ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม 3 สิ่งที่ต้องรู้…ปรับองค์กรฝ่าโควิด

สัมภาษณ์

โควิด-19 เป็นปัจจัยหลักกระตุ้นให้หลายธุรกิจเร่งทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการปรับเปลี่ยนองค์กรเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย หนึ่งในนั้นคือธุรกิจให้คำปรึกษา

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “พีท เจียมศรีพงษ์” ผู้จัดการทั่วไป Thoughtworks ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี และให้บริการด้านซอฟต์แวร์จากสหรัฐอเมริกา ถึงการปรับตัวขององค์กรในไทย และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จากผลกระทบจากโควิด-19 และดิจิทัลเทคโนโลยี

“พีท” กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิดจะไม่หายไปในเร็ว ๆ นี้ อย่างแน่นอน และกำลังสร้างผลกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆ ในระยะยาว โดยขณะนี้เริ่มเห็นผลกระทบแล้วในหลายมิติ ทั้งในแง่พฤติกรรมผู้บริโภค ตลาดแรงงาน และองค์กรในทุกระดับ โดยเทรนด์การทำงานที่บ้านจะยังคงอยู่ต่อไป เพราะคนรู้สึกว่าทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำงานจากสำนักงานเท่านั้น

แนะองค์กรเตรียมแผนรับมือ

“องค์กรขนาดใหญ่ ๆ ต้องเตรียมแผนรับมือให้ดี เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปรับระบบการทำงานภายในมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถหาคนที่มีฝีมือจากทั่วโลกเข้ามาทำงานได้ ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กต้องนำดิจิทัล แพลตฟอร์มเข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจมากขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น จากเดิมที่องค์กรระดับนี้อาจไม่ต้องการ แต่เมื่อผลกระทบโควิดยังอยู่ การมีแพลตฟอร์ม อีโคซิสเต็มเชื่อมโยงจากจุดหนึ่งไปถึงอีกจุดหนึ่งได้ในเวลาอันรวดเร็ว ก็สิ่งที่องค์กรต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้อยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วให้ได้”

ขณะนี้ หลายองค์กรเริ่มเห็นแล้วว่าผลกระทบอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจึงเริ่มปรับตัวอย่างชัดเจน เพื่อเดินหน้าต่อ เพราะตระหนักว่าโควิดจะยังอยู่ยาว

ลงทุนไอทีแบบใช้ได้เลย

“บริษัทต่าง ๆ หันมาทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเพิ่มขึ้นในทุก ๆ กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะเซ็กเมนเตชั่นอย่างเฮลท์แคร์ และธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งแต่เดิมอาจไม่ได้คิดเรื่องนี้ก็ต้องปรับตัว และหันมาทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมากขึ้น เพราะต้องเปลี่ยนให้เร็ว คือโควิดทำให้ธุรกิจ รู้สึกว่า การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือการลงทุนด้านระบบไอที ซึ่งต้องทำเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ลงทุนเพื่อรออนาคตอีกแล้ว แต่ลงทุนแล้วต้องใช้งานได้ทันที สร้างคุณค่า สร้างรายได้ให้ธุรกิจได้เลย”

อย่างไรก็ตาม แม้หลายองค์กรจะตัดสินใจลงทุนด้านไอทีเพิ่มขึ้น แต่ในแง่กระบวนตัดสินใจของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน โดยบางองค์กรตัดสินใจเปลี่ยนทันที แต่บางแห่งยังกล้า ๆ กลัว ๆ หรือมีอยู่ในแผนแต่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน องค์กรไทยถือว่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆ

“ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด แต่หลายประเทศมีการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างชัดเจน และรวดเร็ว เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์”

3 สิ่งที่องค์กรไทยต้องปลดล็อก

“พีท” กล่าวว่า สิ่งที่องค์กรไทยต้องคำนึงถึงเพื่อให้การทรานส์ฟอร์มองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น มี 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.สิ่งที่จะ “ทำ” ต้องสร้างคุณค่า และเป็นสิ่งที่องค์กรอยากได้ และพร้อมที่จะทำแบบนี้ต่อเรื่อย ๆ หรือไม่ต้องทดลอง เรียนรู้ และปรับให้สอดรับกับแต่ละองค์กร

