พฤติกรรมนักช็อป “โพสต์โควิด” “เทียบราคาก่อนซื้อ-ไฮบริดเวิร์ก”

ช็อปออนไลน์

โควิดเป็นตัวเร่งสำคัญที่กระตุ้นให้เวลาการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยพุ่งเป็น 8 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวัน แซงค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 6 ชั่วโมง 54 นาทีโดยกิจกรรมหลัก ๆ บนออนไลน์คือ รับชมความบันเทิง แชต และซื้อสินค้า

“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยกล่าวถึงเทรนด์ธุรกิจออนไลน์ที่ผู้ขายต้องรู้ในงานสัมมนา Lazada Seller Opportunity Day ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19

ทำให้ช่องทางการขายสินค้าผ่านออนไลน์เป็นทางรอดของผู้ประกอบการไม่ใช่ทางเลือกอีกแล้ว จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปโดยคนไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตติดอันดับ 9 ของโลก

และใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือเฉลี่ย 5 ชั่วโมง 7 นาทีต่อวัน เป็นอันดับ 3 ของโลก แซงค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 3 ชั่วโมง 39 นาทีต่อวัน

จากการสำรวจอ้างอิงข้อมูลจาก Riding the Digital Wave: Capturing Southeast Asia’s Digital Consumer in the Discovery Generation โดยบริษัท เบน แอนด์ คอมพานี ร่วมกับเฟซบุ๊ก ระบุว่า

รูปแบบการทำงานของคนไทยเปลี่ยนไป เน้นการทำงานแบบไฮบริดมากขึ้น และพบว่าต้องการทำงานที่บ้านเป็นส่วนมาก และเข้าออฟฟิศเป็นครั้งคราวมากถึง 44%

ตามด้วยอยากทำงานที่บ้านเป็นครั้งคราวสลับกับเข้าออฟฟิศ 23% ทำงานที่บ้านทุกวัน19% และเข้าออฟฟิศทุกวัน 14%

เช่นกันกับพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้า โดยพบว่าผู้บริโภคจะหาข้อมูลและเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อ

โดยเช็กข้อมูลออนไลน์ก่อนซื้อ 55% เช็กข้อมูลออนไลน์และไปดูที่หน้าร้าน 28% ดูที่หน้าร้าน 10% และซื้อเลยโดยไม่หาข้อมูลก่อน 8%

กิจกรรมที่คนไทยนิยมทำ 5 อันดับแรกบนออนไลน์คือ รับชมความบันเทิง 83% โซเชียลมีเดีย และการสื่อสาร 68% ช็อปปิ้งออนไลน์ 64% ธุรกรรมทางการเงิน 64% และการศึกษาการทำงาน 42%

“ธนาวัฒน์” กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีพฤติกรรมการช็อปปิ้งที่หลากหลายและนิยมหาข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งช่องทางออนไลน์สะดวกในการเปรียบเทียบและไม่ได้สนใจแล้วว่าจะซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ (หน้าร้าน)

การเปรียบเทียบข้อมูลในช่วงก่อนและช่วงเกิดโควิด พบว่าก่อนโควิดช่องทางขายหน้าร้านค้าปลีกเติบโตขึ้น 5% และออนไลน์เติบโต 54%

แต่ช่วงเกิดโควิดพบว่าช่องทางหน้าร้านค้าปลีกติดลบ 5% ขณะที่ช่องทางออนไลน์โตขึ้น 81%

“แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายแต่พฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซยังโตต่อเนื่องจาก 5 ปัจจัยหลักคือ 1.โควิดเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปแล้ว 2.ช่องทางออนไลน์มีดีลและโปรโมชั่นที่ดี

3.ซื้อสินค้าได้ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา 4.ประหยัดเวลา และ 5.เปรียบเทียบราคาง่ายขึ้น โดยคาดว่าภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยปีนี้จะโตขึ้น 21% หรือมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 356,000 ล้านบาท”

ปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนไทยที่เพิ่มขึ้น 59 ล้านคน โดย 71% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย หรือคิดเป็น 42 ล้านคน จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการบนโลกออนไลน์แล้ว ช่องทางออนไลน์ที่ผู้บริโภคนิยมซื้อ

ได้แก่ อีมาร์เก็ตเพลซ 32% เช่น ลาซาด้า เป็นต้น โซเชียลคอมเมิร์ซ 21% เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก เป็นต้น บริการจัดส่งอาหาร แอปพลิเคชั่นครบวงจร 13% เช่น ออล ออนไลน์ ไลน์แมน เป็นต้น

เว็บไซต์ของแบรนด์สินค้าขนาดใหญ่ 12% เช่น ซัมซุง ลอรีอัล เลอโนโว เป็นต้น เว็บไซต์ห้างสรรพสินค้า12% เช่น เซ็นทรัล, แอดไวซ์, ไอที ซิตี้ เป็นต้น ร้านค้าออนไลน์ขนาดเล็ก 12%

ด้าน “วีระพงศ์ โก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ลาซาด้ามียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนผู้ซื้อเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จากปี 2563

จากการเก็บข้อมูลการซื้อสินค้าตั้งแต่ ธ.ค. 2563-ก.ย. 2564 พบว่า สินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตสูงสุด ตามด้วยอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน

และสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น

เมื่อคนใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และนิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ขาย ซึ่งลาซาด้าในฐานะแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซได้มีโปรแกรมช่วยเหลือผู้ขายต่อเนื่อง

โดยเฉพาะเมกะแคมเปญต่าง ๆ ในปลายปีนี้จะมี 2 แคมเปญใหญ่คือ Lazada 11.11 Our Biggest One-Day Sale ถูกสุดในรอบปีวันนี้วันเดียว และแคมเปญเลขคู่ (Double-digit) ส่งท้ายปีอย่าง 12.12

โดยพร้อมให้สิทธิพิเศษกับผู้ขาย 9 รายการ เช่น บริการที่ปรึกษาส่วนตัวให้เริ่มต้นเปิดร้าน มีแคมเปญสำหรับผู้ขายใหม่เพื่อเพิ่มยอดการมองเห็น

ฟรีค่าธรรมเนียมการขาย 0% นาน 1 เดือน เป็นต้น ทั้งหมดก็เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ และเพิ่มจำนวนผู้ขายบนแพลตฟอร์มลาซาด้า