ทำความรู้จัก “NFT-JNFT” สินทรัพย์ดิจิทัลของนักสะสมงาน “ศิลปะ”

ทำความรู้จัก ‘NFT-JNFT’

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) ได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น bitcoin, ethereum, ripple

ซึ่งเปรียบได้กับสกุลเงินปกติ เช่น บาท, ดอลลาร์, หยวน และอื่น ๆ แต่เปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลและยังมี token digital หรือหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการเข้าร่วมลงทุน (investment token)

และการได้มาซึ่งสินค้าและบริการหรือสิทธิอื่น ๆ (utility token) ที่เฉพาะเจาะจงตามแต่จะตกลงกับผู้ออกโทเคน

สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการพูดถึงกันมากอีกตัวคือ “nonfungible Token” หรือ “NFT” กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้สร้างสรรค์งานศิลปะทั้งภาพวาด, การ์ตูน, เพลง, งานประติมากรรม

และเกมเป็นต้น เปรียบได้กับคริปโทอาร์ต หรือเหรียญที่มีความเฉพาะตัว ใช้สำหรับการซื้อขายผลงานศิลปะที่มีการนำมาแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัล

แม้ในไทยจะยังไม่อนุญาตให้ซื้อขาย ได้อย่างถูกกฎหมายของประเทศไทย แต่ในต่างประเทศมีศิลปินที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายผลงานในรูปแบบ NFT แล้วไม่น้อย

เช่น ไมก์ วิงเคลแมนน์ศิลปินชาวอเมริกันที่รู้จักในชื่อ “บีเพิล” กับผลงานศิลปะดิจิทัล 5,000 รูป ทำลายสถิติใหม่จากการขายงานศิลปะในรูปแบบ NFT ราคาสูงถึง 69 ล้านเหรียญสหรัฐ

JNFT เสือปืนไว

ในบ้านเรามีผู้พัฒนาระบบที่สนใจเปิดตลาด NFT แล้ว เช่น “JNFT” ในเครือเจมาร์ท “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ถึงกระแสความนิยม โอกาส และอนาคตในประเทศไทย

“ธนวัฒน์” เล่าว่า ในบ้านเรามีผู้ประกอบการหลายรายเปิดตัวบริการ NFT เช่น Bitkub ที่ประกาศเปิด Bitkub NFT Market เว็บเทรดเหรียญคริปโทฯ FANS (fans token) เมื่อปลายปีที่แล้ว

หรือเวิร์คพอยท์ร่วมกับ SCB 10X พัฒนาแอปพลิเคชั่น “T-POP” รุกตลาดดิจิทัลไลฟ์สไตล์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และจะพัฒนาแพลตฟอร์มให้รองรับการทำ NFT

ล่าสุด KBTG เครือแบงก์กสิกรฯก็เปิดตัว Coral แพลตฟอร์ม NFT marketplace รวมถึงบริษัทเองกับ “JNFT” อีมาร์เก็ตเพลซในการเทรดของสะสมและผลงานศิลปะ

ลุ้น “ก.ล.ต.” ไฟเขียว

แต่ทั้งหมดยังไม่สามารถเปิดให้มีการซื้อขาย NFT อย่างเป็นทางการได้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังไม่อนุญาตให้มีการตั้งศูนย์ซื้อขายให้บริการ “utility token” พร้อมใช้ หรือคริปโทเคอร์เรนซีใน 4 ลักษณะคือ

1.เหรียญที่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน โดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโซเซียล (meme token) 2.เกิดจากความชื่นชอบส่วนบุคคล (fan token) 3.โทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือสิทธิใด สิ่งใดสิ่งหนึ่ง

หรือที่เฉพาะเจาะจงโดยไม่สามารถใช้โทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกันและจำนวนเท่ากันแทนกันได้ NFT (nonfungible token) และ 4.โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายเอง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน (blockchain)

“ธนวัฒน์” ขยายความว่า ปัจจุบัน ก.ล.ต.ควบคุม 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset exchange) ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset broker)

และผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset dealer) แต่ในส่วนการเทรด NFT อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะอยู่ในการกำกับดูแลส่วนไหน หรืออาจต้องออกหลักเกณฑ์ใหม่

“ก.ล.ต.อาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเกรงจะเกิดการหลอกลวงขึ้น แต่คาดว่าน่าจะมีข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ เพื่อกำหนดทิศทางตลาด NFT ในไทยให้ชัดเจน”

