สงครามแบบใหม่ ของวงการปล่อยเงินกู้

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ยุคนี้เรียกว่าเป็นสงครามแอปกู้เงินต่อไปจะดุเดือดมากกว่านี้ ยุคก่อนการกู้เงินแบ่งเป็นในระบบและนอกระบบ ในระบบคือ กู้สถาบันการเงิน มีเอกสารควบคุมชัดเจน แบบที่ 2 คือ กู้เงินนอกระบบ บางคนเรียกว่า loan shark

การปล่อยกู้สมัยก่อนมีวิธีคำนวณ เช่น ทำเครดิตสกอริ่ง เอาเครดิตลูกค้ามาวิเคราะห์ มีสินทรัพย์ค้ำ ยุคนี้การปล่อยกู้มีเต็มอยู่แล้วในระบบ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ data หรือข้อมูล สังเกตได้ว่าทุกแอป

เช่น Shopee มี SPay Later คือซื้อสินค้าแล้วแบ่งจ่ายได้ ผ่อนได้ เป็นการปล่อยเงินกู้ให้ก่อนไปในตัว Shopee เริ่มนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าควรได้เครดิตเท่าไหร่ หรือ KBank ร่วมทุนกับ LINE เปิด LINE BK นำข้อมูลจาก LINE และ KBank มาวิเคราะห์ปล่อยกู้ให้ลูกค้า LINE

ผมลองเข้าไปดูในแอปฟินนิกซ์ (FINNIX) บริการปล่อยกู้ของ SCB วิธีการง่ายมากดาวน์โหลดแอป ถ่ายบัตรประชาชน ยืนยันตัวตน ทำ e-KYC ให้ข้อมูลที่จำเป็นไม่นานจะได้วงเงินออกมา

กดถอนเงินออกมาเข้าบัญชีเป็นเงินสดได้เลย ยุคนี้เป็นยุคที่ใครที่มี data หรือมีข้อมูลก็ปล่อยกู้ได้ ไม่ว่าจะเป็น Grab ปล่อยเงินกู้ให้ไรเดอร์ หรือ Wongnai x LINE MAN ก็มี กลายเป็นว่าใครมีข้อมูลเยอะก็อยากปล่อยกู้กันทุกคน

จุดนี้จึงเริ่มเกิดเป็นสงคราม ตอนนี้ทุกบริการทางออนไลน์ข้างหลังจะมีทีมที่จะเอา data เหล่านี้มาปล่อยเงินกู้ให้ลูกค้าของตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือธนาคารจะเริ่มสูญเสียลูกค้า

หรืออีกบริการคือพวก crowd funding ใครอยากกู้เงินทำธุรกิจ วิธีการคือมากู้เงินจากการระดมทุนหรือระดมเงินจากประชาชนทั่วไป เรียกว่า crowd funding ได้ เมืองไทยเองก็มีหลายเจ้า เจ้าที่ผมลงทุนเป็นประจำชื่อ PeerPower

ล่าสุด “แอร์เอเชีย” เปิดระดมเงินประมาณ 80 ล้านบาทใน PeerPower ใครสนใจจะนำเงินไปปล่อยกู้ให้แอร์เอเชียก็ลงได้ ดีลนี้ปิดไปแล้ว ผมได้ดอกเบี้ยประมาณ 6% ดีกว่าเก็บเงินไว้เฉย ๆ แต่ทุกอย่างมีความเสี่ยง ซึ่ง PeerPower เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เข้ามาช่วยดูแลและประเมินคนที่มาขอกู้ให้

จะเห็นว่า data เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อยากให้ทุกท่านลองมองว่าธุรกิจที่คุณทำอยู่ข้อมูลลูกค้าในมือมากแค่ไหน เข้าใจลูกค้ามากแค่ไหน การทำธุรกิจปล่อยกู้มีความท้าทายไม่กี่อย่างคือ

