ทรูควบดีแทคเกมเหนือชั้น ลอดช่องกฎเหล็กจัมป์สตาร์ตเบอร์ 1

ศาลปกครองนัดไต่สวนคดีควบรวมทรูดีแทค

บิ๊กดีล “ซี.พี.-เทเลนอร์” กระแสต้านรอบทิศ “นักวิชาการ-สภาผู้บริโภค” เรียกร้อง “กสทช.” ตรวจสอบควบรวม-ดูแลผู้บริโภค “ทีดีอาร์ไอ” จี้จัดการก่อนปิดดีล 2 แม่ทัพ “ซิคเว่-ศุภชัย” มองข้ามชอตธุรกิจมือถือ มุ่งปรับโครงสร้างธุรกิจสู่ “เทคคอมปะนี” รับเทคโนโลยี “ดิจิทัล” เปลี่ยนทุกสิ่ง “วงใน” ชี้สุญญากาศธุรกิจเขย่าขวัญพนักงาน นักวิเคราะห์ชี้ใช้เงินตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น 1.24 แสนล้าน ดันผงาดเบอร์ 1 “เอไอเอส” ฉวยจังหวะดึงลูกค้าย้ายค่าย

การประกาศควบรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือระหว่าง “ทรูและดีแทค” หรือที่ทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) และกลุ่มเทเลนอร์เรียกว่า เป็นการประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสนับสนุน “ทรู และดีแทค” ปรับโครงสร้างธุรกิจไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (เทคคอมปะนี) ไม่ใช่แค่บิ๊กดีลส่งท้ายปีที่เขย่าวงการโทรคมนาคมไทยเท่านั้น แต่ยังอยู่ในความสนใจของสังคมอย่างมากด้วย

เมื่อผู้ประกอบการในธุรกิจโทรศัพท์มือถือเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ในตลาดประกาศความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัน เพราะมือถือปัจจุบันไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสาร แต่เป็นบริการที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก และใกล้ตัวผู้บริโภคอย่างยิ่ง

มองข้ามชอต 20 ปีข้างหน้า

นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทเลนอร์ ระบุในการแถลงข่าว (วันที่ 22 พ.ย. 2564) ว่า บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังดีลนี้เสร็จสิ้นจะมีรายได้ถึง 2.17 แสนล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดในแง่รายได้ 40% ใกล้เคียงเอไอเอส และมีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 3 หมื่นล้านบาท พร้อมอธิบายเหตุผลถึงความร่วมมือว่า เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันในอนาคตที่จะไม่จำกัดแค่ในประเทศใดจากพัฒนาการของเทคโนโลยี

“บริษัทใหม่จะตั้งอยู่บนหลักการที่เป็นเจ้าของอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุดจากดีแทค และทรูมารวมกัน เราจะแข็งแกร่งพอที่จะลงทุนนวัตกรรมใหม่ระดับโลกเพื่อชาวไทยได้ เมื่อ 20 ปีก่อนเราเชื่อมโยงคนด้วยเสียง และข้อมูล แต่อีก 20 ปีข้างหน้าจะต่างออกไป เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะ 5G, AI, IOT หรือ cloud ทำให้เกิดการปฏิวัติทางเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของเราทุกคน นั่นคือสาเหตุที่เราร่วมมือกัน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะไปข้างหน้า และไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคได้”

อีกทั้งบริษัทใหม่ยังจะตั้งกองทุนมูลค่า 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ และสตาร์ตอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ในประเทศไทย คาดว่าความร่วมมือจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 1/2565

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เสริมว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจสู่ “เทคคอมปะนี” จากสภาพตลาดโทรคมนาคมที่เปลี่ยนไป เพื่อให้แข่งขันกับผู้เล่นระดับโลก และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฮับเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการศึกษา และพิจารณาปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรู และดีแทค จะยังดำเนินไปตามปกติ (อ่านรายละเอียด น.17)

