“กวีบุ๊ค” อีบุ๊กสัญชาติไทย ธุรกิจที่เริ่มต้นจากข้อจำกัดและความรัก

‘กวีบุ๊ค’ อีบุ๊กสัญชาติไทย ธุรกิจที่เริ่มต้นจากข้อจำกัดและความรัก

ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมาธุรกิจสิ่งพิมพ์น่าจะเป็นธุรกิจแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่น แม้จะพยายามปรับตัวอย่างมาก แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับบรรดาสำนักพิมพ์,ผู้ผลิตหนังสือ หรือแม้แต่ร้านหนังสือเอง เพราะไม่ใช่แค่การปรับรูปแบบธุรกิจเดิมให้เป็น “ดิจิทัล” หรือเปลี่ยนจากหนังสือเล่มเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊ก (e-Book) เท่านั้น

หลายปีผ่านไปตลาดอีบุ๊กเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการบุกเบิกของบรรดาแพลตฟอร์มร้านหนังสือออนไลน์ทั้งหลาย หนึ่งในนั้นมี “กวีบุ๊ค” (Kawebook) ของบริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) สตาร์ตอัพสัญชาติไทยรวมอยู่ด้วย ซึ่งต้องบอกว่าไม่ธรรมดา ทั้งในแง่จุดเริ่มต้นธุรกิจที่มาจากความรักในการอ่านของผู้ก่อตั้ง ล่าสุดยังเพิ่งนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อไม่กี่วันก่อน (25 ต.ค. 2564)

‘กวีบุ๊ค’ อีบุ๊กสัญชาติไทย ธุรกิจที่เริ่มต้นจากข้อจำกัดและความรัก

จากความชอบสู่ธุรกิจ

“จรัญพัฒณ์ บุญยัง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) หรือ GLORY ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านวรรณกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลภายใต้ชื่อ “Kawebook” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ธุรกิจอีบุ๊กไม่ใช่แค่การยกคอนเทนต์กลุ่มหนังสือขึ้นมาบนออนไลน์ จึงไม่ใช่ว่าสำนักพิมพ์หรือผู้ผลิตหนังสือแบบเดิมจะปรับหนังสือเล่มเป็นดิจิทัลแล้วจะประสบความสำเร็จเหมือนเดิม เพราะการขึ้นมาบนออนไลน์เหมือนจะเป็นอีกธุรกิจ

“แม้จะเป็นสินค้าที่ใกล้เคียงกันคือ หนังสือเหมือนกัน แต่ลักษณะการเป็นดิจิทัลกับรูปเล่มไม่เหมือนกัน ซึ่งเป้าหมายของบริษัทเราคือ การเปิดพื้นที่ให้สำนักพิมพ์และนักเขียนมาลงขายได้บนแพลตฟอร์มกวีบุ๊ค

แม้ว่าผู้อ่านจะรู้จักกวีบุ๊คว่ามีจุดเด่นในกลุ่มวรรณกรรมจีนและญี่ปุ่นแต่ในแง่ของจำนวนแล้วเรามีคอนเทนต์ของนักเขียนไทยจำนวนมากด้วยเช่นกัน”

“จรัญพัฒณ์” เล่าว่า ช่วงที่เขาเริ่มต้นธุรกิจประมาณปี 2559 อุตสาหกรรมหนังสือทั้งแมกาซีน นักเขียน นักแปล หรือแม้กระทั่งนักเขียนนิยายในออนไลน์เริ่มซบเซา นักเขียนออนไลน์บางคนก็เขียนไม่จบหรือเลิกไปบ้าง

แต่โดยส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตั้งแต่สมัยเรียนจึงมีแนวคิดและเป้าหมายว่าจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือต่ออย่างไร ซึ่งในขณะนั้นก็เริ่มมีแพลตฟอร์มอีบุ๊กเปิดในไทยแล้ว เช่น อุ๊คบี และ Meb แต่ยังไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่มีโมเดลธุรกิจที่นำเข้าวรรณกรรมจากต่างประเทศ และส่งออกวรรณกรรมไทยไปต่างประเทศ

