เจาะธุรกิจขาขึ้น คลาวด์ เอชเอ็ม ความท้าทาย และโอกาสใหม่

ณพัชร อัมพุช
สัมภาษณ์

โควิดติดสปีดให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องรีบเร่งปรับตัวใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” เพื่อสร้างการเติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันหรือเพื่อหาทางรอด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากสารพัดปัจจัย ผลักดันความต้องการใช้ “คลาวด์คอมพิวติ้ง” เพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “คลาวด์” โตไปพร้อมกัน

“คลาวด์ เอชเอ็ม” ผู้ให้บริการคลาวด์ครบวงจรในกลุ่มบริษัทเบญจจินดา ถือเป็นหนึ่งในนั้น

“ณพัชร อัมพุช” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลาวด์ เอชเอ็ม จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเติบโตเฉลี่ย 100% ทุกปี ตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ทั้งในแง่รายได้และจำนวนลูกค้า ทั้งมั่นใจว่าในปีหน้าก็จะยังรักษาการเติบโตในระดับนี้ไว้ได้แม้จะเป็นการโตเพิ่มจากฐานที่ค่อนข้างใหญ่แล้ว เช่นกันกับการเติบโตของธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทย

ตลาดโต 40% บริษัทโต 100%

จากการสำรวจและประเมินการเติบโตของตลาดบริการคลาวด์ในปี 2565 น่าจะอยู่ที่ 30-40% หรือมีมูลค่า 5,000 ล้านบาท จาก 2 ปัจจัย คือ 1.องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ต้องการความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในระบบการทำงานจึงย้ายระบบและข้อมูลที่มีอยู่เดิมขึ้นระบบคลาวด์

และ 2.การเข้าสู่โลกดิจิทัลจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจทำให้ทุกบริษัทต้องเร่งทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล

“เราเองปีหน้าก็ยังตั้งเป้าโต 100% โดยจะพยายามรักษาความเป็นผู้นำ 1 ใน 3 โอกาสมาจากลูกค้าในทุกอุตสาหกรรม เพราะคลาวด์เหมาะกับทุกธุรกิจที่ต้องการปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี โควิดทำให้องค์กรไทยเห็นด้วยกับวิชั่นไมโครซอฟท์ที่บอกว่า คลาวด์เฟิรสต์, โมบายเฟิรสต์

ทุกคนพัฒนาไปสู่สิ่งเหล่านี้เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการระบบต่าง ๆ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน บริษัทต่าง ๆ ขึ้นมาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัลจะทำเองหรืออยู่บนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ก็ต้องใช้คลาวด์”

แข่งขันสูงแต่ยังมีโอกาส

ธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตมากก็มักมีคู่แข่งมาก “ณพัชร” บอกว่า บริษัทเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ อาจเปรียบได้กับ “ชานมไข่มุก” ที่มีหลากหลายแบรนด์ โดยบริษัทไม่ได้ทำแบรนด์ชานมไข่มุกแต่เป็นคนขายแก้วขายไข่มุก ให้กับทุกเจ้า จึงเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ให้บริการคลาวด์ต่างประเทศ

“เราเป็นพาร์ตเนอร์กับทุกเจ้า ในฐานะโลคอลพาร์ตเนอร์ในการดีไซน์ระบบและไมเกรตลูกค้า ไม่ได้ไปแข่งกับโกลบอลคลาวด์ เป็นคนละตลาดกัน และลูกค้าเองก็ไม่ได้ใช้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นมัลติคลาวด์ตามยูสเคสที่เหมาะสมตามความเชี่ยวชาญของแต่ละเจ้า”

จุดยืนของ “คลาวด์ เอชเอ็ม” คือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมัลติคลาวด์ (your cloud expert) ให้บริการคลาวด์ในไทย มีโครงสร้างพื้นฐานของตนเองบนดาต้าเซ็นเตอร์ มาตรฐาน tier IV และเป็นพาร์ตเนอร์กับ AWS, Azure และ GCP ให้บริการในส่วนของโกลบอลคลาวด์ตั้งแต่ให้คำปรึกษา, ออกแบบโซลูชั่นต่าง ๆ

“ในโลคอลคลาวด์เราเป็นท็อป 3 ตลาดนี้ยังโตได้เยอะ บริษัทจดทะเบียนในไทยมี 7 แสนที่แอ็กทีฟกว่า 5 แสนบริษัทที่ต้องการใช้คลาวด์มีกว่า 1.5 แสนแห่ง รวมลูกค้าที่ใช้คลาวด์อยู่ไม่น่าเกิน 4-5 พันราย จึงมีโอกาสโตได้อีกมาก”

ความท้าทายในโลกเปลี่ยนเร็ว

“เราอยู่ในธุรกิจเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงเร็วและมีอะไรใหม่ ๆ ตลอด อย่างคลาวด์คอมพิวติ้งที่พูด ๆ กัน ตอนนี้ก็มี สกายคอมพิวติ้งแล้ว คือไม่ใช่แค่เมฆแล้วแต่เป็นท้องฟ้า ดังนั้น จึงมีความรู้และข้อมูลใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

ความท้าทายอยู่ที่จะรักษาความเป็นผู้เชี่ยวชาญไว้ เพราะไม่ได้ขายแค่อินฟราสตรักเจอร์ แต่ขายความเชี่ยวชาญ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ใช่แค่กับคนไทยแต่กับทั่วโลก เราจึงให้ความสำคัญกับการอัพสกิล-รีสกิลทีมงานต่อเนื่อง”

