ธุรกิจใหญ่สอนSMEโกดิจิทัล ชี้”อีคอมเมิร์ซ”เป็นภาคบังคับไม่ใช่แต้มต่อ

ปลุกเอสเอ็มอีไทย - ทั้งภาครัฐและเอกชนยักษ์ใหญ่ทั้งไทยและเทศต่างเห็นตรงกันว่าธุรกิจยุคใหม่จะเติบโตและแข่งขันได้ต้องรู้จักการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี "ดิจิทัล" ทั้งเพิ่มโอกาสทางการตลาด, การเข้าถึงลูกค้า และการสร้างความแตกต่าง

บิ๊กเนมย้ำ “อีคอมเมิร์ซ” ภาคบังคับที่ธุรกิจต้องไป ไม่ใช่แต้มต่อ ชี้แม้ตลาดแข่งดุ-ยักษ์ต่างชาติพาเหรดเข้าไทย แต่เป็นจังหวะให้ SMEs เกาะกระแสโกอินเตอร์ได้ง่ายสุด จากมูลค่าตลาด 2.8 ล้านล้านบาท “ไทยเบฟ” กดปุ่มทรานส์ฟอร์มพร้อมโตไปกับ SMEs “ลาซาด้า”แนะใช้ข้อมูลบริหารการขาย “บิ๊กซี” ชูสร้างนวัตกรรมพัฒนาเอกลักษณ์-ปั้นไอเดียใหม่

ในงาน Thailand e-Commerce Week 2017 (24-26 พ.ย. 2560) โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ได้เปิดเวทีสัมมนา “โอกาส e-Commerce ความจำเป็น และความท้าทายในการปรับตัวครั้งใหญ่ที่ผู้นำองค์กรของไทยมอง”

โดยนายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้ได้เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่ชัดเจนจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลจึงต้องเตรียมรับมือ ในส่วนของทีซีซี กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเพื่อนำทางบริษัทในเครือและ SMEs ที่เป็นพันธมิตรให้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน

นายวรวุฒิ วาริการ senior vice president e-Commerce บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า เทคโนโลยีทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กเติบโตและทำธุรกิจได้เหมือนธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งการพัฒนาช่องทางอีคอมเมิร์ซกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกผู้ประกอบการต้องเดินไป ไม่ใช่สิ่งที่เป็นแต้มต่อ ที่สำคัญคือต้องพัฒนาให้ช่องทางออนไลน์และออฟไลน์หน้าร้านเชื่อมต่อกันเพื่อการขายและบริการลูกค้าแบบ “ออมนิแชนเนล”

โอกาส และความท้าทาย

ขณะที่นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ประกอบการทำการค้าระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น 6 ปีที่ผ่านมาใช้แพลตฟอร์ม “ไทยเทรดดอตคอม” ช่วยผู้ประกอบการไทยส่งสินค้าไปทั่วโลก ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์อีคอมเมิร์ซปี 2560-2564 ตั้งเป้ามูลค่าตลาดจาก 2.5 ล้านล้านบาท เป็น 5.5 ล้านล้านบาท

โดยให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการที่จะพัฒนาให้ส่งออกได้ด้วยการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ ร่วมผลักสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต ทั้งการชำระเงิน, ขนส่ง, ลดขั้นตอนภาครัฐ, ลดอุปสรรคกฎหมาย และเข้าถึงแหล่งเงิน

ด้านนางสาวสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยโตปีละ 10% การค้า B2C ยังเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน คาดว่าปีนี้มูลค่าตลาดรวมจะสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท SMEs ไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากการเติบโต ทั้งกลางปีหน้าจะมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ทุเรียน” เสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทย

สินค้าไทยไปได้ทั่วโลก

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยแข่งขันสูงมาก มีผู้รายใหญ่จากต่างประเทศทุ่มงบฯการตลาดปลุกให้คนมาสนใจ แต่ก็เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่จะใช้ประโยชน์และสร้างความแตกต่างเพื่อให้ธุรกิจโดดเด่นและอยู่รอดได้

นายแบ๊บติสท์ เลอกัล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สินค้าไทยได้รับความนิยมมากในจีน เช่น ในแคมเปญ 11.11 หมอนไทยเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยม แต่มีผู้ประกอบการอีกไม่น้อยที่ไม่กล้าใช้ช่องทางนี้

“เรามีลาซาด้า ยูนิเวอร์ซิตี้ คอยให้ความรู้ ช่วยพัฒนาและแก้ปัญหาในการขายต่าง ๆ ให้ผู้ขาย เพื่อให้สินค้า วิธีการบริการ การรับมือกับลูกค้า ทำตลาด และโปรโมตได้ผลดีที่สุด ประสบความสำเร็จในการค้าออนไลน์ ล่าสุดพัฒนาลาซาด้าวอลเลต อำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อผู้ขายมากขึ้น”