สุญญากาศธุรกิจ

แหล่งข่าวในธุรกิจโทรคมนาคมกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การควบรวมต้องใช้เวลาจึงอาจเกิดสุญญากาศในการทำงาน ทำให้อาจเกิดปัญหาภายในองค์กรของทั้งคู่ได้ ขณะที่ลูกค้าเองก็ไม่ได้อะไรใหม่เป็นพิเศษ เพราะเมื่อต้องรวมกันอยู่ดีการจะทำอะไรแยกกันในระหว่างนี้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงในที่สุดอยู่ดี อีกทั้งในแง่เครือข่ายการให้บริการส่วนใหญ่ก็มีความทับซ้อนกันในพื้นที่หลัก ๆ อยู่แล้ว แต่หากมองในระยะยาวก็จะต้องดูว่ารวมกันแล้วสามารถลดต้นทุนได้หรือไม่มากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการร่วมมือกันย่อมต้องการทำให้เกิดผลดีกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับซัพพลายเออร์, ลดต้นทุน รวมถึงทำให้การแข่งขันน้อยลดลง แต่ทั้งคู่ต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน

โดยเฉพาะในมุมของการจัดการที่กว่าจะลงตัวต้องใช้เวลา และในมุมของลูกค้า เช่น ลูกค้าดีแทคอาจไม่อยากรวมกับทรู หรือลูกค้าทรูไม่อยากรวมกับดีแทค เป็นต้น ทั้งบริษัทใหม่ที่มีลักษณะ “เท่าเทียมกัน” ทั้งในแง่การถือหุ้นและบทบาทในการบริหารย่อมส่งผลต่อการทำงาน โดยเฉพาะกรณีที่มีข้อขัดแย้ง รวมถึงสไตล์การบริหารงานที่แตกต่างกัน จึงต้องใช้เวลาในการปรับจูนการทำงาน

“ถ้าเหลือรายใหญ่ 2 ราย โปรโมชั่นแรง ๆ น่าจะน้อยลงหรือไม่มีเลย ในระยะสั้นน่าจะส่งให้การเข้ามาของลูกค้าใหม่ เช่น ดีแทคอาจชะลอตัวลง หรือมีลูกค้าเก่าย้ายไปอยู่กับคู่แข่ง เพราะลูกค้าแต่ละแบรนด์ย่อมมีเหตุผลในการเลือกที่อยู่กับแบรนด์นั้น ๆ แต่ในระยะยาวขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการหลังการควบรวมแล้ว”

ลุ้นแบรนด์ “ดีแทค” อยู่หรือไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า เชื่อว่าเครือ ซี.พี.น่าจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานมากว่าเทเลนอร์ ทำให้ทีมงานดีแทคต้องปรับตัวมากกว่าทรู อีกทั้งการรวมกันย่อมต้องมีตำแหน่งงานซ้ำซ้อน จึงไม่จำเป็นต้องมีคนมากเท่าเดิม แม้บริษัทจะประกาศว่าจะลดคน แต่การปรับโครงสร้างธุรกิจย่อมส่งผลกับทีมงานเดิมอย่างแน่นอน

ปัจจุบันกลุ่มทรูมีพนักงานราว 20,000 คน เนื่องจากมีหลายธุรกิจ ไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือ ขณะที่ดีแทคมีพนักงานราว 4,000 คน

รายงานข่าวจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันเดียวกับที่เครือ ซี.พี. และเทเลนอร์ ได้แถลงความร่วมมือทางธุรกิจกับสื่อมวลชน ภายในบริษัทได้มีการจัดประชุมพนักงาน (townhall) เพื่อแจ้งให้พนักงานทราบถึงความร่วมมือดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยมีเนื้อหาเดียวกับที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ได้เปิดให้มีการซักถามได้

ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสนใจเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างธุรกิจจากบริษัทโทรคมนาคมไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับธุรกิจสนุนสตาร์ตอัพในประเทศไทย

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ต่อไปนอกจากบริษัทจาก 2 บริษัทจะรวมเป็นหนึ่งแล้ว ในแง่แบรนด์ก็จะน่าจะเหลือเพียงแบรนด์เดียวด้วย ถามว่าระหว่างดีแทคกับทรูมูฟเอชจะเหลือแบรนด์ใด ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นดีแทค