“ปัจจัยหลักที่ทำให้องค์กรไทย ไม่ประสบความสำเร็จในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น คือ ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่า สิ่งที่ทำหรือจะเปลี่ยนนั้นสร้างคุณค่าให้องค์กรหรือธุรกิจที่ทำอยู่ได้อย่างไร”

ส่วนที่ 2.ต้องหาโปรดักต์ฮีโร่ใหม่ ๆ และทำควบคู่ไปกับ core business เดิม เพราะหากฮีโร่โปรดักต์ใหม่ประสบความสำเร็จ ก็เท่ากับว่าจะมีรายได้เพิ่มแต่ถ้าไม่ดี ก็พัฒนาตัวใหม่เข้ามาอีก ซึ่งต้องทำให้เล็กที่สุดแต่สามารถสร้างรายได้ นั่นหมายถึงองค์กรอาจไม่ได้ขยายธุรกิจพร้อมกันทุกอย่าง แต่ค่อย ๆ เริ่มทดลองไป เช่น บริการเสริมสวยดีแตกธุรกิจออกมา บริการส่งอาหารดีแตกออกมา เป็นต้น ทำให้ในท้ายที่สุดมีบริการที่หลากหลาย อีกทั้งธุรกิจใหม่จะซัพพอร์ตธุรกิจเดิมที่มีอยู่

ส่วนที่ 3.วัฒนธรรมองค์กร การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นไม่ใช่แค่การเปลี่ยนทีมแต่ไม่เปลี่ยนหัวหน้า และยังแบ่งทีมอย่างชัดเจนว่าทีมนี้จะทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม แต่อีกทีมยังทำงานในแบบเดิม ๆ

“พีท” ย้ำว่า องค์กรในไทยมีความเข้าใจในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย เมื่อปรับแต่ทีม แต่หัวหน้าทีมไม่ได้เปลี่ยน ก็จะทำให้วิธีการคิดยังคงเป็นแบบเดิม ๆ ดังนั้นเมื่อองค์กรตัดสินใจจะทำ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” ก็ต้องปรับวิธีคิด ปรับวิธีการ กระบวนการใหม่ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับองค์กรไทย และเป็นข้อจำกัดที่ทำให้องค์กรไทยบางส่วนยังทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นไม่สำเร็จ

ที่ปรึกษางานพรึ่บรับดีมานด์พุ่ง

สำหรับธุรกิจที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี และให้บริการด้านซอฟต์แวร์เพื่อทรานส์ฟอร์มองค์กร เช่น “Thoughtworks” คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เพราะลูกค้าเพิ่มจำนวนขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งธุรกิจการเงิน, ค้าปลีก, เฮลท์แคร์ และการท่องเที่ยว

“เมื่อความต้องการสูงขึ้น เราก็พร้อมรองรับดีมานด์ที่เกิดขึ้น เนื่องจาก Thoughtworks เป็นบริษัทที่อยู่กับความเปลี่ยนแปลง ด้วยแนวคิดการทำงานแบบ agile หรือการทำงานเน้นผลลัพธ์มากกว่าขั้นตอน มีการนำบุคลากรจากหลายสายงานมาทำงานร่วมกันเป็นทีม เราเองก็อยู่กับโควิดมาเกือบ 2 ปีแล้ว มีพนักงานใหม่ของบริษัทที่ยังไม่ได้เข้าสำนักงานเลยก็มี แต่ก็ยังทำงานร่วมกันได้ เพราะมีช่องทาง มีวิธีการทำงานรองรับยุคนิวนอร์มอล โดยสามารถวัดประสิทธิภาพการทำงานได้ ทำให้ทุกอย่างยังสามารถเดินหน้าต่อได้”

“พีท” ทิ้งท้ายว่า การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นอาจจะเป็นทางออกของธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งมีงานหลายส่วนที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่การสื่อสารออกไปว่าจะทำ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” หรือเปลี่ยนแค่เว็บไซต์เท่านั้น แต่หมายถึง การปรับรูปแบบการทำงานทั้งหมด ตั้งแต่ “คน-วิธีการ-กระบวนการทำงาน” เพื่อให้ผู้ใช้บริการหรือลูกค้ารู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงได้ทันที

ซึ่งการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ไม่มีสูตรตายตัวว่าถ้าลงทุนด้านเทคโนโลยี และปรับทีมแล้วจะประสบความสำเร็จ เพราะมีอีกหลายส่วนผสม ซึ่งเป็นความยากที่แต่ละองค์กรจะต้องหาสูตรของตนเองให้เจอ