ในปีหน้าวางแผนลงทุนเพิ่มอีก 100 ล้านบาท เพื่อขยายอินฟราสตรักเจอร์จากปัจจุบันมีดาต้าเซ็นเตอร์ 3 แห่งที่ตึกเบญจจินดา, บางนา และชลบุรี เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการคลาวด์ไม่กี่รายที่มีดาต้าเซ็นเตอร์อยู่ต่างจังหวัด

ส่วนผลประกอบการโดยรวมคาดว่าสิ้นปีจะมีรายได้ถึง 150 ล้านบาท กำไร 10 กว่าล้านบาท และมีแผนนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย โดยวางไว้ในไตรมาสแรกปี 2566 อยู่ระหว่างเตรียมตัวทั้งการปรับปรุงระบบมาตรฐานระบบบัญชีภายในและอื่น ๆ

แนะวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี

“องค์กรต่าง ๆ ควรมีเทคโนโลยีสแตรทิจีบริษัทต่าง ๆ มีแผนธุรกิจ มีกลยุทธ์ด้านการขายและการตลาด แต่มักไม่มีด้านเทคโนโลยีทั้งที่จำเป็นต้องคิดว่าเทคโนโลยีจะกระทบธุรกิจยังไงหรือช่วยได้ยังไง

จะลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างไร การให้แผนกไอทีทำไม่ได้ เพราะโรลของเขาเป็นแบ็กออฟฟิศ การทำเรื่องนี้ได้จะต้องเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่”

ล่าสุดบริษัทมีบริการ เช่น Chief Technology Officer as a Service (CTOaaS) สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

ธุรกิจพันล้าน กำไร 50-100 ล้าน อาจมีเงินจ้างซีทีโอเก่ง ๆ เดือนละ 5 แสน แต่ซีทีโอเหล่านี้จะมองว่าไม่ท้าทาย บริษัทจึงหาซีทีโอเก่ง ๆ มาทำงานด้วยยาก เราจึงคิดว่าบริการซีทีโอ แอส อะ เซอร์วิสที่ออกมาตอบโจทย์พอดี

องค์กรในไทยน้อยมากที่จะพร้อมแข่งในโลกดิจิทัล และองค์กรไทยหลายที่ยังไม่มีเทคโนโลยีสแตรทิจี ซึ่งผู้บริหารระดับซีเลเวลหรือแม้แต่เจ้าของเองก็อาจยังไม่เข้าใจเทคโนโลยีขนาดนั้น ไม่รู้ว่าจะนำเทคโนโลยีมาสร้างรายได้ลดต้นทุนได้อย่างไร

“เมตาเวิร์ส” เปลี่ยนโลก

“เมื่อ 100 ปีก่อนคนเก็บเงินไว้ที่บ้าน ธนาคารเป็นของใหม่ คนไม่กล้าไปฝากเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่วันนี้ไม่มีใครเก็บเงินไว้ที่บ้านแล้ว แต่ถึงฝากธนาคารก็ยังมีสิทธิ์โดนปล้นเพียงแต่น้อยกว่าเทียบอัตราโจรขึ้นบ้านแบบเดียวกับบริการคลาวด์

ถามว่ามีบริษัทไหนที่การันตีว่าจะแฮกไม่ได้ การฝากไว้บนคลาวด์ก็ไม่ 100% แต่ปลอดภัยกว่าเก็บไว้ในบริษัทแน่ ๆ บริษัทที่มีรายได้เป็นพันล้านบาท แผนกไอทีมีคน 5-10 คน มีใครมอนิเตอร์ 24 ชม. 7 วัน แต่มาใช้คลาวด์จะมีคนเฝ้า 24 ชม. 7 วัน”

เมื่อถามถึงมุมมองต่อเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังจะมาในอนาคต เขาบอกว่า เมตาเวิร์สมาแน่นอน ทำให้เกิดสมรภูมิใหม่ในการแข่งขัน ซึ่งต่อไปจะมีหลายสมรภูมิ

“โลกใน 5 ปีข้างหน้าเปลี่ยนไปแน่ เช่น มีทัวร์อวกาศ, เมตาเวิร์ส จะเป็นสมรภูมิสำคัญที่บริษัทต่าง ๆ ต้องวางกลยุทธ์ในการไปทำธุรกิจตรงนั้น รวมถึงพวกบล็อกเชน, NFT, คริปโทเคอเรนซี

ทั้งหมดจะเกี่ยวกับเรา เพราะเมตาเวิร์สคือซอฟต์แวร์ ต้องรันบนคลาวด์ ใครสร้างแอปหรืออะไรบนอินเทอร์เน็ต เราก็ต้องสร้างอินฟราฯรองรับโลกพวกนี้”

“ณพัชร” กล่าวว่า ธุรกิจไทยในหลายอุตสาหกรรมโดนเทกโอเวอร์โดยต่างชาติ เช่น แท็กซี่ แต่ก่อนอยู่กับสหกรณ์หรือบริษัทปล่อยเช่า แต่หลังโควิดไม่ใช่แค่ไม่มีนักท่องเที่ยวแต่มาจากพฤติกรรมคนด้วย เราเรียกผ่านแกร็บ ซึ่งไม่ใช่บริษัทไทย

อีกอันคือ รีเทล (ค้าปลีก) แต่ก่อนคนไปห้างสรรพสินค้า ปัจจุบันใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งค้าปลีกคนไทยแม้จะทำอีคอมเมิร์ซแต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร

ตอกย้ำว่าการวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีเป็นโจทย์สำคัญสำหรับธุรกิจไทย