AIS ฉวยจังหวะดึงคนย้ายค่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ได้โปรโมตแคมเปญ “ยินดีต้อนรับสู่ครอบครัวเอไอเอส” โดยใช้พรีเซ็นเตอร์โปรโมตข้อความผ่านสื่อโซเชียล เช่น ขอต้อนรับทุกคนสู่ครอบครัวเอไอเอส เครือข่ายที่ดีที่สุดเพื่อคนไทย หรืออยู่กับเอไอเอสดีที่สุด เป็นต้น

รวมถึงจัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่ต้องการย้ายค่ายเบอร์เดิม เช่น มีแพ็กเกจ 5G อันลิมิเต็ด ลดราคา 25% ทุกแพ็กเกจ โดยแพ็กเกจ 5G เริ่มต้นราคา 1,199 บาท ลดเหลือ 899 บาท แพ็กเกจ 1,399 บาท ลดเหลือ 1,049 บาท แพ็กเกจ 1,699 บาท ลดเหลือ 1,274 บาท และแพ็กเกจ 1,999 บาท ลดเหลือ 1,499 บาท นาน 12 รอบบิล

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดีลดีแทคกับทรู เป็นการปรับตัวของธุรกิจโทรคมนาคม เพราะผลกำไรไม่ได้สดใส ขณะที่ต้นทุนก็สูงขึ้น เนื่องจากคู่แข่งเปลี่ยนไม่ใช่แค่ในโทรคมนาคมด้วยกัน แต่มีดิจิทัลแพลตฟอร์ม และผู้เล่นใหม่

“ผู้นำตลาดอย่างเอไอเอสที่แข็งแกร่งทั้งลูกค้า เครือข่าย เงินทุน คงไม่ยอมเพลี่ยงพล้ำง่าย ๆ คาดว่าหลังจากนี้การออกแพ็กเกจน่าจะมีสีสันมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการรักษาฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด หากมีการกำกับดูแลที่ดี จะดีกับผู้บริโภค จึงเป็นความท้าทายต้องฝากความหวังไว้กับ กสทช. และ ก.พาณิชย์ รวมถึงเอ็นที ผู้ให้บริการอีกรายที่ทำค่าบริการให้ต่ำลงได้”

ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น 1.24 แสนล้าน

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทคเป็นการตั้งบริษัทใหม่ พร้อมจัดสรรหุ้น (swap ratio) ในบริษัทใหม่ให้ผู้ถือหุ้น TRUE และ DTAC ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิม ใน TRUE แลกได้ 2.40072 หุ้นบริษัทใหม่ และอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมใน DTAC แลกได้ 24.53775 หุ้นบริษัทใหม่ จากจำนวนหุ้นในตลาดหลังควบรวมบริษัทใหม่จะมีหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้ว 138,208 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ 1 บาท

ผงาดเบอร์ 1 ลดต้นทุน

นายพิสุทธิ์กล่าวต่อว่า ถ้าวัดรายได้รวมของผู้เล่นทั้ง 3 ราย สิ้นปี’64 บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) มีรายได้รวม 176,300 ล้านบาท และปี 2565 อยู่ที่ 186,120 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.57% ส่วน TRUE+DTAC รายได้รวมกัน สิ้นปีนี้อยู่ที่ 222,752 ล้านบาท และปี’65 อยู่ที่ 234,468 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.26%

ขณะที่กำไรสิ้นปี’64 ของ AIS อยู่ที่ 26,591 ล้านบาท และปี’65 จะอยู่ที่ 27,933 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.05% ส่วน TRUE+DTAC กำไรรวมกันสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2,232 ล้านบาท และปี’65 จะอยู่ที่ 4,255 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 90.64%

ในส่วนของธุรกิจมือถือประเมินจากจำนวนลูกค้า AIS ครองมาร์เก็ตแชร์ 46% ส่วน TRUE+DTAC ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ที่ 54% ถ้าประเมินจากรายได้มือถือ AIS จะมีมาร์เก็ตแชร์ที่ 48% และ TRUE+DTAC จะมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 52%

