หนังออนไลน์เปิดศึกครึ่งปีหลัง รายเดิมสปีดจับมือพันธมิตรขยายลูกค้า

ตลาดวิดีโอออนดีมานด์คึกคัก รายใหญ่ระดับโลก-ภูมิภาคบุกไทยเต็มตัว ทั้งเน็ตฟลิกซ์-Viu รายเดิมเร่งหาพันธมิตรขยายฐานลูกค้าจูงใจให้ลองใช้ ชี้คู่แข่งไม่น่ากลัวเท่าเว็บเถื่อน “ไอฟลิกซ์-ดูนี่” มั่นใจปีนี้โต 3 เท่า HOOQ คาดอีก 3-5 ปี ตลาดถึงจะแมสจริง ๆ พร้อมขานรับนโยบายกำกับ OTT หากทำได้เท่าเทียม

นางสาวอาทิมา สุรพงษ์ชัย หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ไอฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการวิดีโอออนดีมานด์รายใหญ่ระดับภูมิภาค เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันไอฟลิกซ์มีผู้ใช้ในไทย 1.5 ล้านราย แอ็กทีฟราว 30% เพิ่มขึ้นเดือนละแสนราย ด้วยแรงหนุนของพาร์ตเนอร์ ดังนั้นความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์จึงยังเป็นกลยุทธ์สำคัญ ขณะที่ครึ่งปีหลังจะลงทุนด้านคอนเทนต์ให้มากขึ้น ตั้งเป้าให้มีคอนเทนต์ที่เป็นที่นิยมอย่างน้อยเดือนละ 1 เรื่อง เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาชม และแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ปีนี้ตั้งเป้าจะเติบโตอีก 2-3 เท่า จากยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่เพิ่มต่อเนื่อง และมีอีกมากที่ยังไม่เคยใช้บริการ ทั้งยังมีแผนจะขยายบริการเพิ่มอีก 8 ประเทศ รวมเป็น 18 ประเทศ เจาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง สำหรับค่าบริการของไอฟลิกซ์ในไทยอยู่ที่เดือนละ 100 บาท ปีละ 1,000 บาท

“การแข่งขันในตลาดตอนนี้มองว่า ต้องแข่งกับเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ จึงยินดีที่จะมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาในตลาด อย่างล่าสุด Viu ผู้เล่นระดับภูมิภาคอีกรายก็จะเข้ามาช่วยกันให้ความรู้กับตลาด ส่วนเรื่องการกำกับดูแล OTT (บริการบรอดแคสต์บนอินเทอร์เน็ต) ของ กสทช. มองว่ามีเจตนาดี ถ้ากำกับคนที่อยู่นอกกรอบได้ ไอฟลิกซ์ก็ยินดีร่วมมือ”

เร่งหาพันธมิตร-ผู้สร้างหน้าใหม่

นางสาวอัลลิสัน ชูว์ Head of Brand and Communications HOOQ เปิดเผยว่า ปัจจุบันให้บริการใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ อินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรรวมกว่า 1.7 พันล้านคน แต่ด้วยนโยบายของบริษัทจึงไม่สามารถเปิดเผยยอดลูกค้าได้ ขณะที่แผนในปีหน้า เตรียมจะขยายไปในเวียดนามและมาเลเซียด้วย

“จากการสำรวจในประเทศที่ HOOQ เปิดให้บริการ พบว่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ลูกค้าในแต่ละประเทศนิยมดูโลคอลคอนเทนต์มากขึ้น อย่างในไทยและฟิลิปปินส์ เพิ่มจาก 30% เป็น 40% อินโดนีเซีย เพิ่มจาก 30% เป็น 60% ทั้งสนใจคอนเทนต์ที่หลากหลาย วิธีเล่าเรื่องสำหรับการบรอดแคสต์จึงเปลี่ยนไป”

HOOQ จึงได้เปิดตัวโครงการ HOOQ Filmmakers Guild เพื่อหาผู้ผลิตภาพยนตร์ซีรีส์ในอาเซียนป้อนตลาด โดยผู้นำเสนอบทซีรีส์ที่โดดเด่น 5 ราย ที่จะได้ทุนผลิตตอนแรก รายละ 1 ล้านบาท เพื่อออกอากาศผ่าน HOOQ และเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ชมและกรรมการ จะได้ทุนสนับสนุนการสร้างจนจบ มากที่สุด 13 ตอน โดยเปิดรับสมัครผลงานถึงวันที่ 15 ส.ค.นี้

