ดิ้นสู้ศึกยักษ์อีคอมเมิร์ซบุก ค้าปลีก-สตาร์ตอัพงัดกลยุทธ์เสริมแกร่ง

เสริมแกร่งผู้ประกอบการ - ไพรซ์ซ่าจัดเสวนาระดมผู้ประกอบการชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงค้าขายออนไลน์ แลกเปลี่ยนความรู้เตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในปีหน้า หลังตลาดไทยกลายเป็นเป้าหมายของยักษ์ต่างชาติ

ค้าปลีก-สตาร์ตอัพเร่งปรับตัว รับมือยักษ์ใหญ่แดนมังกร-อเมซอน-เฟซบุ๊กบุกอีคอมเมิร์ซ เร่งเพิ่มบริการมัดใจลูกค้า “แอดไวซ์” สวอปหุ้นจับมือดีลเลอร์เข้า SET เสริมแกร่ง ฟาก”ดูโฮม” ย้ำบริการ-คุณภาพสู้ “เซลสุกิ” ขยายสู่ตลาดองค์กร ไม่หวั่นเฟซบุ๊กเปิดฟีเจอร์อีมาร์เก็ตเพลสเอง

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีน ทั้งอาลีบาบาที่เข้ามาทำตลาดในไทยแล้วผ่าน “ลาซาด้า” และเจดีดอทคอม ที่จับมือร่วมกับเซ็นทรัลกรุ๊ป ประกาศเปิด JD.co.th ราวเม.ย. 2561 ฝั่งผู้ประกอบการรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาอย่าง อเมซอน จะเข้ามาทำตลาดไทยในปีหน้าอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียรายใหญ่อย่าง “เฟซบุ๊ก” เพิ่งเปิดฟีเจอร์การใช้งานใหม่ marketplace ให้ผู้ใช้งานในไทย

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการ shopping search engine กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตสูงมาก เฉลี่ยปีละ 20 – 30% แต่มูลค่าตลาดยังมีสัดส่วนแค่ 1% ของค้าปลีกทั้งหมด จึงเชื่อว่าในปี 2561 จะยิ่งเติบโตสูงการพัฒนาอีเพย์เมนต์-ฟินเทค รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ของโลจิสติกส์ ทั้งการเข้ามาของผู้เล่นรายใหญ่รายใหม่ในตลาดไทย

ในส่วนของไพรซ์ซ่า ในปีหน้าจะเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานใหม่ “ไพรซ์ซ่า มันนี่” โดยจับมือกับพาร์ตเนอร์ให้บริการด้านการเงินและประกันภัย อาทิ สมัครบัตรเครดิต ซื้อประกันประเภทต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการจับมืออีมาร์เก็ตเพลสทั้งรายเดิมและรายใหม่ เพื่อเชื่อมต่อระบบให้ลูกค้าค้นหาและเปรียบเทียบสินค้าได้ครอบคลุม ซึ่งจากยอดใช้งานไพรซ์ซ่าปีนี้กว่า 125 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 50% สามารถปิดการขายให้กับพาร์ตเนอร์ได้ 2.81% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 60% ซึ่งปีหน้าตั้งเป้าจะเพิ่มในสัดส่วนเดียวกันนี้

รายใหม่ “สาดดีล” ดึงลูกค้า

นายยุทธนา จิตจรุงพร รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายธุรกิจออนไลน์ เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซไทยยังเติบโตได้ระดับ 1,000% แต่การเข้ามาของยักษ์ใหญ่ระดับโลก จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “สาดดีล” แข่งกันเพื่อดึงลูกค้า ทำให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรม “ไม่ลดราคาไม่ซื้อ” หรือ “ดีลฮันเตอร์” ซึ่งสร้างความลำบากให้กับผู้ประกอบการเดิม

“สิ่งที่ต้องทำคือ รู้จักลูกค้า รู้จักจุดแข็งตัวเองให้มากที่สุด ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลให้มาก กว่า 5 ปีีเริ่มทำออนไลน์ เราโตระดับ 100% และขยายเปิดร้านในอีมาร์เก็ตเพลสเพิ่ม เพื่อเลือกสินค้าให้เหมาะในแต่ละตลาด”