“ภายใต้บริษัทใหม่รายได้จะโตเร็วขึ้น แต่ต้องตัดงบฯปี’65-66 เพราะควบรวมใช้เวลา 1-2 ปี จะเห็นการ synergy ในปี’67 รายได้อุตสาหกรรมโตปีละ 3-4% ขยับขึ้นเป็น 4-5% เชื่อว่าปริมาณการใช้งานของลูกค้าเพิ่มต่อเนื่อง แต่การที่มีผู้เล่นน้อยรายทำให้ความจำเป็นต้องปรับราคาลงช้าลง”

นายพิสุทธิ์กล่าวอีกว่า ในแง่ต้นทุนที่จะลดลงหลังควบรวมคือ ต้นทุนสาขา และการตลาด รวมไปถึงการลดพนักงาน ซึ่งเป็นเทรนด์ของหลายอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่ดิจิทัล ด้านงบฯจ่ายลงทุนโครงข่ายจะลดลง 10% ต่อปี จาก TRUE+DTAC ใช้เงินลงทุนรวม 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ลดลงเหลือกว่า 3 หมื่นล้านบาท

สะเทือนผู้บริโภค-รายได้รัฐ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ประเด็นที่น่าจับตามองคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งผู้บริโภค ภาคธุรกิจ ซัพพลายเออร์ ร้านค้ามือถือไปจนถึงภาครัฐเอง เพราะหากเปิดประมูลคลื่น 6G ก็จะมีผู้เข้าร่วมประมูลลดลง รายได้ของรัฐก็จะลดลงตามไปด้วย ดีลนี้จึงมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

“ไม่ว่าจะเป็น equal partnership หรืออะไรก็ตาม แต่ไส้ใน คือควบรวมกิจการ ทำให้ผู้ประกอบการ 3 รายเหลือ 2 ราย ผู้นำตลาดปัจจุบัน คือ เอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาด 47% ทรู 30% และดีแทค 22% เมื่อรวมกันเหลือ

เอไอเอส มีส่วนแบ่ง 47% และทรู-ดีแทค รวมกัน 52% ถือเป็นโครงสร้างตลาดที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากในทางเศรษฐศาสตร์จะใช้วิธีการวัดกระจุกตัวในตลาด หมายถึง การมีผู้เล่นเหลือน้อยราย เมื่อกระจุกตัวเยอะ ๆ หมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องเข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด”

เปลี่ยนโครงสร้างตลาด

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า จากดัชนีการกระจุกตัวทางเศรษฐศาสตร์ (herfindahl-hirschman index) หรือ HHI ที่วัดก่อนควบรวมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีการกระจุกตัวธุรกิจโทรคมนาคมอยู่ 3,600 จาก 10,000 ถือเป็นตลาดที่แข่งขันน้อย หากควบรวมแล้ว ค่าดัชนีพุ่งเป็น 5,000 ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าตกใจ

ถ้าเทียบกับธุรกิจขายมือถือ เช่น ซัมซุง ออปโป้ เสียวหมี่ เป็นต้น มีดัชนีการกระจุกตัว 2,000 ตลาดเบียร์ของโลก 2,000 ตลาดรถยนต์ในโลก 1,500 ดังนั้น ค่าดัชนีการกระจุกตัวของค่ายมือถือกระโดดไป 5,000 สะท้อนว่ากำลังมีโครงสร้างแบบผูกขาดโดยรายใหญ่

หากดีลนี้เกิดขึ้น จะทำให้โครงสร้างบริการกลับไปเหมือน 20 ปีก่อน ซึ่งในอดีตมีรายหนึ่งล็อก IMEI ผูกขาดการใช้เครื่องโทรศัพท์ด้วย ดังนั้น สำนักงาน กสทช.ต้องเร่งเข้าไปแก้ไข ไม่ใช่ให้การควบรวมแล้วเสร็จก่อน