เปลี่ยนข้อจำกัดเป็นโมเดลธุรกิจ

“จรัญพัฒณ์” บอกว่า ด้วยทุนในช่วงเริ่มต้นมีเพียง 4 ล้านบาท ซึ่งถือว่าจำกัดมาก ๆ ทำให้เขาต้องคิดหาโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่น ๆ ซึ่งในขณะนั้นส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเปิดพื้นที่ให้นักเขียนและสำนักพิมพ์ต่าง ๆ มาวางขายผลงาน

“ผมคิดว่าถ้าเราเริ่มจากการทำเหมือนคนอื่นเราก็คงสู้เขาไม่ได้ จึงเริ่มต้นด้วยการไปหาคอนเทนต์ที่ต่างออกไป โดยนำเข้าคอนเทนต์จากต่างประเทศ ข้อดีของการนำวรรณกรรมต่างประเทศเข้ามาคือ วรรณกรรมเรื่องนั้น ๆ ได้รับความนิยมอยู่แล้ว และเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักอ่าน ถ้าติดต่อนำเข้ามาได้บริษัทเองก็จะมีคอนเทนต์ของตัวเองถือเป็นจุดแข็งที่ต่างจากรายอื่น ๆ ในเวลานั้นได้”

โดยในช่วงเริ่มต้นราวปี 2560 บริษัทก็มีคอนเทนต์วรรณกรรมที่ได้ลิขสิทธิ์ของตัวเองแล้ว 20-30 เรื่อง

“จุดที่ทำให้สตาร์ตอัพไทยไม่ประสบความสำเร็จคือ ทุ่มกำลังทั้งหมดลงไปก่อน ถ้าขาดทุนก็หานักลงทุน หาทุนเข้ามาเติม เรียกว่ายอมขาดทุนก่อนเพื่อสร้างโอกาสในอนาคต แต่แนวคิดของเราต่างออกไปคือ การจำกัดความสูญเสียออกไป ก่อหนี้ให้น้อยที่สุดและมีกระแสเงินสดไว้ก่อน”

“จรัญพัฒณ์” ขยายความว่า ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ขณะที่การจะมีคอนเทนต์ของตนเองได้จะต้องมีต้นทุนค่าลิขสิทธิ์ และต้องจ้างนักแปล สมมุติถ้าจ้างนักแปลเดือนละ 30,000 บาท เท่ากับว่าเงินที่มีจะจ้างได้ไม่นาน สวนทางกับแพลตฟอร์มอีบุ๊กที่ต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างตลาด สร้างฐานคนอ่านเป็นที่มาของโมเดลการแบ่งส่วนแบ่งรายได้กับนักเขียน/นักแปล “ทำให้การบริหารสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น เพราะมีรายได้เข้ามาก่อนแล้วจ่ายทีหลัง”

อ่านฟรีก่อน จ่ายทีหลัง

“จรัญพัฒณ์” กล่าวว่า โดยส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ทำให้เข้าใจพฤติกรรมนักอ่านจนสามารถนำมาแปลงเป็นโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์พฤติกรรมนักอ่านรุ่นใหม่ โดยแพลตฟอร์ม “กวีบุ๊ค”จะเปิดให้อ่านฟรีก่อนเพื่อให้นักอ่านได้ทดลองอ่านก่อน ถ้าถูกใจก็ค่อยจ่ายเงิน เฉลี่ยตอนละ 4 บาท

สำหรับโมเดลการจ่ายเงินของกวีบุ๊คเรียกว่า “กำลังใจ” เมื่อผู้อ่านถูกใจนิยายก็สามารถเติมเงินเพื่อสนับสนุนนักเขียนได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ (1 กำลังใจ เท่ากับ1 บาท)