ขณะเดียวกันต้องเชื่อมข้อมูลจากออฟไลน์-ออนไลน์ให้เป็นออมนิชาแนล ซัพพอร์ตให้ครบถ้วน ตั้งแต่การตัดสินใจซื้อจนถึงการรับสินค้า โดยเทสโก้ ใช้คลับการ์ดเป็นเครื่องมือสำคัญ

สวอปหุ้นดีลเลอร์พาเข้า SET

ด้านนายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ ประธานบริหารสายงานการขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป จำกัด ร้านค้าปลีกสินค้าไอที กล่าวว่า นี่เป็นยุคที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก การแข่งขันรุนแรงทำให้กำไรเหลือน้อยลง ทั้งอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จากต่างประเทศเริ่มบุกไทย ดังนั้นเพื่อไม่ให้ผู้ค้ารายย่อยที่เป็นพันธมิตรต้องล้มหายไป บริษัทจึงได้พัฒนาโมเดลธุรกิจกับคู่ค้าเพื่อจับมือสู้

“แอดไวซ์เกิดจากโมเดลยี่ปั้ว ขายลูกค้ากลุ่มต่างจังหวัด จึงต้องหาจุดแข็งด้วยการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโดยใช้เว็บเบส มาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่เป็น B2B เพิ่งเริ่มขยายเป็น B2C คือขายออนไลน์ให้ผู้บริโภคทั่วไปมา 2 ปีรับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งต้องเดินสายคุยกับพาร์ตเนอร์ ให้มองเห็นว่า ในยุคนี้ไม่มีเชนไหนอยู่รอดได้ ถ้าไม่จับมือกันก็โดนคนอื่นมาแย่งตลาด ตอนนี้รายใหญ่

ก็บุกตลาดไทยกันเกือบครบแล้ว ซึ่งดีลเลอร์ที่เป็นแอดไวซ์ซิสเต็มในจังหวัดต่างๆ 108 แห่ง ได้สวอปหุ้นให้เข้ามาถือหุ้นในแอดไวซ์แล้ว เพื่อพาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2561”

ยอดขายออนไลน์เดือนแรก 3 แสนบาท ปัจจุบันเฉลี่ย 100 ล้านบาท/เดือน ปีนี้คาดจะปิดที่ 1 พันล้านบาท ส่วนปีหน้าจะให้ได้ถึง 1.5-1.7 พันล้านบาท ซึ่งแม้จะเป็นแค่ 10% ของยอดขายรวม แต่ยังเติบโตได้อีกเยอะ จึงเน้นทำระบบให้ใช้ง่าย สร้างระบบนิเวศซัพพอร์ต อย่างโลจิสติกส์ที่เป็นรายแรกที่การันตีส่งถึงมือได้ภายใน 3 ชั่วโมง ใน 5 จังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดการันตีเป็น Next Day โดยสินค้าในระบบเกือบ 20,000 รายการ

“สินค้าไอทีไม่ใช่แค่ราคา ลูกค้ายังต้องการความเชื่อมั่นว่าได้ของจริง มีบริการหลังการขายที่ดีกว่า ในส่วนของออฟไลน์ก็ขยายพื้นสาขาให้ใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความง่ายขึ้นของระบบนิเวศทั้งหมด ทั้งการขนส่งให้ลูกค้าได้เร็วขึ้น ซึ่งตั้งเป้าให้ส่งถึงภายใน 3 ชั่วโมงให้ได้ทุกจังหวัด การเป็นศูนย์ซ่อมให้ลูกค้า”

ดูโฮมปักหลัก “ครบถูกดี”

ขณะที่นายมารวย ตั้งมิตรประชา กรรมการผู้บริหาร บริษัท ดูโฮม จำกัด กล่าวว่า รายใหญ่นำสินค้าจีนเข้ามากระทบบริษัทแน่นอน แต่เชื่อว่าคอนเซ็ปต์ “ครบถูกดี ต้องที่ดูโฮม” จะสู้ได้ คือต้องมีครบ ราคาถูกมีคุณภาพ บริการดี โดยลงทุนขยายช่องทางออนไลน์มา 2 ปีแล้ว นอกเหนือจาก 8 สาขาที่มีในปัจจุบัน

“มีทีมงานเฉพาะราว 40 คนดูแล ตั้งแต่รายละเอียดสินค้า รีวิว การจัดซื้อ ดูแลลูกค้า ไปจนถึงเพย์เม้นต์เกตเวย์ที่เลือกได้ จะชำระเงินปลายทางก็ได้”

