ชาวอินเดียยึดเก้าอี้ซีอีโอ 5 ยักษ์เทคฯ ย้ำ Silicon Valley of Asia

อินเดียยึดเก้าอี้ซีอีโอยักษ์เทค

ชาวอินเดียก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกมาแล้วหลายคน ล่าสุดคือ “ปารัก อักราวัล” ที่รับไม้ต่อจาก “แจ็ค ดอร์ซีย์” เพื่อดูแลทวิตเตอร์

วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “แจ็ค ดอร์ซีย์” ซีอีโอของทวิตเตอร์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากนั้นทวิตเตอร์ก็ได้ผู้บริหารคนใหม่เป็นชายชาวอินเดียชื่อ “ปารัก อักราวัล” ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีของทวิตเตอร์มาก่อน

แม่ทัพทวิตเตอร์คนใหม่ต้องเผชิญความท้าทายหลายอย่างในช่วงเวลาวิกฤตของบริษัท ซึ่งกำลังรุกขยายธุรกิจใหม่ ๆ และพยายามเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน ควบคู่กันไป รวมถึงการจัดการปัญหาเพื่อรับมือกับกฎระเบียบใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น การใช้ข้อความแสดงความเกลียดชัง และการบิดเบือนข้อมูล ซึ่งเคยสร้างความไม่สบายใจให้กับดอร์ซีย์มาแล้วหลายครั้ง

แม้ทวิตเตอร์จะมีจำนวนผู้ใช้งานห่างไกลลิบลับจากเบอร์หนึ่งอย่าง “เฟซบุ๊ก” แต่ทวิตเตอร์ก็ต้องถูกตรวจสอบในระดับใกล้เคียงกับเฟซบุ๊ก เพราะข้อความเพียงข้อความเดียวที่คนดังทวีตในทวิตเตอร์ สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ไหนแฮชแท็กต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนอีก

ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้อักราวัลกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับตามากที่สุดในโลกเทคโนโลยี

“อักราวัล” จากวิศวกรซอฟต์แวร์สู่ซีอีโอ

แม้จะไม่ใช่ผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์เหมือนดอร์ซีย์ แต่อักราวัลก็เป็นผู้มีประสบการณ์ในบริษัทมานานหลายทศวรรษ เขาเข้าทำงานในทวิตเตอร์เมื่อปี 2554 ในตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์ ก่อนจะเลื่อนเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีของบริษัทเมื่อปี 2560 ก่อนหน้านั้นเขาเคยทำงานที่ไมโครซอฟท์ และยาฮู เมื่อช่วงปี 2543

อักราวัลจบการศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย บอมเบย์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในฐานะวิศวกร อักราวัลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนทวิตเตอร์ เขายังมีส่วนดูแลงานด้านสกุลเงินดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์อีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่เขากลายเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ในตำแหน่งซีอีโอ

“เขาเป็นตัวเลือกของผมมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเขาเข้าใจบริษัทและความต้องการของบริษัทอย่างลึกซึ้ง” ดอร์ซีย์เปิดเผยบนทวิตเตอร์ และว่า “อักราวัล อยู่เบื้องหลังทุกการตัดสินใจที่สำคัญที่ช่วยพลิกบริษัท เขาเป็นคนขี้สงสัย ละเอียดถี่ถ้วน มีเหตุผล สร้างสรรค์ รอบรู้ และถ่อมตน เขาเป็นผู้นำด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ”

ดอร์ซีย์เผยด้วยว่า การตัดสินใจแต่งตั้งอักราวัลเป็นซีอีโอทวิตเตอร์นั้น คณะกรรมการลงคะแนนเสียงอย่างเป็นเอกฉันท์

การแต่งตั้งอักราวัลเป็นผู้บริหารทวิตเตอร์ ยังสะท้อนธีมของ Silicon Valley อย่างชัดเจน เพราะบริษัทให้ความสำคัญกับตัวผู้นำซึ่งมาจากสายวิศวกร แทนที่จะหันไปเลือกผู้ที่มาจากสายธุรกิจ เพื่อตอบสนองในแง่การสร้างรายได้ให้บริษัทเพิ่มมากขึ้น

อักราวัลยังย้ำประเด็นนี้ให้ชัดขึ้นอีก ด้วยการส่งจดหมายฉบับแรกในฐานะซีอีโอให้กับพนักงาน ระบุว่า

