เดลล์โหมลงทุน “ไอโอที” หัวหอกธุรกิจรองรับอนาคต

จัดทัพลุย - เพื่อรองรับกับการเติบโตในอนาคตจากการนำเทคโนโลยี "ไอโอที"มาใช้เดลล์จึงเปิดแผนกใหม่และใส่เงินลงทุนกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐด้านนี้โดยเฉพาะ

“เดลล์” ปักธง “ไอโอที” หัวหอกธุรกิจ ตั้งแผนกใหม่ดึงศักยภาพ 7 บริษัทในเครือเสริมทีม ใส่เงิน R&D 3 ปี 1,000 ล้านเหรียญ ชี้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการมาถึงของเทคโนโลยี 5G ผลักดันให้การลงทุนในไทยโตก้าวกระโดด

นายอโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี อินโดไชน่า กล่าวว่า ในอดีตตัวเร่งในการปฏิวัติอุตสาหกรรมคือ เครื่องจักรไอน้ำ, ถ่านหิน, ไฟฟ้าแต่ปัจจุบันคือบิ๊กดาต้าจากผลสำรวจพบว่าปัจจุบันมีข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์4.4 เซตตะไบต์ (zettabyte) โดย 90% ของข้อมูลเกิดขึ้นใน 2-3 ปีที่ผ่านมาดังนั้นจะเห็นว่าโทรศัพท์มือถือเป็นตัวขับเคลื่อนข้อมูล คาดว่าในปี 2025 จะเพิ่มเป็น 163 เซตตะไบต์ ซึ่งตัวแปรสำคัญในการเกิดข้อมูลเหล่านี้คือ”ไอโอที” (Internet of Things : IOT) คาดว่าในปี 2020 จะมีอุปกรณ์ที่ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน กว่า 2.04 พันล้านชิ้น และในปี 2025 เพิ่มเป็น 7.44 พันล้านชิ้น

“ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ทำให้องค์กรธุรกิจต้องเตรียมรับมือและต้องคิดว่าจะนำข้อมูลมาทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้แข่งขันได้ เนื่องจากมีคาดการณ์ว่าในปี 2018 อุตสาหกรรมที่อยู่ในฟอร์จูน 100 จำนวน 33% จะโดนดิสรัปต์โดยคู่แข่งที่ปรับตัวเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ”

โดยในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา เดลล์ได้จัดตั้งแผนกใหม่ด้านไอโอที และจะใช้ความรู้ของบริษัทลูกทั้ง 7 ได้แก่ เดลล์, เดลล์ อีเอ็มซี, พิโวทอล, อาร์เอสเอ, ซีเคียว เวิร์คส์, เวอร์ทุสสตรีม และวีเอ็มแวร์มาพัฒนา พร้อมแต่งตั้ง

นายเรย์ โอ ฟาร์เรล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี (ซีทีโอ) วีเอ็มแวร์ มาเป็นผู้จัดการทั่วไป โดยจะลงทุนด้านไอโอที 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการวิจัยและพัฒนาใน 3 ปีข้างหน้า พร้อมมียุทธศาสตร์ใหม่ IQT (IQ of Things) ที่จะทำให้ดีไวซ์ฉลาดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเอไอ (Artificial Intelligence) มาช่วย มีไอโอทีเป็นตัวเก็บข้อมูล

นายอโณทัยกล่าวต่อว่า ภาพรวมการลงทุนไอโอทีของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น จากการคาดการณ์ของไอดีซีระบุว่า ในปี 2020 จะมีมูลค่าการลงทุนถึง 5.83 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในประเทศไทยผลสำรวจของฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน พบว่าในปี 2014 มีมูลค่าการลงทุนที่ 57.7 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 2020 จะโต 1,600 เท่า มีมูลค่า 973 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยมีแรงผลักจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีการลงทุนด้านนวัตกรรมกว่า 5,000 ล้านบาท การเกิดของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ(อีอีซี), สมาร์ทซิตี้, การมาถึงของ 5G และการแข่งขัน อีกทั้งกสทช.ยังนำคลื่น 920-925 MHz มาให้บริการไอโอที ซึ่งในอนาคตอาจไม่พอ เพราะในยุโรปใช้คลื่นราว 10 MHz แต่ปัญหาด้านกฎหมายในแง่มุมต่าง ๆ ยังอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโต “ภาพรวมการใช้ไอโอทีในไทยตื่นตัวมาก แต่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก คือ รู้จักแต่ไม่เข้าใจ แต่คาดว่าภายในไม่เกิน 1 ปีจะเห็นชัดว่าใครที่พร้อมทำ และใน 2 ปีข้างหน้าจะเห็นการลงทุนที่ชัดเจนขึ้น ดังนั้นในปี 2017-2020 การลงทุนโตก้าวกระโดดแน่นอน”

สำหรับอุตสาหกรรมที่จะลงทุนไอโอทีเป็นด้านโลจิสติกส์, การเกษตร, สมาร์ทบิลดิ้ง, สมาร์ทแมนูแฟกเจอริ่ง ส่วนภาครัฐมีในโปรเจ็กต์ที่ทำสมาร์ทซิตี้