กสทช. ออกเกณฑ์ใหม่ ยืนยันตัวตนผู้ส่ง SMS ปิดทางมิจฉาชีพ

โหลดแอปพลิเคชั่น

กสทช. ออกเกณฑ์ใหม่ ผู้ส่งเอสเอ็มเอส ต้องยืนยันตัวตนที่ชัดเจน หวังลดจำนวนเอสเอ็มเอสหลอกลวง ชักชวนเล่นพนันออนไลน์ และลามกอนาจาร

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวถึงผลจากการติดตามและกำกับดูแลกรณีมิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (sms) ที่มีเนื้อหาในลักษณะหลอกลวง การชักชวนเล่นพนันออนไลน์ และลามกอนาจารว่า ล่าสุด กสทช. ได้ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โอเปอเรเตอร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางหลักเกณฑ์ใหม่ที่ชัดเจน เพื่อดูแลการส่งเอสเอ็มเอส

โดยหลักเกณฑ์การส่งเอสเอ็มเอสใหม่นี้ ได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อความ และการกำหนดชื่อ Sender name ซึ่งจะเริ่มจากต้นทางของการส่ง SMS จากผู้ให้บริการเนื้อหา ดังนี้ 1.ผู้ให้บริการเนื้อหาต้องมีระบบยืนยันตัวตนของลูกค้าที่มาซื้อ SMS ที่ชัดเจน และตรวจสอบได้ 2.ข้อความใน SMS และชื่อ Sender name ต้องไม่ให้ลูกค้ากำหนดเองได้โดยอิสระแต่ต้องแจ้งผ่านผู้ให้บริการทราบก่อน 3.การกำหนด Sender name ต้องไม่มีลักษณะเป็นเลขหมายโทรศัพท์ 4.หากชื่อ Sender name ตรงกับ หรือคล้ายกับ ชื่อบริษัท หน่วยงาน หรือเครื่องหมายการค้า ทางผู้ให้บริการสามารถขอเอกสารจากลูกค้าในการรับรอง หรือการได้รับความยินยอมให้ใช้ชื่อจากเจ้าของชื่อบริษัท หน่วยงาน หรือเครื่องหมายทางการค้านั้นๆ ได้ 5.ข้อความไม่ควรมี link เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่อการกระทำผิด

นายไตรรัตน์ ย้ำว่า ผู้ส่งข้อความเอสเอ็มเอส ต้องมีการยืนยันตัวตนที่ชัดเจน โดยต้องแจ้งต่อโอเปอเรเตอร์ หรือผู้ส่ง และไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อหมายเลขโทรศัพท์ในการส่ง เนื่องจากอาจจะใช้เบอร์ปลอม หรือ กรณีที่ชื่อการส่งไปตรงกับบริษัท หรือ ธนาคาร ก็ต้องมีหนังสือรับรอง เพื่อยืนยัน ป้องกันการหลอกลวง โดยกลุ่มที่ส่งเอสเอ็มเอสชักชวนเล่นพนัน สื่อลามกอนาจารจะเริ่มดำเนินการทันทีตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ส่วนกรณีสินเชื่อ อยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น

“กรณี ธนาคาร หรือ บริษัทสินเชื่อที่จะส่งเอสเอ็มเอส จะยึดตามที่ได้รับการยืนยันจาก ธปท. เท่านั้น ซึ่งจะให้ธนาคารส่งเฉพาะข้อความที่มีความสำคัญก่อน เช่น OTP เป็นต้น ส่วนโฆษณาขายสินค้าบริการของธนาคารจะให้ประชาชนเลือกอีกครั้ง ว่าจะรับหรือไม่รับเอสเอ็มเอสเหล่านี้ ซึ่งคาดว่าแนวทางใหม่นี้จะลดจำนวนการส่งเอสเอ็มเอสหลอกลวงลงได้อย่างแน่นอน”

สำหรับแนวปฏิบัติในการรวบรวมข้อมูล และการดำเนินการกรณีพบข้อความที่ผิดกฎหมายที่จะใช้ในการดำเนินการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และสำนักงาน กสทช. นั้น สำนักงานฯ กำหนดให้ 1.ผู้ให้บริการต้องส่งรายชื่อ Sender name ให้สำนักงาน กสทช. รวบรวม 2.หากทางตำรวจต้องการข้อมูลของผู้ส่งข้อความจาก Sender name ที่กระทำผิดกฎหมายจะได้ประสานสำนักงาน กสทช. เพื่อขอข้อมูลผู้ให้บริการที่เป็นต้นทางการส่งข้อความดังกล่าว ก่อนออกหมายฯ เพื่อขอข้อมูลส่งข้อความ ไปยังผู้ให้บริการ 3.สำนักงาน กสทช. จะแจ้งผู้ให้บริการทราบกรณีการขอหมายฯ จากตำรวจเพื่อให้ผู้ให้บริการเตรียมข้อมูล โดยเมื่อผู้ให้บริการได้รับหมายแล้ว จะต้องให้ข้อมูลแก่ตำรวจโดยไม่ชักช้า