เกษตรทันสมัยด้วยนวัตกรรม NECTEC FAARM series

“เนคเทค” ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ประกาศเป็นนโยบายที่จะมุ่งพัฒนางานวิจัยให้สามารถนำมาใช้ได้จริง ไม่ได้อยู่แต่บนหิ้งอีกต่อไป ล่าสุดเปิดตัว “NECTEC FAARM series : ฟาร์ม เทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมด้านการเกษตร” งานวิจัยร้อน ๆ จากนี้พร้อมแล้วให้ภาคเอกชนนำไปผลิตจำหน่ายหรือใช้ในภาคเกษตรกรรมของไทย

“ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร” ผู้อำนวยการเนคเทค เปิดเผยว่า ได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ตามแผนปฏิบัติการด้านเกษตรและอาหารระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 -2564) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการเปลี่ยนแปลงการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ยกระดับมาตรฐานการเกษตรและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร

ล่าสุดจึงได้เปิดตัวงานวิจัยพร้อมใช้อย่าง “NECTEC FAARM series” ที่จะช่วยตรวจวัดและควบคุมตัวแปรสำคัญในการทำการเกษตร ส่งผ่านข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตให้ผู้ใช้งานได้เข้าถึงแบบเรียลไทม์ในทุกที่ทุกเวลา ทั้งจากเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นบนแอนดรอยด์ โดยในเฟสแรกจะใช้ชุดเทคโนโลยีอย่าง สถานีวัดอากาศ, อุปกรณ์สำหรับผลิตภัณฑ์ระบบควบคุมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, Smart Aqua Application, กล่องควบคุมวาล์วให้น้ำ (Irrigation Valve Control Box) และโซลาร์ปั๊มอินเวอร์เตอร์ (SUN FLOW) นำมาประกอบกันเป็นนวัตกรรมพร้อมใช้ให้เกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร อาทิ”WATER FiT” ระบบให้น้ำสำหรับการเพาะปลูก โดยออกแบบการให้น้ำที่ควบคุมผ่านการสื่อสารไร้สายและแยกอิสระกับอุปกรณ์ควบคุมวาล์วและอุปกรณ์ควบคุมปั๊ม ทำให้การออกแบบรูปแบบการให้น้ำแก่พืชทำได้ง่ายและมีความยืดหยุ่นสูง อาทิ การให้น้ำตามอัตราการคายระเหย ณ แต่ละช่วงเวลา ใช้งานได้ทั้งในแปลงเกษตรขนาดเล็กจนถึงแปลงเกษตรขนาดใหญ่

ทั้งมีการบันทึกข้อมูลการให้น้ำและตรวจวัดทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนช่วยให้ผู้ใช้งานวิเคราะห์และปรับปรุงการให้น้ำในรอบถัดไปตามสภาพแวดล้อมได้ทันท่วงที อาทิ ดินเปียกก็สั่งให้รดน้ำน้อยหรืองดการให้น้ำได้ ทั้งยังตั้งช่วงเวลาการให้น้ำได้มากกว่า 100 ช่วงเวลา

“BUBBLE FiT” คือ ระบบควบคุมการและเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยใช้เครื่องมือ ระบบ “Oxy” ควบคุมเครื่องเติมอากาศสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยการตรวจวัดปริมาณออกซิเจนละลาย 24 ชั่วโมงพร้อมเปิด-ปิดเครื่องเติมอากาศให้มีระดับออกซิเจนที่เหมาะสม ป้องกันความเสี่ยงจากออกซิเจนต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และมีการส่งค่าทำงานเข้าสู่อินเทอร์เน็ตรวมถึงแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุผิดปกติ ที่สำคัญมีระบบเปิดเครื่องตีน้ำทดแทนเมื่อมีเครื่องตีน้ำหยุดการทำงานจากเหตุฉุกเฉิน เช่น กระแสไฟเกิน

“AMBIENT SENSE” คือ ระบบตรวจวัดสภาพแวดล้อมสำหรับการปลูกเลี้ยง ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มของแสง ฯลฯ ทั้งการเพาะปลูก “Greenhouse” และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ “AquaLife” โดยมีเซ็นเซอร์วัดสภาพแวดล้อมเพื่อควบคุมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ หากอุณหภูมิร้อนเกินไป สามารถลดอุณหภูมิหรือปรับความชื้น ด้วยการพ่นหมอก ปรับตาข่ายพรางแสง

“เกษตรกรค่อนข้างพร้อมที่จะนำไปใช้ได้ เดี๋ยวนี้มีสมาร์ทโฟนใช้แล้ว ตัวนี้จะทำให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ สัญญาณมือถือก็ค่อนข้างครอบคลุม และมีลูกหลานคอยเข้ามาช่วย ดังนั้น นวัตกรรมที่เนคเทคทำจะพยายามทำให้ถูกที่สุด เช่น ใช้บลูทูท เชื่อมต่อ ไม่กี่พันบาท วัดความชื้นดินและสภาพอากาศ อาจมีอุปกรณ์ใหญ่ เช่นที่ใช้กับบ่อเลี้ยงกุ้ง คิดแล้วไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนบ่อ แต่ผลประโยชน์คุ้มกว่า ช่วยควบคุมออกซิเจนให้เหมาะสมและแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ลดความสูญเสียได้มาก เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในเมือง ปัญหาไฟตกไฟกระชากที่อาจทำให้ระบบล่มเป็นสิ่งที่เลี่ยงยาก”

และได้เชิญชวนเอกชนซึ่งเข้าถึงตัวผู้ใช้ได้เร็วกว่า ให้นำเทคโนโลยีไปขยายต่อให้เกษตรกร ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ได้จริงอย่างรวดเร็ว โดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับเนคเทค-สวทช. ในโครงการ “บัวหลวงให้น้ำเพื่อการเกษตร” ใช้กล่องควบคุมวาล์วให้น้ำ (Irrigation Valve Control Box) ที่กำหนดเวลาการให้น้ำและมีเซ็นเซอร์วัดค่าความชื้นดิน-ปริมาณน้ำฝน ควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพาะปลูก นำร่องในพื้นที่การเกษตรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการเพาะเห็ด หมู่บ้านซับสมบูรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์ และกลุ่ม Young Smart Farmer เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น

“เรายังพัฒนาต่อเนื่องไปสู่ IoT โดยมุ่งหวังให้มีการนำข้อมูลการเกษตรไปใช้วิเคราะห์และประมวล (FAAR AlicE : Analytics Engines) เป็นเครื่องมือช่วยค้นหาพื้นที่ในการปลูกพืช อาทิ ทำนายฝนล่วงหน้า คำนวณปริมาณน้ำและสารอาหารที่เหมาะสม ปัจจุบันยังไม่สมบูรณ์ ข้อมูลสภาพอากาศและภูมิประเทศดึงจากดาวเทียมได้ แต่ยังขาดข้อมูลที่ต้องอาศัยผลงานวิจัยที่เกษตรกรได้นำไปใช้ เช่น ค่าความชื้นหรืออุณหภูมิ และข้อมูลบันทึกกิจกรรมของเกษตรกร”