“เอ็ตด้า” คาดแผนเปิดประเทศหนุนอีคอมเมิร์ซ ปี’64 โต

เอ็ตด้าเปิดภาพรวมอีคอมเมิร์ซ ปี’64 คาดมูลค่าแตะ 4.01 ล้านล้านบาท จากปัจจัยหนุนปลายปี ทั้งมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาล แคมเปญกระจายวัคซีน

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า (ETDA) กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคในทุก ๆ มิติเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการทำงาน การเรียนที่บ้าน รวมถึงซื้อขายสินค้าที่ย้ายขึ้นมาบนช่องทางออนไลน์ และพฤติกรรมเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ทำให้ภาพรวมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในไทยขยายตัวขึ้น

โดยเอ็ตด้าสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในไทยปีนี้ เก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2564 จากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศ รวม 900,626 ราย โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ ครอบคลุมการสำรวจ 8 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมค้าปลีก ค้าส่ง 2.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 3.บริการอื่น ๆ 4.ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 5.การประกันภัย 6.การให้บริการที่พัก 7.การผลิตและการขนส่ง

ทั้งนี้ คาดว่าปี 2564 ตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีมูลค่า 4.01 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น B2C (business-to-customer) 2.03 ล้านล้านบาท B2B (business-to-business) 1.09 ล้านล้านบาท และ B2G (business-to-government) 0.89 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีมูลค่ารวม 3.78 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น B2C (business-to-customer) 2.17 ล้านล้านบาท B2B (business-to-business) 0.84 ล้านล้านบาท และ B2G (business-to-government) 0.77 ล้านล้านบาท

นายชัยชนะกล่าวว่า มูลค่ารวมตลาดอีคอมเมิร์ซปีนี้จะกลับมาเติบโตมากกว่าก่อนเกิดโควิด หรือในปี 2562 ที่มีมูลค่ารวม 4.05 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาล และการทำแคมเปญฉีดวัคซีนที่จะทยอยเกิดขึ้นปลายปีนี้

จากผลการสำรวจพบว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซขององค์กรขนาดใหญ่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ เนื่องจากสภาพตลาดเปลี่ยนไป โดยโควิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ฝั่งเอสเอ็มอีหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการค้าขายมากขึ้น โดยมูลค่าอีคอมเมิร์ซจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะมีมูลค่า 1,906 ล้านบาท ส่วนองค์กรขนาดใหญ่อยู่ที่ 1,217 ล้านบาท

สำหรับมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2564 ในรายอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 1,628,488.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.14% จากปีก่อน ข้อมูล ข่าวสาร และการสื่อสาร มีมูลค่า 477,293.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.28% จากปีก่อน และการผลิต มีมูลค่า 476,328.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.25% จากปีก่อน

นอกจากนี้จากการสำรวจยังระบุถึงการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ที่มีความสำคัญและกำลังมีผลบังคับใช้ว่า องค์กรขนาดใหญ่มีความพร้อมสูงถึง 73.43% โดยมีการเตรียมบุคลากรด้านการคุ้มครองข้อมูล 66.67% และมีการกำหนดมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 76.19% ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีมีความพร้อมเพียง 13.51% มีเพียง 45.67% ที่มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไว้แล้ว และมีการเตรียมบุคลากรด้านการคุ้มครองข้อมูล 26.53% ซึ่งถือว่ามีความพร้อมในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่