QUE Q ตั้งรับเปิดประเทศ ลุยงานโปรเจ็กต์-ปรับแผนระดมทุน

ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบในหลายแง่มุม ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทันกับสิ่งใหม่-โอกาสใหม่

ไม่เว้นแม้แต่ผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ตอัพที่ถนัดเรื่องการปรับตัวอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว แต่จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย “คิว คิว” (QUE Q) ก็เป็นหนึ่งในนั้น

“รังสรรค์ พรมประสิทธิ์” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นจองคิว “QUE Q” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวต่อเนื่องเกือบ 2 ปี

ทำให้บริษัทเองต้องปรับตัวอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างรายได้หลักของบริษัทอิงอยู่กับการจองคิวร้านอาหาร ซึ่งบรรดาร้านอาหารต่าง ๆ ล้วนได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์

ทำให้รายได้ของบริษัทหายไปเกือบหมดเช่นกัน ที่ผ่านมาจึงมีการปรับโครงสร้างรายได้ใหม่ โดยหันไปเน้นการทำงานในลักษณะที่เป็น “โปรเจ็กต์” มากขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบเข้าไปเชื่อมต่อกับหลายแพลตฟอร์มทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน

เขย่าโครงสร้างรายได้ใหม่

“รังสรรค์” ขยายความต่อว่า ได้นำเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์ต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการจองคิววัคซีนให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

เช่น ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค, เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, ไอคอนสยาม, ศูนย์บริการฉีดวัคซีนที่พัทยา และศูนย์บริการฉีดวัคซีนโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นต้น

รวมถึงการให้บริการจองคิวจุดตรวจเชิงรุกผ่านแพลตฟอร์ม QUE Q เช่น จุดตรวจเชิงรุกพระโขนง คลองสาน จุดตรวจคัดกรองโครงการลมหายใจเดียวกันกลุ่ม ปตท. เป็นต้น

“บริการจองคิวก็ยังทำต่อแต่ขยายไปในกลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น นอกเหนือไปจากร้านอาหาร เช่น บริการจองคิวเข้าอุทยานแห่งชาติ จองคิวโรงพยาบาล จองคิวร้านทำผม เสริมสวย สปา

เพื่อประคองตัวและรักษาการเติบโตของธุรกิจไว้ ทำให้โครงสร้างรายได้ของบริษัทเปลี่ยนไป ปัจจุบันรายได้หลักมาจากงานโปรเจ็กต์มากขึ้น”

พัฒนาแพลตฟอร์มหนุนเปิดประเทศ

สำหรับโปรเจ็กต์สำคัญในปีนี้อยู่ที่การเข้าไปเป็นทีมงานเบื้องหลังพัฒนาระบบ web-based ของเว็บไซต์ Thailand Pass ร่วมกับสํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. เพื่อเพิ่มความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

โดยระบบดังกล่าวจะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 พ.ย.เป็นต้นไป และอยู่ระหว่างการร่วมมือกับภาครัฐในการเข้าไปพัฒนาระบบรองรับมาตรการเปิดเมืองของรัฐบาล แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้คาดว่าจะเปิดตัวภายในปีนี้

“รังสรรค์” เล่าถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะรองรับการเปิดเมืองว่าโปรเจ็กต์นี้จะใช้สำหรับคนในประเทศเพื่อให้สอดรับกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ เพราะเชื่อว่าวิถีชีวิตผู้บริโภคหลังโควิดจะเปลี่ยนไป

โดยจะมีการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อลดความหนาแน่นในการเข้าใช้บริการสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะเข้าไปใช้บริการในอุทยานแห่งชาติพร้อม ๆ กันก็จะมีความหนาแน่น ทั้งเจ้าหน้าที่ต้องคอยตรวจเช็กใบรับรองการฉีดวัคซีน และวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองก่อนเข้าใช้บริการทำให้เข้าพื้นที่ล่าช้า