1.การประเมินความเสี่ยงของลูกค้าว่ามีความเสี่ยงขนาดไหน 2.วงเงินที่ลูกค้าควรจะได้คือเท่าไหร่ การปล่อยกู้ไม่ยาก แต่ที่ท้าทายที่สุดคือการเก็บเงิน จะติดตามเขาอย่างไร

ในแง่ดีสำหรับธุรกิจต่าง ๆ คือ คุณจะมีรายได้แหล่งใหม่ แต่สิ่งที่ผมเป็นกังวลคืออะไร ๆ ก็ผ่อนได้ กู้ได้หมดทำให้ตัวเลขการเป็นหนี้ของประเทศสูงขึ้นเรื่อย ๆ เท่าที่ผมเห็นมันกลายเป็นเทรนด์ของธุรกิจยุคนี้ สตาร์ตอัพใหม่ ๆ เรื่องนี้กลายเป็นไมนด์เซตไปเลยว่าหากมี data ก็จะปล่อยกู้

การปล่อยกู้มีหลายแบบคือ มีเงินเองกับไม่มีเงินเอง แต่ใช้ crowd funding คือมีตัวกลาง แหล่งเงินก็มาจากประชาชนทั่วไป การจะทำ crowd funding ได้ต้องมีใบอนุญาตอยู่ภายใต้การกำกับและควบคุมจาก ก.ล.ต.

การทำ crowd funding มี 2 มุมคือ1.หาคนที่ต้องการเงิน ซึ่งก็มี 2 แบบคือภาคธุรกิจ และบุคคล เท่าที่เห็นจะเป็นในภาคธุรกิจมากกว่าที่ต้องการระดมเงินไปทำธุรกิจต่อ

ซึ่งการที่ธุรกิจจะเข้ามาขอระดมเงินก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการทำ KYB (know your business) มีการตรวจสอบต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่ามีความเสี่ยงต่ำ เมื่อกู้ไปแล้วนำเงินมาคืนให้ประชาชนได้ ซึ่งตัวกลางต้องทำหน้าที่นั้น

2.หาคนที่ต้องการระดมเงินหรือเอาเงินมาให้บริษัทที่ต้องการเงิน ตรงนี้ ก.ล.ต.มีเกณฑ์ที่รัดกุมมาก เพราะต้องแน่ใจว่าคนที่จะเอาเงินมาปล่อยกู้ต้องมีความเข้าใจจริง ๆ มีตัวตนจริง เป็นเงินสะอาดจริง

การลงเงินก็มีลิมิตไว้เป็นการจำกัดความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เป็นเกณฑ์ที่ภาครัฐเองก็พยายามปกป้องนักลงทุนและผู้กู้ ทำให้การทำ crowd funding ในประเทศไทยมีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อย ๆ

ในฐานะนักลงทุนต้องบอกว่าดอกเบี้ยเมื่อเปรียบเทียบดูแล้วถือว่าดีเลยทีเดียว แต่ก็มีความเสี่ยงตามมาด้วย ต้องมีการประเมินและตรวจสอบบริษัทเหล่านั้นก่อนเสมอ

จุดเด่นเมื่อเราไปลงทุนผ่าน crowd funding แล้วจะมีการคืนเงินให้ทุกเดือนพร้อมดอกเบี้ย ท่านที่เป็นนักลงทุนลองเข้าไปศึกษาการลงทุนผ่านพวก crowd funding ดูน่าสนใจมากครับ


เช่นเดียวกันท่านที่ต้องการกู้เงิน การกู้กับแอปเหล่านี้ หรือ crowd funding เป็นแนวทางใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปี อยากให้ลองเปิดตาให้กว้าง เพราะยิ่งหาแหล่งเงินได้หลากหลาย ยิ่งต้นทุนต่ำเท่าไหร่ ในเชิงธุรกิจนั่นหมายถึงคุณจะมีความสามารถในการแข่งขันได้ดีกว่าธุรกิจอื่น ๆ