ช้าเสียโอกาสให้ต่างชาติ

หากดูพื้นฐาน NFT แล้ว “ธนวัฒน์” ระบุว่าเป็นคริปโทฯ ที่มีความ “ยูนิค”ไม่เหมือนใครทดแทนกันไม่ได้จึงเหมาะกับการใช้เทรดของสะสมและผลงานศิลปะ

โครงสร้าง NFT แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.การสร้างเหรียญเพื่อเทรด 2.การขายในตลาดแรกหมายถึง ศิลปินเป็นผู้ขายรอบแรก เช่น ศิลปินวาดภาพดิจิทัลอาร์ต และขายให้นาย ก. นาย ข. เป็นต้น

ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ ก.ล.ต.ไม่มีปัญหา แต่ในส่วนที่ 3.การขายต่อในตลาดรอง ในอีมาร์เก็ตเพลซ “ก.ล.ต.” เกรงว่าจะมีการเกิดเก็งกำไรเพราะของสะสม ผลงานศิลปะเหล่านี้ไม่มีราคากลาง

แต่เป็นความพึงพอใจ ความชื่นชอบส่วนตัวของผู้ซื้อและผู้ขาย เนื่องจากผลงานนั้นอาจมีเพียงชิ้นเดียวในโลกจึงยังต้องตีความว่าต้องออกใบอนุญาตแบบไหน หรือต้องกำกับดูแลอย่างไร

เมื่อ ก.ล.ต.ยังไม่เปิดให้เทรดในประเทศไทย แต่นักลงทุนรุ่นใหม่ออกไปเทรด NFT ในต่างประเทศ หรือศิลปินนำผลงานออกไปขายในต่างประเทศแล้วนั่นหมายถึงการสูญเสียโอกาสและรายได้จากค่าธรรมเนียมและภาษีให้ต่างชาติด้วย

“ถ้าผู้กำกับดูแลยังเดินในทิศทางเดิม ถ้าต้องขออนุญาตทุกอย่าง ประเทศคงจะเดินลำบาก เพราะโลกเปลี่ยนเร็วควรเปิดให้ทดลองทำแล้วเรียนรู้ไปพร้อมกัน อะไรทำได้ทำไม่ได้ก็ค่อยออกกฎมากำกับ”

ในส่วน JNFT พร้อมแล้ว เนื่องจากเปิดตัวตั้งแต่กลางปี มีการเปิดตัวศิลปิน เช่น โน้ส-อุดม แต้พานิช, บอย ท่าพระจันทร์-อรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย, ปาล์มมี่-อีฟ ปานเจริญ, ปั๊ป โปเตโต้, ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล เป็นต้น

“JNFT Marketplace เป็นพื้นที่ซื้อขาย ประมูลผลงานศิลปะที่เป็นดิจิทัลบนระบบบล็อกเชนแบบไร้ศูนย์ (decentralized) ผ่านการยืนยันสิทธิแทนการเป็นเจ้าของด้วยเหรียญที่ไม่สามารถแทนค่าหรือทำซ้ำได้ (nonfungible token) รองรับงานศิลปะที่เป็นไฟล์ดิจิทัล”

พื้นที่สร้างรายได้ศิลปิน

ขณะเดียวกัน ยังเป็นพื้นที่โอกาสและรายได้ให้ศิลปินไทย โดยผลิตภัณฑ์ของ NFT ค่อนข้างกว้าง ทั้งภาพวาดจริง รูปถ่าย ผลงานศิลปะที่เป็นไฟล์ดิจิทัล

สำหรับผลงานที่จะขายได้ต้องมีพื้นฐาน 3 ส่วนคือ ยูนิค เช่น มีชิ้นเดียวในโลก 2.มีเรื่องราว และ 3.มีฐานแฟนคลับ

“ต้องยอมรับว่าการซื้อขาย NFT ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเก็งกำไร เพราะผู้บริโภครู้สึกว่า NFT เป็นของใหม่ ถ้าเข้ามาในตลาดได้ก่อนก็จะเก็งกำไรได้ อาจไม่ได้ซื้อเพราะชอบในผลงานศิลปิน”

“ธนวัฒน์” ทิ้งท้ายว่า แม้ NFT จะได้รับความนิยมทั่วโลก แต่ก็ต้องระมัดระวังเนื่องจากมีคนบางกลุ่มที่ต้องการเก็งกำไรจากผลงานเหล่านี้ ทั้งต้องระวังการโดนแฮก


เพราะยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแล เรื่องการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินที่มีการเข้ารหัสเพื่อใช้ในการป้องกัน และยืนยันธุรกรรมผ่านระบบบล็อกเชน