นักวิชาการติงแข่งขันลด

ด้านนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ประเมินว่า เคสนี้จำเป็นต้องตั้งคำถามในแง่ผู้บริโภค เมื่อผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ระดับประเทศลดจาก 3 เหลือ 2 คณะกรรมการ กสทช.จึงต้องมีบทบาทมาก และถือเป็นเคสที่น่ากังวล และน่าห่วง นอกจากเรื่องคุณภาพบริการในอนาคตแล้ว สัญญาณมือถือปัจจุบันยังไม่เหมือนเมื่อก่อน

วันนี้มือถือเป็นสมาร์ทโฟน เป็นจุดรวมของทุกสิ่งอย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการ
กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ จึงสำคัญมาก กสทช.หรือส่วนที่เกี่ยวข้องต้องคิดวางแผนให้ตลาดเกิดการแข่งขัน ด้วยการผลักดันให้มีโอเปอเรเตอร์รายที่ 3

“แม้ธุรกิจโทรคมนาคมจะใช้เงินลงทุนสูง ความเป็นไปได้อาจยาก แต่รัฐต้องใช้ความพยายาม และคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม ขณะที่ธรรมชาติของการแข่งขันด้านราคา มีผลทำให้มาร์จิ้นหรือกำไรเอกชนลดลง แต่หากเหลือ 2 รายใหญ่จริง แน่นอนผลดีทั้งหมดจะตกอยู่กับผู้ประกอบการทั้ง 2 รายที่มีอยู่ เพราะจะมีกำไรมากขึ้นจากการแข่งขันที่ลดลง” นางสาวสฤณีกล่าว

กสทช.งัดมาตรการดูแล

ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ผลกระทบจากการควบรวมจะเกิดเมื่อการเจรจาสำเร็จ ซึ่งแต่ตามเอกสารที่ยื่น ตลท.คือ เครือ ซี.พี. และเทเลนอร์จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ ซึ่งทั้ง ซี.พี และเทเลนอร์ ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ กสทช. โดยตรง เพราะไม่ได้เป็นผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม แต่เป็นบริษัทแม่ของดีแทค และทรูจึงต้องพิจารณาอีกครั้งว่ามีนโยบายต่อบริษัทลูกอย่างไร

“กรณีทรูกับดีแทค เข้าเงื่อนไขการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอยู่ โดยใช้ทางลัดคือ เป็นการรวมตัวกันของอันดับ 2 และอันดับ 3 เพื่อขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% ส่วนจะกระทบอย่างไรต้องวิเคราะห์และติดตาม หากมีผลกระทบ กสทช.ก็ต้องมีมาตรการออกมาดูแล”

“ตอนนี้ชั้นของการควบรวมกิจการอยู่ระดับ ก 2 คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กลุ่มเทเลนอร์ และ ซี.พี (ระดับ 1) ที่มีการเจรจาควบรวมกิจการบริษัทแม่คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) อย่างแน่นอน ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้ไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตของ กสทช.เลย เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของผู้ได้รับใบอนุญาตอีกทีหนึ่ง

ส่วนผู้รับใบอนุญาต คือ ดีแทค ไตรเน็ต และทรูมูฟ เอช (ระดับ 3) ซึ่งเราก็พยายามก็จะถามว่า จะควบรวมถึงระดับไหน ซึ่งผู้ควบรวมกิจการไม่สามารถตอบได้ เพราะเจรจาตอนนี้ที่คุยกัน คือการควบรวมเฉพาะบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนอนาคตจะควบรวมไปถึงระดับ 3 หรือไม่นั้นอยู่ระหว่างการเจรจา”

ย้ำต้องแจ้งก่อนควบรวมสำเร็จ

ขั้นตอนต่อจากนี้ นพ.ประวิทย์กล่าวว่า สิ่งที่จะทำในการรวมกิจการกัน คือ การยื่นเอกสารตามประกาศ กสทช.เกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจโทรคมนาคมกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนการดำเนินการ

โดยต้องแจงรายละเอียด ความจำเป็น โครงสร้างที่เปลี่ยนไป ผลกระทบ และที่ปรึกษาอิสระที่จะทำการศึกษาผลกระทบของการรวมกิจการ ซึ่งที่ปรึกษาอิสระต้องมีเงื่อนไขที่เป็นกลางและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวข้องกับ 2 บริษัทที่จะควบรวมกัน

