
แม้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลที่เริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศโดยรวมของประเทศก็ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
โดยหลายธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว ทั้งศูนย์การค้า ค้าปลีกไอที สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่นเดียวกันธุรกิจอีเวนต์ ก็เริ่มทยอยกลับมาจัดงานกันแล้วบางส่วน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
ขณะที่รูปแบบการจัดงานหลังวิกฤตโควิดก็อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ทำให้ผู้จัดอีเวนต์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อย่าง แพลตฟอร์มบริหารจัดการอีเวนต์ครบวงจร ก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย
“เอกคณิต จันทร์สว่าง” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเว้นท์ ไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริหารจัดการอีเวนต์ครบวงจรภายใต้ชื่อ อีเว้นท์พาส (Eventpass) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า
แม้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จะคลี่คลายขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศแล้ว แต่เชื่อว่ารูปแบบการจัดงานเชิงธุรกิจ อีเวนต์ คอนเสิร์ต จะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว
เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนก็กังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งมาตราการทางสาธารณสุข ในการจำกัดผู้เข้าร่วมงานงานอีเวนต์ต่าง ๆ ทำให้ผู้จัดงานก็ต้องปรับตัวเองในหลากหลายมิติ ทั้งขนาดของงาน การบริหารจัดการ เพื่อให้ธุรกิจยังคงเดินต่อได้
สแกนอีเวนต์หลังโควิด
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันสามารถแบ่งการจัดงาน อีเวนต์ต่าง ๆ ได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ การจัดอีเวนต์ในต่างจังหวัด คาดว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น การจัดอีเวนต์แบบออฟไลน์ก็จะฟื้นกลับมาทันที เพราะสอดรับกับพฤติกรรมของคนต่างจังหวัดที่ชอบออกมาสัมผัสประสบการณ์จริง ๆ จากงานอีเวนต์ออฟไลน์มากกว่า
อีกส่วน คือ การจัดอีเวนต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิ๊กอีเวนต์ หรือการจัดประชุมเชิงธุรกิจ งานแสดงสินค้า นิทรรศการ จะถูกจัดขึ้นในลักษณะของไฮบริดอีเวนต์ ที่มีทั้งออนไลน์อีเวนต์และออฟไลน์อีเวนต์อย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน หากข้ามไปดูแนวโน้มการจัดอีเวนต์ปี 2565 คาดว่าครึ่งปีแรก ผู้จัดงานส่วนใหญ่ก็ยังคงช่างน้ำหนักอยู่ว่า จะเทน้ำหนักให้แก่การจัดงานออฟไลน์อีเวนต์ หรือออนไลน์อีเวนต์
หรือต้องจัดแบบไฮบริดอีเวนต์ เนื่องจากแนวทางการจัดงานยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ขณะที่ผู้จัดงานเองก็ยังไม่มั่นใจว่า หากเลือกจัดงานแบบออฟไลน์แล้ว ผู้เข้าร่วมงานจะมาร่วมงานหรือไม่
และอีเวนต์ที่จัดจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ทำให้ผู้จัดอีเวนต์ยังออกอาการกล้า ๆ กลัว ๆ อยู่ ดังนั้นเชื่อว่าการจัดอีเวนต์ครึ่งปีแรกของปี 2565 ก็ยังกระจัดกระจายอยู่ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์อีเวนต์ และไฮบริดอีเวนต์อยู่ เพราะยังไม่สามารถคาดการณ์พฤติกรรมของผู้บริโภคได้ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดก็ยังคงอยู่
ผู้จัดงาน-สินค้า ทบทวนแผนใหม่
ขณะเดียวกัน แม้รัฐบาลประกาศเปิดประเทศอย่างชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มลูกค้าของบริษัท คือ หลายรายกลับมาทบทวนรูปแบบการจัดงานมากขึ้น ทำให้แผนการจัดอีเวนต์ปี 2565 จากเดิมคาดว่าจะหนาแน่น
หรือบางรายที่เคยตัดสินใจจัดอีเวนต์ในรูปแบบออนไลน์แล้วก็ชะลอการจัดอีเวนต์ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาลอยู่ และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ผู้จัดอีเวนต์ แบรนด์สินค้าต่าง ๆ จะตัดสินใจได้ ว่า จะจัดอีเวนต์ขึ้นรูปแบบใด
“ภาพที่เกิดขึ้นตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า ทั้งผู้จัดงาน เจ้าของแบรนด์รอดูท่าทีอยู่ว่า หลังเปิดประเทศแล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งจะทำให้ผู้จัดตัดสินใจได้ชัดเจนว่า จะจัดแบบออฟไลน์ 100% หรือจัดออนไลน์ 100%
แต่ช่วงนี้มีการชะงัก และชะลอแผนไว้ก่อน แต่ไม่ได้หยุด เพราะในมุมของผู้จัดงานแล้วก็อยากจะกลับมาจัดงานให้ได้เร็วที่สุด และต้องการจะเดินหน้าต่อให้เร็วที่สุด”
ขยับตัวต่อเนื่อง
“ผลจากการระบาดโควิด-19 ทำให้รูปแบบจัดอีเวนต์ชัดเจนขึ้น หากเป็นอีเวนต์เชิงธุรกิจ ประชุม สัมมนา เจาะกลุ่มองค์กร ดีลธุรกิจ การจัดในรูปแบบไฮบริดอีเวนต์
หรือออนไลน์อีเวนต์ก็สามารถทำได้ และประสบความสำเร็จ แต่หากเป็นอีเวนต์มาร์เก็ต อีเวนต์ขายของก็ยังคงต้องเป็นออฟไลน์อีเวนต์อยู่ โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่ยังนิยมเดินงานอีเวนต์อยู่”
ในส่วนทิศทางธุรกิจ อีเว้นท์พาส “เอกคณิต” บอกว่า โควิด-19 ทำให้การจัดอีเวนต์ออฟไลน์หายไปทั้งหมด แต่ผลประกอบการปี 2563 ก็มีรายได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2562
แสดงให้เห็นว่าบริษัทยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะได้เร่งเสริม tech team ขึ้นพัฒนาโซลูชั่น ฟีเจอร์ใหม่ เพื่อพัฒนาออนไลน์อีเวนต์ขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มรายได้ปีนี้เริ่มดีขึ้น
ปัจจุบันบริษัทมีฟีเจอร์และโซลูชั่นใหม่ที่รองรับกับการจัดอีเวนต์ในหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งได้พัฒนา virtual event ขึ้นเอง ภายใต้ชื่อ “TRAMS Virtual Festival” เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ มีเป้าหมายเพื่อโชว์ศักยภาพด้านเทคโนโลยีของอีเว้นท์พาส
ทั้งในส่วนของกลุ่มลูค้า B2B และ B2C ที่เน้นการไลฟ์ การขายของ และได้พัฒนาฟีเจอร์ออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงปลายปีก่อน 2563 และพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ดังนั้นการพัฒนา
หรือการเป็นเทคคอมปะนี ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้เมื่อปีก่อน ก็ยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง และคาดว่าจะพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีหน้า
สำหรับรายได้หลักปัจจุบันยังมาจาก 3 ส่วนหลัก ๆ คือ 1.ธุรกิจมีเดีย มีเพจ เว็บไซต์ และโมบายแอป ในชื่อ Eventpass นำเสนอคอนเทนต์ของงานอีเวนต์ และโปรโมชั่นต่าง ๆ
2.ธุรกิจบริหารจัดการงานอีเวนต์เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี มีโซลูชั่นต่าง ๆ แบบครบวงจร เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร ถือเป็นรายได้หลักของบริษัท และ 3.บริการซอฟต์แวร์บริหารจัดการอีเวนต์ คาดว่ารายได้ส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
“เอกคณิต” ย้ำว่า ปี 2565 เชื่อว่าจะเป็นทิศทางขาขึ้นของธุรกิจอีเวนต์แพลตฟอร์ม เพราะว่า คนปรับตัวได้แล้ว โดยอีเว้นท์พาสก็จะให้น้ำหนักในธุรกิจบริการซอฟต์แวร์บริหารจัดการอีเวนต์
ลุยพัฒนาโซลูชั่นรับเมตาเวิร์ส
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเทรนด์เมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือการสร้างสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ดังนั้นในฐานะแพลตฟอร์มบริหารจัดการอีเวนต์ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม หนึ่งในนั้นที่ได้เตรียมไว้ คือ การทำ virtual event
“เอกคณิต” อธิบายว่า การที่จะทำ virtual event สำหรับงานอีเวนต์เพียง 1 งาน อาจจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะ virtual event ของบริษัท กับออนไลน์อีเวนต์ ต่างกัน
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เข้าใจว่าการประชุมสัมมนาออนไลน์ คือ virtual event แต่อีเว้นท์พาส มองว่า virtual event คือ ผู้เข้าร่วมงานต้องสัมผัสได้ มองเห็นได้เช่น มีบูทจัดแสดงสินค้า
สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วมงาน เสมือนผู้เข้าร่วมได้เดินทางไปงานสัมมนา หรืออีเวนต์นั้นจริง ๆ โดยเชื่อทิศทางนี้เข้ามารองรับโลกเมตาเวิร์ส ที่กำลังจะเกิดขึ้น และเป็นแนวโน้มที่บริษัทจะพัฒนาโซลูชั่นและฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตนี้
“จากเดิมที่จะจัดแค่ 7 วัน 15 วัน หรือ 1 เดือน โดยความเป็น virtual event หรือเมตาเวิร์สนี้ต้องขายได้ทุกวันเราก็จะเติมฟีเจอร์เข้ามาอีก เช่น ระบบเพย์เมนต์เกตเวย์ ระบบเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้า
เพื่อให้หน้าร้านสินค้าได้ หรือสามารถเล่นกิจกรรมการตลาดด้วยการนำคูปองส่วนลด หรือคูปองแทนเงินสด จากกิจกรรม virtual event มาใช้ที่หน้าร้านจริงหรือหน้าออนไลน์ ซึ่งเราได้พัฒนาขึ้นมาเสริมในปีนี้และจะพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”
นอกจากนี้ ยังมีบริการใหม่ คือ Eventpass Shop ที่ได้พัฒนาขึ้น ถือเป็นระบบหลังบ้านของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่เปิดร้านบนโซเชียลคอมเมิร์ซ หรือเวอร์ชวลสโตร์ อีกส่วนคือ Eventpass Mall
ถือเป็นหน้าร้าน เสมือนยกสินค้าของพาร์ตเนอร์แต่ละรายขึ้นมาขายบนช่องทางออนไลน์ เจาะกลุ่มแฟนเพจของอีเว้นท์พาส ซึ่งโซลูชั่นทั้งหมดที่สร้างขึ้นนี้
จะทำให้บริษัทสามารถเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ ในการเป็น business to business to consumer (B2B2C) ด้วยการเชื่อมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่มีเข้าด้วยกันและเข้าไปอยู่ในทุกเส้นทางของผู้บริโภค (cosumer journey)