ศิรศร” อ้างอิงข้อมูลจากรายงานของ Canalys ระบุว่า

ณ ไตรมาส 2/2564 เรียลมี ขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของไทย ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ basic watch และกลุ่มหูฟังไร้สาย (True wireless stereo) ที่เติบโตมากที่สุด

“ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และเป็นตลาดที่สำคัญของเรา โดยที่ผ่านมาไทยเป็นตลาดแรกในอาเซียน ที่เรียลมีเปิดตัวสมาร์ทโฟนกลุ่มพรีเมี่ยม และผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมอื่น ๆด้วย”

สานต่อกลยุทธ์ 1+5+T

ควบคู่ไปกับการสร้าง “realme Ecosystem” ภายใต้กลยุทธ์ “1+5+T “โดย 1 แทน “สมาร์ทโฟน” จะเป็นศูนย์กลางของทั้งหมด เลข 5 หมายถึงหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ AIoT

ได้แก่ 1.อุปกรณ์หูฟังไร้สาย 2.อุปกรณ์สวมใส่ 3.ทีวี 4.แท็บเลต และ 5.แล็ปทอป ส่วน T มาจากคำว่า “TechLife” โดยทั้งหมดมีแอปพลิเคชั่น “realme Link” เชื่อมต่อระหว่างกัน เป็น realme’s AIoT ecosystem

“ศิรศร” กล่าวต่อว่า การเดินหน้าขยายช่องทางจำหน่ายผ่าน “เรียลมี แบรนด์ช็อป” ก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ปัจจุบันมีแบรนด์ช็อป 75 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 120 สาขาภายในปีหน้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของเรียลมีได้มากขึ้น

“เรามีพาร์ตเนอร์หลายราย โดยไม่จำกัด หรือให้เอ็กซ์คลูซีฟตัวแทนจำหน่ายรายใดรายหนึ่งในการเปิดเรียลมี แบรนด์ช็อป ทำให้สามารถขยายได้เร็ว เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้นด้วย

ส่วนกิจกรรมส่งเสริมการขายมีต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของหน้าร้าน และช่องทางออนไลน์โดยหน้าร้านหรือออฟไลน์จะร่วมกับตัวเเทนจำหน่ายทั่วประเทศในพื้นที่ต่าง ๆ และผู้บริการโทรศัพท์มือถือจัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง

ขณะที่ในช่องทางออนไลน์จะร่วมกับอีมาร์เก็ตเพลซ โดยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายจะเพิ่มดีกรีทางออนไลน์”

โควิดหั่นกำลังซื้อ

“ศิรศร” กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอการเติบโต และกระทบกำลังซื้อผู้บริโภคโดยเฉพาะระดับล่างด้วย ทำให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่นานขึ้น

โดยเครื่องที่ระดับราคาต่ำกว่า 10,000 บาท แต่เดิมระยะเวลาในการเปลี่ยนจะอยู่ที่ 5-6 เดือน ขยับเพิ่มมาเป็น 7-8 เดือน ขณะที่เครื่องราคา 10,000 บาทขึ้นไป จะเปลี่ยนโดยเฉลี่ย 1-2 ปี

ส่วนการเปลี่ยนจากระบบ 4G เป็น 5G อยู่ที่ 40-60% เพราะสมาร์ทโฟน 5G ส่วนใหญ่ราคาสูงกว่า 10,000 บาท

“เครื่องต่ำกว่า 10,000 บาท ยังเป็นการเปลี่ยนจาก 4G เป็น 4G เพราะสมาร์ทโฟน 5G ราคายังสูง ถ้า 5G ราคาต่ำกว่าหมื่นบาท ยังมีแค่ 20-30% ทำให้การเปลี่ยนจาก 4G เป็น5G ยังกระจุกตัวเฉพาะในกลุ่มคนเมืองซึ่งเราเองมีสมาร์ทโฟนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งบน กลาง และล่าง เริ่มมีสมาร์ทโฟน 5G ราคาต่ำกว่า 10,000 บาทออกมาแล้ว”