หลังจากนั้น สำนักงาน กสทช.จะทำหน้าที่ตรวจสอบ และตั้งเป็นที่ปรึกษาอิสระในการศึกษาผลกระทบ โดยต้องทำรายงาน และเสนอสำนักงาน กสทช.ใน 30 วัน รายงานนี้จะบอกถึงผลกระทบ และจัดการผลกระทบอย่างไร ซึ่งสำนักงาน กสทช.ต้องนำไปวิเคราะห์ต่อ โดยไม่ต้องรอให้เกิดผลกระทบจริง เมื่อได้รับรายงาน สำนักงาน กสทช.ต้องเสนอบอร์ด กสทช.ใน 60 วัน เพื่อกำหนดมาตรการเฉพาะออกมาก่อนจะเกิดการควบรวมกิจการ

“กรณีทรู กับดีแทค คาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จไตรมาส 1 ปี 2565 แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดการควบรวมกิจการทางนิติกรรมจริง ๆ ช่วงไหน หากมีกำหนดวันแน่นอน ต้องนับถอยหลัง 90 วัน ในการยื่นเรื่องต่อสำนักงาน กสทช.เพื่อเตรียมวิเคราะห์ และกำหนดมาตรการเฉพาะ”

สอบ.ขวางดีลควบรวม

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ทาง สอบ.ไม่ได้ขัดขวางเรื่องการเจริญเติบโตของธุรกิจ แต่กังวลว่า การควบรวมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกลดลง ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่า การควบรวมจะไม่ลิดรอนสิทธิของผู้บริโภค และไม่มีการเอาเปรียบผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นอยู่

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ในเบื้องต้น สอบ.จะทำหนังสือเพื่อยื่นต่อ กสทช. เพื่อให้สั่งห้ามการควบรวมที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากทำให้มีอำนาจเหนือตลาด และเตรียมทำหนังสือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคให้ ตลท.ด้วย เพราะโครงสร้างโทรคมนาคมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อผู้บริโภคปัจจุบัน โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด หากทั้ง 2 หน่วยงานไม่ฟีดแบ็ก
ก็จะเสนอรัฐบาลต่อไป

แจงเป็นอำนาจ กสทช.

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้าและโฆษกคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวว่า การควบรวมธุรกิจนี้เข้าข่ายได้รับยกเว้นตามมาตรา 4 ข้อ 4 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลเรื่องการแข่งขันทางการค้า

โดยมีประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามมาตรา 27 (11) พ.ร.บ.องค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับมาตรา 21 และ 22 (3) (4) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กสทช. ผู้บังคับใช้กฎหมายว่า “จะพิจารณาอย่างไร”

“ชัยวุฒิ” ชี้ไม่ใช่การผูกขาด

ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในทางธุรกิจเป็นสิทธิของบริษัทที่จะวางแผน “จะผูกขาดอย่างไร มือถือก็มีการแข่งขันอยู่แล้ว มีการกำกับโดย กสทช.อยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติ ธุรกิจพวกนี้มีหลายเจ้าไม่ได้อยู่แล้วเพราะลงทุนสูง มีการใช้คลื่น บางประเทศมีเจ้าเดียวก็ได้ เพราะเป็นเรื่องความถี่ ถ้ามีหลายเจ้า ต่างคนต่างลงทุน อาจเป็นการสิ้นเปลือง ต้นทุนที่สูงขึ้น ประชาชนก็จ่ายค่าบริการที่แพงขึ้น”

“รัฐบาลไม่มีอำนาจไปสั่งหรือกำกับโดยตรงว่าจะให้รวมหรือไม่ให้รวม แต่ภาพรวมประชาชนจะได้ประโยชน์ เพราะการมีบริษัทโทรคมนาคมให้บริการเข้มแข็ง คลอบคลุมทุกพื้นที่ ลดค่าใช้จ่ายการลงทุน ทำให้เกิดประโยชน์” นายชัยวุฒิกล่าว