“ดีอีเอส” โชว์เคส “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ต่อยอด One Country One Platform

ภาพจากเฟซบุ๊ก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนเท่านั้น แต่ภาครัฐก็ต้องเร่งการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในหลากหลายมิติที่เกี่ยวข้องในการผลักดันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

หนีไม่พ้นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยล่าสุดสนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวยุคนิวนอร์มอลต่อ

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของหน่วยงานในสังกัด ทั้ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที)

และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวว่า ภูเก็ตแซนด์บอกซ์เป็นโมเดลสำคัญในการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในหลายส่วน

ทั้งระบบติดตามบุคคลด้วยการตรวจจับใบหน้า dash board สำหรับรายงานสถานการณ์

เชื่อมโยงข้อมูลเป็นหนึ่งเดียว

ไฮไลต์สำคัญในการลงพื้นที่ครั้งนี้คือ ศูนย์ 191 Phuket Sandbox ที่มีระบบเชื่อมโยงข้อมูลของนักท่องเที่ยว และระบบติดตามตัวนักท่องเที่ยวกับด่านตรวจคนเข้าเมือง 3 ด่าน

ได้แก่ ด่านทางอากาศ ท่าอากาศยานภูเก็ต ด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบกที่ด่านท่าฉัตรไชยด่านตรวจคนเข้าเมืองทางน้ำ ที่ท่าเรืออ่าวฉลอง ท่าเรือรัษฎา ท่าเรืออ่าวปอ และท่าเรือวิสษฐ์พันวา

รวมไปถึงศูนย์ประสานงานโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน สถานีตำรวจภูธรจังหวัด ตำรวจน้ำตำรวจท่องเที่ยว ศูนย์ประสานงานโรงแรม SHA Plus Manager ศูนย์ประสานงานสถานประกอบการ SHA Plus ศรชล.จังหวัดภูเก็ต

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลภาคใต้ และหน่วยงานส่วนกลาง มีการใช้ระบบติดตามตัวของแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ติดตามตัวนักท่องเที่ยว โดยจะส่งสัญญาณโลเกชั่นที่นักท่องเที่ยวอยู่ทุกครึ่งชั่วโมงมายังศูนย์

ทำให้ทราบว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตอยู่ จุดใด หากออกนอกพื้นที่ก็จะแจ้งเตือนมายังศูนย์ทันที

อีกส่วนคือ ศูนย์ IOC (Intelligence Operation Center) ศูนย์บัญชาการ และรวบรวมข้อมูลระดับเมืองของเทศบาลป่าตอง โดยนำแพลตฟอร์มจัดเก็บมาใช้วางแผนบริหารจัดการ

และแก้ไขปัญหาของเมืองที่มีความซับซ้อนให้เกิดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง บูรณาการทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ ของจังหวัด ได้แก่ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ในศูนย์ IOC ยังติดตั้งกล้องซีซีทีวี บริเวณหาดป่าตอง และทุกแยกจราจร มีการตรวจจับใบหน้า เพื่อตรวจสอบ และติดตามผู้กระทำผิด ซึ่งจะส่งการแจ้งเตือนสู่ศูนย์ ก่อนนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และนำไปใช้วางแผน บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาของเมือง

เตรียมขยายต่อสู่จังหวัดอื่น

“ชัยวุฒิ” ขยายความว่า การนำระบบไอทีมาใช้เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนภูเก็ตแซนด์บอกซ์ และเป็นตัวอย่างในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งเอกชนและรัฐ

เพื่อนำร่องขับเคลื่อนการเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจ เริ่มจากภูเก็ต ก่อนขยายผลสู่จังหวัดอื่น เช่น พังงา กระบี่ เป็นต้น

“ระบบไอทีที่ดีอีเอสนำมาใช้เป็นแกนหลักในการติดต่อนักท่องเที่ยว มี dashboard รายงานสถานการณ์ ติดตามทำให้การควบคุมต่าง ๆ เป็นไปตามมาตรการ ซึ่งต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีระบบไอทีเข้ามาสนับสนุน โครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ก็เดินหน้าไม่ได้ เพราะต้องเชื่อมโยงจากทุกส่วน หากใช้วิธีการแบบเดิมอาจเกิดขึ้นยาก”

One Country One Platform

แม้โดยรวมโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์จะเดินหน้าด้วยดี แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีปัญหาใด ๆ เช่น กรณีมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวก่อนเข้าภูเก็ตแซนด์บอกซ์เข้มข้นเกินไป

จนสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้นักท่องเที่ยว เช่น ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าภูเก็ตต้องตรวจ RT-PCR ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเฉลี่ย 2,600 บาทต่อครั้ง (การตรวจกี่ครั้งขึ้นอยู่กับจำนวนวันเข้าพัก)

ประเด็นนี้เตรียมนำเสนอศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ปรับให้ตรวจแบบใช้ชุดตรวจโควิดเบื้องต้น (antigen test kit : ATK) แทน เพิ่มความสะดวกให้นักท่องเที่ยว

ทั้งมีราคาค่าตรวจเฉลี่ย 100-200 บาทต่อครั้งอีกทั้งยังต้องเชื่อมโยงข้อมูลแต่ละหน่วยงานให้ดีขึ้น เพื่อลดภาระให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องโหลดหลายแอปพลิเคชั่น ไม่ต้องลงทะเบียนหลายรอบ เป็นต้น

“เชื่อว่าเราจะเปิดประเทศได้ตามนโยบายของรัฐบาล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อได้ และคงยังต้องใช้มาตรการควบคุมการเดินทางต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อของโรค และลดภาระของนักท่องเที่ยว”

ทิศทางการท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มอลต้องนำเทคโนโลยีและระบบไอทีมาใช้มากขึ้น ซึ่งดีอีเอสจะต้องหารือร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หากต้องการเปิดเมืองไหนก็ให้นำระบบนี้ไปใช้

เพราะโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์พิสูจน์แล้วว่า มีการปรับปรุงเทคโนโลยีมาต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว และสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวมากขึ้นได้


“ชัยวุฒิ” ทิ้งท้ายว่า “ดีอีเอส” มีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการรวมทุกแอปพลิเคชั่นไว้ที่เดียวกัน ภายใต้แนวคิดOne Country One Platform