ยังไม่นับกรณีที่ต้องตรวจสอบว่าใบรองรับการฉีดวัคซีนเป็นของจริงหรือปลอม ระบบนี้จะเข้าไปช่วยให้การเข้าใช้พื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ใช้บริการไม่ต้องรอคิวนาน โดยจะต้องลงทะเบียนล่วงหน้ามาก่อน เป็นต้น”

ขณะเดียวกัน บริษัทยังร่วมมือบริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีโออาร์ ในการเข้าไปสนับสนุนการบริหารพื้นที่ร้านอาหารในสถานีบริการน้ำมัน

ด้วยการนำระบบเข้าไปใช้กับร้านอาหารในปั๊มน้ำมัน ปตท. เช่น ลูกค้าที่ใช้บริการในปั๊มน้ำมัน ปตท.จะสามารถสั่งอาหารและจ่ายเงินได้ผ่านแอปพลิเคชั่น QUE Q โดยไม่ต้องลงจากรถ

เพราะจะมีพนักงานนำอาหารมาส่งให้ถึงรถ คาดว่าจะเริ่มทดลองระบบนี้ในปลายเดือน พ.ย. หากประสบความสำเร็จก็ขยายไปให้บริการในร้านอาหารกลุ่มอื่น ๆ ด้วย

พลิกเกมระดมทุนใหม่

“แม้ช่วงแรก ๆ ของโควิดจะทำให้รายได้ของบริษัทหายไป แต่เมื่อปรับตัวได้โควิดก็เป็นปัจจัยบวก เพราะเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนสำคัญของผู้บริโภค และเป็นความโชคดีของเราด้วยที่ก่อนเกิดวิกฤตโควิดเพิ่งได้เงินจากการระดมทุน series A จาก True และ Bon Angels Venture Partners ราวกลางปี 2562

จึงนำมาพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นใหม่ ๆ พอเกิดโควิดเราก็ยังไม่หยุดพัฒนาโซลูชั่นและขยายบริการใหม่ ๆ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไว้ เมื่อรัฐบาลเปิดประเทศบริษัทจึงพร้อมจะกระโดดมาสร้างรายได้และสร้างการเติบโตได้ทันที”

อย่างไรก็ตาม การระดมทุนยังเป็นข้อจำกัดของธุรกิจสตาร์ตอัพไทย ประกอบกับโควิดทำให้ตลาดทุนเปลี่ยน ผู้ลงทุนโดยเฉพาะกองทุนต่าง ๆ มองหาความเป็นไปได้ทางธุรกิจและเลือกมากขึ้น

โดยจะเลือกลงทุนเฉพาะกับกลุ่มสตาร์ตอัพที่มีการเติบโตและมีความสำเร็จแล้ว ซึ่งมักเป็นสตาร์ตอัพในกลุ่ม series B ขึ้นไป รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology) เท่านั้น

แต่สำหรับบริษัทเองไม่จำเป็นต้องระดมทุนในรูปแบบเดิม แต่จะเปลี่ยนรูปแบบมายังการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะชัดเจนขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

“ทันทีที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ เราก็พร้อมรุกต่อทันทีเพราะได้เตรียมทุกอย่างไว้แล้ว คาดว่าปีนี้จะมีรายได้มากกว่าปีที่ผ่านมา

และในปี 2565 มีโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ อีกหลายโปรเจ็กต์ ทั้งที่ร่วมกับภาครัฐและเอกชน จึงคาดว่าแนวโน้มรายได้ปีหน้าจะโตมากกว่าปีนี้แน่นอน”

“รังสรรค์” ทิ้งท้ายว่า แม้โควิดจะทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนแปลงตนเองในหลายส่วน แต่เป้าหมายในอนาคตข้างหน้าของบริษัทยังคงเดิมคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพให้การบริการ และลดเวลาการรอคิวให้สั้นที่สุดด้วยโซลูชั่นต่าง ๆ