ด้านนายกุลพงษ์ บุนนาค ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ HOOQ เปิดเผยว่า นอกจากการเพิ่มคอนเทนต์ที่มีความสดใหม่ให้มากขึ้น ครึ่งปีหลังจะเปิดตัวพันธมิตรใหม่ ๆ โดยให้สิทธิพิเศษในการใช้บริการ ทั้งลูกค้าของบัตรเครดิต สายการบิน แฮนด์เซตบางแบรนด์ รวมถึงการเพิ่มแพ็กเกจค่าบริการที่มีระยะสั้นกว่า 30 วัน อาทิ แพ็กเกจ 7 วัน เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาทดลองใช้บริการมากขึ้น แต่แพ็กเกจรายเดือนยังยืนราคาไว้ที่ 119 บาท

“สงครามราคาไม่มีประโยชน์ แม้จะมีผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกอย่างเน็ตฟลิกซ์เข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงมีผู้เล่นระดับภูมิภาคอีก 2 รายใหญ่ เพราะปัญหาไม่ใช่คู่แข่ง แต่อยู่ที่การทำให้ลูกค้าเห็นว่า ราคาค่าบริการคุ้มที่จะจ่าย แม้ตลาดจะโตต่อเนื่อง แต่น่าจะยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี ถึงจะได้ระดับ Critical Mass ที่มีผู้ใช้จำนวนมาก เวลานี้จึงเน้นขยายฐานด้วยการเพิ่มโอกาสให้คนได้มาลองใช้และใช้ซ้ำให้มากที่สุด จึงต้องใช้สายป่านที่ยาว”

ขณะที่ตลาดบริการวิดีโอออนดีมานด์ในไทยยังใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาเซียนตามจำนวนประชากร ส่วนข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการ OTT ที่ กสทช.ระบุว่า HOOQ มีมาร์เก็ตแชร์ในลำดับท้าย ๆ และมีรายได้ราว 17 ล้านบาทนั้น นายกุลพงษ์กล่าวว่า ข้อมูลน่าจะคลาดเคลื่อน โดยการนับรายได้อื่นของผู้ให้บริการระดับโลคอลเข้ามารวมด้วย ซึ่งรายได้ของ HOOQ ไม่สามารถเปิดเผยได้ตามนโยบายบริษัท

“การกำกับบริการ OTT ของ กสทช. HOOQ เปิดบริษัทในไทยแล้ว และพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขทางกฎหมายของไทย หากทุกบริษัทอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน”

“ดูนี่” เน้นสร้างความแตกต่าง

นายจตุพล สุธีสถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียเพล็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ให้บริการดูหนังออนไลน์ ดูนี่ (DOONEE.com) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของผู้ใช้ของดูนี่ เติบโตต่อเนื่อง ในปีที่แล้วโตขึ้น 3 เท่า

“ในไตรมาสแรก มีผู้ใช้บริการหลักหมื่นถึงหลักแสนต่อเดือน แล้วแต่การจัดแคมเปญ ซึ่งมีทั้งสมัครเองและที่มาจากพันธมิตร โดยมี 5-8% หรือราว ๆ 4-5 หมื่นราย เป็นผู้ใช้ที่จ่ายค่าบริการ”

สำหรับตลาดครึ่งปีหลังคาดว่าลูกค้าจะเพิ่มขึ้น จากเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ถูกปิดเป็นจำนวนมาก ขณะที่ลูกค้าเริ่มมีกลุ่มสูงอายุมากขึ้นจากการเริ่มใช้เทคโนโลยีและมีกำลังซื้อ คาดว่าสิ้นปีนี้ลูกค้าน่าจะเติบโตไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา

“ธุรกิจนี้ค่อนข้างจะหิน แต่ยังเห็นช่องทางเติบโต ซึ่งเราไม่กลัวการแข่งขัน แต่กลัวปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่า กลยุทธ์ปีนี้จะทำคอนเทนต์ให้ตรงกับผู้บริโภค เน้นวาไรตี้ และเพิ่มภาพยนตร์ให้ครบหมวดหมู่มากขึ้น พยายามให้ต่างจากคู่แข่ง เพราะลูกค้าแต่ละคนมักจะเลือกใช้บริการมากกว่า 1 ราย ดังนั้นความแตกต่างอย่างมีนัยจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจง่ายขึ้น เพิ่มระบบหลังบ้านให้แข็งแรงรองรับลูกค้าจำนวนมากได้ ส่วนค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่ที่ 150 บาทต่อเดือน และวันละ9 บาท เมื่อกดโค้ดสมัครผ่าน SMS”