ใช้นวัตกรรมสร้างความต่าง

นายวรวุฒิ วาริการ senior vice president e-Commerce บมจ.บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ SMEs ไม่จำเป็นต้องสร้างเว็บไซต์เพื่อขายของออนไลน์เอง เพราะการเข้าร่วมกับมาร์เก็ตเพลซแพลตฟอร์มที่มีสินค้ารวมกันเป็นจำนวนมากช่วยดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาได้มากกว่า แต่สิ่งสำคัญคือ การทำให้สินค้าตนเองโดดเด่นท่ามกลางสินค้ามากมายด้วยเอกลักษณ์และนวัตกรรม รวมถึงการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อดีไซน์หาวิธีเข้าถึงลูกค้าให้ดีที่สุด

“เทคโนโลยีสมัยนี้อนุญาตให้ผู้ประกอบการทุกเจ้าอยู่ใกล้ลูกค้า เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อดีไซน์วิธีที่จะดึงลูกค้ามาซื้อของแบบเป็นข้อเสนอเฉพาะตัวได้ แต่ต้องมีกลยุทธ์ที่สร้างสมดุลให้ไม่รู้สึกว่าถูกก้าวก่าย อย่างการชำระเงิน เชื่อว่าแต่ละรายพยายามมีให้ครบ แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไปคือการดีไซน์รูปแบบเพย์เมนต์มาร์เก็ตติ้งให้จูงใจมากขึ้น มีไอเดียใหม่ ๆ เช่น ซื้อก่อนจ่ายทีหลังหรือผ่อนสินค้าแบบมีคนมารับชำระเงินที่บ้านทุกเดือน”

ทุกวันนี้ต้องแข่งกันสร้างประสบการณ์ที่ดี สร้างสิ่งใหม่ให้ลูกค้า แม้มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่เข้ามาในไทยมากแต่อีก 3-5 ปี ผู้ที่ชนะอาจเป็นกูเกิล,เฟซบุ๊ก หรือบริษัทโลจิสติกส์ที่หยิบข้อมูลลูกค้าขึ้นมาทำอีคอมเมิร์ซเอง ฉะนั้นสิ่งที่ SMEs ต้องทำคือ อย่าลืมจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจเกิดขึ้นจากอะไร ขอให้เชื่อและรักษาเป้าหมายนั้นไว้ตลอดเวลา

“การจะเจริญเติบโตในตลาดโลกได้ คือ ต้องเลือกสินค้าให้ถูก ตั้งราคาให้เหมาะสม และเลือกพาร์ตเนอร์ที่ดี”

ต้องรู้จักตลาด-รู้เขารู้เรา

ด้านอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ยุคนี้ไม่จำเป็นต้องเจาะกลุ่มผู้บริโภคแมสเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จ หากเจาะไปถึงความต้องการเฉพาะกลุ่มได้อย่างแท้จริงก็ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน สำคัญคือต้องมีความรู้ทั้งการค้าขาย กฎระเบียบการค้าในประเทศต่าง ๆ รู้ว่าตลาดต้องการอะไร การหาซัพพอร์ตติ้งพาร์ตเนอร์ที่แข็งแรง รวมถึงภัยไซเบอร์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันตัวด้วย

“ผู้บริหาร ลาซาด้า” เสริมว่า การขายที่ดีไม่ใช่ขายให้มากอย่างเดียว แต่ต้องบอกเล่าเรื่องราว สร้างประสบการณ์ที่ดีในการช็อปปิ้ง ทำทุกอย่างให้ง่ายและสะดวก ให้ลูกค้ารู้สึกดีที่สุด ในไทยผู้บริโภคนิยมคอนเทนต์วิดีโอ จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการเข้าถึง และสร้างความรับรู้ให้ลูกค้า ขณะที่ข้อมูลก็สำคัญมากเพราะลูกค้าเปรียบเทียบทั้งสินค้าและบริการของช่องทางต่าง ๆ ได้ตลอด จึงต้องรู้เขารู้เรารู้จักลูกค้า

สร้างแรงจูงใจให้ลูกค้ารีวิว

นายอีริค บุย หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อยากให้ SMEs ใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ และเปิดใจใช้เครื่องมือส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ ที่อีมาร์เก็ตเพลซแต่ละรายมีให้ เพื่อโอกาสใหม่ ๆ ในการขายอย่างช้อปปี้ได้พัฒนาฟีเจอร์ แชตคอมเมิร์ซ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่นิยมแชตกับผู้ขาย

ด้านนายแฮจิน พยอน ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายกลยุทธ์การตลาด บริษัท อีเลฟเว่นสตรีท ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันนิยมจ่ายเงินซื้อของออนไลน์ด้วยบัตรเครดิต 70% จากเดิมที่เชื่อว่านิยมจ่ายเงินปลายทางทำให้เห็นว่าลูกค้าเชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น การชูเรื่องความปลอดภัยในการชำระเงินและการได้รับสินค้าแน่นอนยิ่งสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า

“เทคนิคที่สำคัญในการขายออนไลน์คือ ถ่ายภาพสินค้าและให้ข้อมูลสินค้าที่ดึงดูดให้ลูกค้าสนใจ โดยเฉพาะการรีวิวสินค้าจากผู้ซื้อผู้ใช้จริง ผู้บริโภคไม่ได้ฟังข้อมูลจากผู้ขายอีกต่อไปแล้ว การหาทางให้ผู้ซื้อกลับมารีวิวสินค้าที่ให้ความรู้สึกที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่อาจต้องออกแบบแรงจูงใจใหม่ ๆ”