ขณะที่นักเขียนก็มีรายได้โดยสามารถถอนเงินออกจากระบบได้ หรืออั้งเปา(1 อั้งเปา เท่ากับ 0.9 บาท) ภายในแพลตฟอร์มกวีบุ๊คมีหนังสือนิยายและการ์ตูนให้เลือกอ่านหลากหลายแบ่งเป็นหมวดหมู่ เช่น หมวดกำลังภายใน แฟนตาซี ย้อนยุค เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีนักเขียนอิสระที่เข้ามาเขียน (user generate content) ทำให้บนแพลตฟอร์มมีคอนเทนต์นิยายที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น ๆ ต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีฟีเจอร์คอมเมนต์ช่วยให้ผู้อ่านมีปฏิสัมพันธ์กับนักเขียนได้

ชิงเค้กอีบุ๊กไทย 5 พันล้าน

หากย้อนกลับไปปี 2560 อุตสาหกรรมอีบุ๊กในไทยไม่ได้เติบโตมากนัก อ้างอิงข้อมูลจาก The Global Entertainment & Media Outlook 2018-2020 พบว่าปี 2560 ตลาดอีบุ๊กทั่วโลกมีมูลค่า 763,491 ล้านบาทและคาดว่าในปี 2565 จะเพิ่มเป็น 1,077,811 ล้านบาท รายที่ครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่ในโลกคือ Amazon Apple และ Google

ส่วนอุตสาหกรรมอีบุ๊กในไทยปี 2560 มีมูลค่าเพียง 2,960 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2565 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 5,705 ล้านบาท มีปัจจัยหลักมาจากจำนวนคนใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นถึง 90.66 ล้านเลขหมาย มากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 69.88 ล้านคน

ถอดรายได้กวีบุ๊ค

“ตลาดอีบุ๊กในไทยมีโอกาสโตต่อเนื่อง แม้จะมีผู้เล่นหลายรายและแบรนด์กวีบุ๊คอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเหมือนแพลตฟอร์มรุ่นพี่ ๆ แต่ในแง่ของกำไรแล้วถือว่าเป็นอันดับ 2 ในไทย”

สำหรับผลดำเนินการปี 2561 มีรายได้รวม 43.38 ล้านบาท มีกำไร 12 ล้านบาท ส่วนปี 2562 มีรายได้รวม 75.77 ล้านบาทโต 72% จากปีก่อนมีกำไร 14.05 ล้านบาทและปี 2563 มีรายได้รวม 79.80 ล้านบาทโต 6% จากปีก่อนมีกำไร 13.99 ล้านบาท

ส่วนช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มิถุนายน 2564) มีรายได้รวม 45.95 ล้านบาทโต 19% จากช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิ 7.40 ล้านบาท

ขยายแพลตฟอร์มเจาะผู้หญิง

ทิศทางธุรกิจจากนี้มีเป้าหมายที่จะส่งออกวรรณกรรมไทยไปยังประเทศอื่น ๆ เบื้องต้นจะเริ่มจากการขยายตลาดเข้าไปในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักก่อน เพื่อรองรับการขยายแพลตฟอร์ม อ่าน เขียน หนังสือออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ

อีกส่วนเตรียมจะเปิดตัวแพลตฟอร์ม Jinoval เพื่อขยายกลุ่มผู้หญิงมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าผู้ชายอายุ 18-40 ปีเป็นหลัก โดยแพลตฟอร์มใหม่จะมีการพัฒนาฟีเจอร์ ที่โดนใจกลุ่มนักอ่านผู้หญิงมากขึ้น รวมถึงจะเพิ่มลิขสิทธิ์เรื่องแปลทั้งในกลุ่มวรรณกรรมจีน ญี่ปุ่น คาดว่าจากกลยุทธ์ที่วางไว้จะทำให้รายได้ปี 2565 โตขึ้น 20-40% จากปีนี้