โดยมีสินค้าให้ซื้อออนไลน์ได้ 4 หมื่นรายการ ปีหน้าจะเพิ่มให้ครบทั้ง 1.6 แสนรายการเท่ากับที่ขายออฟไลน์ และขยับรายได้จากออนไลน์เท่าตัว”

รวมถึงพัฒนาเป็นออมนิชาแนลมากขึ้น โดยเปิดบริการใหม่ให้สั่งซื้อทางออนไลน์แล้วมารับสินค้าได้เองที่หน้าร้าน

แข่งราคาให้รอดด้วยบิ๊กดาต้า

นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) กล่าวว่า ต้องใช้บิ๊กดาต้ารับมือกับการแข่งขันทางตลาดให้มากขึ้น ส่วนเทรนด์ในปีหน้า จะเห็นการซื้อขายแบบ C2C ระหว่างผู้ค้าขายรายย่อยที่มากขึ้น จากความคุ้นเคยของผู้บริโภคและการเติบโตของอีเพย์เมนต์

“การจะอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันด้านราคา หมายถึงต้องลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ใช้เงินให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม การใช้ดาต้ารู้จักลูกค้าจึงสำคัญ”

เซลสุกิไม่หวั่นเฟซบุ๊ก

เสริมแกร่งผู้ประกอบการ – ไพรซ์ซ่าจัดเสวนาระดมผู้ประกอบการชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงค้าขายออนไลน์ แลกเปลี่ยนความรู้เตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในปีหน้า หลังตลาดไทยกลายเป็นเป้าหมายของยักษ์ต่างชาติ

ด้านนายเลอทัด ศุภดิลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซลสุกิ จำกัด ผู้ให้บริการระบบจัดการร้านค้าครบวงจร “sellsuki” เปิดเผยว่า ไม่กังวลที่เฟซบุ๊กเปิดฟีเจอร์ใหม่ด้านอีคอมเมิร์ซหลายตัวคล้ายกับที่บริษัทให้บริการลูกค้า เพราะเป็นพาร์ตเนอร์กับเฟซบุ๊กมา 3 ปีแล้ว

“การเป็นพาร์ตเนอร์ทำให้รู้เขารู้เรา เรารู้มานานแล้วว่าเฟซบุ๊กจะออกฟีเจอร์พวกนี้ แต่เซลสุกิได้เปรียบจากการอยู่ในตลาดนี้มาก่อนและสามารถเชื่อมต่อเป็นพาร์ทเนอร์ได้กับทั้ง LINE และโซเชียลมีเดียอื่นๆ โดยไม่ถูกมองว่าเป็นคู่แข่ง ซึ่งเฟซบุ๊กทำไม่ได้แน่นอน”

เซลสุกิมีบริการระบบจัดการให้ครบวงจร ตั้งแต่การโพสต์สินค้าขาย เพย์เมนต์ บริหารสต๊อกและส่งสินค้า ซึ่งเชื่อมโยงได้ทั้งหน้าร้านออฟไลน์ เว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย และเพิ่มศักยภาพการบริหารคำสั่งซื้อได้เพิ่มขึ้น 5 เท่าโดยไม่ต้องจ้างแรงงานเพิ่ม และมีเวลาเหลือไปพัฒนาสินค้า-การทำตลาดได้

ปัจจุบันมีลูกค้าราว 1,000 ราย ทั้งร้านค้ารายย่อยและแบรนด์ใหญ่ โดยรายได้ 60% มาจากค่าใช้บริการแพลตฟอร์ม อีก 30% มาจากการออกแบบระบบสำหรับโปรเจ็คพิเศษของแบรนด์สินค้าต่างๆ

ยอดขายรวมของลูกค้าที่ใช้งานระบบเซลสุกิ ปี 2559 อยู่ที่ 125 ล้านบาท/เดือน เฉลี่ย 144 คำสั่งซื้อ/เดือน/ลูกค้า ปีนี้อยู่ที่ 280 ล้านบาทต่อเดือน เฉลี่ยรายละ 300 คำสั่งซื้อต่อเดือน ตั้งเป้าว่าปีหน้าจะเติบโตเป็นเท่าตัว หลังจากเพิ่มฟีเจอร์ให้เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสได้ เพื่อให้ร้านค้าต่างๆ ได้ประโยชน์จากการทุ่มงบการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่