“อาลีบาบา” เปิดตัวฟีเจอร์ภาษาไทยบนแพลตฟอร์ม B2B

ยักษ์ Alibaba.com ได้ฤกษ์เปิดฟีเจอร์ “ภาษาไทย” บนแพลตฟอร์มหวังช่วยผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดโลกง่ายขึ้นชี้วิกฤตโควิดเปลี่ยนธุรกิจโกดิจิทัล

วันที่ 12 ตุลาคม 2564 รายงานข่าวจาก Alibaba.com แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าแบบธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) ของอาลีบาบา กรุ๊ป เปิดเผยว่า อาลีบาบา ได้เพิ่มฟีเจอร์ภาษาไทยบนแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยบริหารจัดการธุรกิจส่งออกออนไลน์และเข้าถึงตลาดโลกได้ง่ายขึ้น อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยที่ยังลังเลการขยายตลาดไปต่างประเทศ เนื่องจากอุปสรรคด้านภาษา

โดยฟีเจอร์ภาษาไทยจะเพิ่มเข้ามาในกระดานสรุปข้อมูล (Dashboard) ที่เรียกว่า “My Alibaba” บนเว็บไซต์ Alibaba.com ที่ให้ผู้ขายบริหารจัดการธุรกิจออนไลน์ และติดตามดูการดำเนินงานได้ ส่วนแอปพลิเคชั่น “AliSupplier” บนมือถือก็มีการเพิ่มภาษาไทยด้วยเช่นกันจะทำให้ผู้ขายชาวไทยจัดการธุรกิจบนแพลตฟอร์ม ทั้งการบริหารร้านค้าและการขายได้ในที่เดียว เช่น การโพสต์สินค้า การตอบคำถามลูกค้าและคำขอใบสั่งซื้อ (RFQ) การสื่อสารแบบเรียลไทม์กับบายเออร์ และการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน รวมทั้งการประมูลคำค้นหา

นอกจากนี้ Alibaba.com ยังเปิดตัวเว็บท่าภาษาไทยที่ให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้ามาศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม และลงทะเบียนสมัครสมาชิก หรือติดต่อกับทีมผู้เชี่ยวชาญของ Alibaba.com เพื่อขอคำปรึกษาในการสมัครเข้าร่วมแพลตฟอร์มได้ โดยผู้สนใจเข้าชมได้ที่ https://supplier.alibaba.com/pages/thailand

นางสาวซาแมนต้า สุริวัณ ตึ๊ง หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และปฏิบัติการ Alibaba.com ประเทศไทย กล่าวว่า “การระบาดของโควิด-19 และตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ซื้อหันไปใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น โดยเห็นได้จากจำนวนการค้นหาสินค้าผ่านทางออนไลน์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าการซื้อขายแบบ B2B กำลังเปลี่ยนรูปแบบจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์”

“การเปิดตัวภาษาไทยสำหรับการลงทะเบียนและบริหารจัดการบัญชีในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการพัฒนาของเราเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวไปสู่การค้าโลกแบบใหม่ และคว้าโอกาสทางธุรกิจที่มีอยู่มากมายบนโลกออนไลน์”

หลังจากเกิดโควิด-19 Alibaba.com ยังยกระดับการสนับสนุนสำหรับผู้ขายรายใหม่มากขึ้น รวมถึงเปิดตัว “Alibaba.com Seller Training E-Course (ASTE)” หลักสูตรปฐมนิเทศที่ช่วยเหลือผู้ขายรายใหม่บน Alibaba.com ให้เปิดร้านค้า และได้รับคำสั่งซื้อภายใน 30 วันแรกหลังจากเริ่มต้นใช้งานแพลตฟอร์ม

และยังพัฒนาเครือข่ายให้บริการในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ต้องการความช่วยเหลือ ทั้งร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการจัดฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้ภายในประเทศ


นอกจากนี้ยังเปิดให้ผู้ส่งออกที่แม้ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีความสนใจ ก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาจากพันธมิตร คือ AJ e-commerce, BLI, Feyverly และ TDCX ได้ รวมทั้งมีการจัดสัมมนาผ่านเว็บเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจอีคอมเมิร์ชและการค้าโลก เป็นประจำทุกปี