“ผมเป็นหนึ่งในพวกคุณ ผมเข้าใจคุณ ผมมองเห็นความท้าทายและอุปสรรค ชัยชนะและความผิดพลาด เช่นเดียวกับพวกคุณ”

4 ซีอีโออินเดียของกูเกิล-ไมโครซอฟท์- อะโดบี-ไอบีเอ็ม

ยักษ์เทคฯ ที่มีชาวอินเดียเป็นซีอีโอบริษัทยังมีอีก 4 แห่ง ได้แก่ “ซันดาร์ พิชัย” ซีอีโอของกูเกิล ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome นอกจากนี้ยังเคยรับผิดชอบหลายโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ Google search ตั้งแต่ Firefox, Google Toolbar, Desktop Search, และ Gadget ต่าง ๆ ของกูเกิล

ความโดดเด่นในการบริหารของเขาคือ การเป็นคนสอนงานและสร้างความแข็งแกร่งให้ทีมด้วยตนเอง ทั้งยังได้รับการยกย่องในด้านการบริหารจัดการ ที่น่าเป็นแบบอย่างคือการหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งในออฟฟิศ และมักเปลี่ยนให้ประเด็นความขัดแย้งกลายเป็นการผลักดันให้งานประสบความสำเร็จ

ส่วนไมโครซอฟท์มี “สัตยา นาเดลลา” เป็นซีอีโอ นอกจากการเป็นผู้นำโครงการสำคัญต่าง ๆ เขายังมีผลงานเด่นคือการย้ายบริษัทไปสู่การประมวลผลแบบคลาวด์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาได้รับการยกย่องในการช่วยนำฐานข้อมูลของไมโครซอฟท์ และเครื่องสำหรับนักพัฒนามาสู่ Azure cloud สร้างรายได้ให้บริษัทจำนวนมาก

อะโดบี หนึ่งในบริษัทซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายมากที่สุดในโลก ปัจจุบันมี “ชานทานู่ นาราเยน” เป็นซีอีโอ

ภายใต้การนำของชานทานู่ อะโดบีประสบความสำเร็จอย่างสูงเป็นประวัติการณ์และเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมสำหรับสถานที่ทำงานที่มีความครอบคลุม สร้างสรรค์ และโดดเด่น รวมถึงการได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ทำงานที่ยอดเยี่ยมและเป็นบริษัทที่น่ายกย่องที่สุดโดย Fortune อย่างต่อเนื่อง

ปิดท้ายที่ไอบีเอ็ม ซึ่งมี “อาร์วินด์ คริชนา” เป็นซีอีโอ เขาผู้นี้เป็นผู้นำในการสร้างและขยายตลาดใหม่สำหรับไอบีเอ็ม ทั้งในด้านปัญญาประดิษฐ์ คลาวด์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม และบล็อกเชน ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมของไอบีเอ็มโดยใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้

ล่าสุดเขาได้ผลักดันการเข้าซื้อกิจการ “เรดแฮต” หนึ่งในบริษัทที่เป็นที่รู้จักในธุรกิจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ อีกด้วย

ปี 2559 นิตยสารเวียร์ดเลือกอาร์วินด์ให้เป็น 1 ใน 25 อัจฉริยะที่สร้างอนาคตของธุรกิจ สำหรับงานพื้นฐานของเขาในบล็อกเชน

อินเดียกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี

อินเดียเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านเทคโนโลยีมานานกว่า 20 ปีแล้ว เป้าหมายเพื่อสร้างความมั่งคั่งและสร้างงานให้กับประเทศ

ประกอบกับการปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีภายในประเทศของจีนในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนทั่วโลก ที่เริ่มไม่มั่นใจในความมั่นคงต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน ส่งผลให้อินเดียกลายเป็นตลาดเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ และพร้อมโอบรับนักลงทุนที่แสวงหาทางเลือกใหม่ในภูมิภาคแทนจีน

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอินเดียกำลังขยายตัวรวดเร็ว โดย “ดีลโลจิก” บริษัทวิจัยระดับโลก ระบุว่า เม็ดเงินระดมทุนของบริษัทเทคโนโลยีอินเดียที่เสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในปีนี้อยู่ที่ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 550% จากปีที่แล้ว

จากโอกาสในด้านเทคโนโลยีของอินเดียที่มีมหาศาล จึงไม่น่าแปลกที่อินเดียจะเต็มไปด้วยทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถทางเทคโนโลยี