สมรภูมิ OTT ไม่หมู “ไลน์ทีวี” ตัดใจไม่ไปต่อ

ไลน์ทีวี

Ovem บริษัทจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านโทรคมนาคม และเทคโนโลยีจากประเทศอังกฤษ คาดการณ์ว่าธุรกิจให้บริการเนื้อหารายการต่าง ๆ ทั้งภาพยนตร์, ซีรีส์ และคอนเทนต์ต่าง ๆ

ผ่านแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต หรือ OTT (over the top) ทั่วโลกจะเติบโตต่อเนื่อง จากปี 2562 ที่มีผู้ใช้บริการ 657 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 968 ล้านคนในปี 2566 ส่วนในประเทศไทยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.64 ล้านคนในปีนี้

สำหรับโมเดลในการให้บริการจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.SVOD (subscription video on demand) หรือบริการแบบเก็บค่าสมาชิก เช่น เน็ตฟลิกซ์, ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์, โมโนแม็กซ์ เป็นต้น

2.TVOD (transactional video on demand)ที่เก็บบริการเป็นครั้ง ๆ เช่น Viu, trueID เป็นต้น และ 3.AVOD (advertising-based video on demand) ให้รับชมฟรี โดยผู้ให้บริการมีรายได้จากโฆษณา เช่น ไลน์ทีวี (Line TV) เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่าโมเดลธุรกิจที่ให้ดูฟรีโดยเก็บรายได้จากโฆษณาอาจจะไม่สดใสนัก เมื่อ “ไลน์ทีวี” ประกาศว่า จะให้บริการเป็นวันสุดท้ายในวันที่ 31 ธ.ค. 2564 นี้

จากการสอบถามไปยังทีมงานไลน์ทีวีได้คำตอบว่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และว่า หลังจากนี้จะนำคอนเทนต์ของไลน์ทีวีไปต่อยอดพัฒนา หรือเปิดบริการใหม่หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้

การตัดสินใจออกจากตลาดของ “ไลน์ทีวี” สะท้อนสภาพการแข่งขันในสมรภูมิ OTT ได้เป็นอย่างดีว่าไม่ง่าย และเต็มไปด้วยผู้เล่นระดับโลกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เน็ตฟลิกซ์, ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์, Viu หรือ WeTV ในเครือเทนเซ็นต์

แหล่งข่าวในธุรกิจ OTT ให้มุมมองว่า โมเดลธุรกิจของไลน์ทีวีแตกต่างจากผู้เล่นรายใหญ่รายอื่น เนื่องจากชูคอนเทนต์ไทยเป็นจุดขายหลัก อีกทั้งยังให้บริการเฉพาะในประเทศไทย

โดยวางตัวเองเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่มีรายได้จากเม็ดเงินโฆษณา ขณะที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการใช้งบฯโฆษณาของสินค้าต่าง ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ประกอบกับวิกฤตโควิดลากยาวเกือบ 2 ปี จึงอาจทำให้รายได้ไม่ได้เป็นไปตามเป้า ขณะที่มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“โมเดลธุรกิจของผู้เล่นรายใหญ่ที่ยังอยู่ในตลาดไทยก็ค่อนข้างชัดเจนว่า ทำคอนเทนต์ให้คนทั้งโลกดู ไม่ใช่เฉพาะผู้ชมในประเทศใดประเทศหนึ่ง

เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนการผลิตคอนเทนต์ หรือการซื้อลิขสิทธิ์ก็จะลดลงด้วย เช่น เน็ตฟลิกซ์ ให้บริการในกว่า 190 ประเทศทั่วโลกหรือดิสนีย์พลัสก็เช่นกัน”

ก็คงเหมือนอย่างที่ผู้บริหาร “เน็ตฟลิกซ์” เคยกล่าวไว้ว่า คู่แข่งสำคัญไม่ใช่ผู้ให้บริการรายอื่น ๆ หากแต่คือการช่วงชิงเวลา “นอน” ในเมื่อเราต่างมีเวลา 24 ชม.เท่ากันทุกคน