“ไนน์บอท”สกูตเตอร์คนเมือง เจาะตลาดครอบครัว-วัยรุ่น

ไนน์บอท ส่งสกูตเตอร์อัจฉริยะเจาะตลาดไทย ย้ำไม่ใช่แค่ของเล่น แต่เดินทางได้จริง ตอบโจทย์เมืองรถติด ประเดิมตั้งตัวแทนจำหน่ายลุยช่องทางออนไลน์ พร้อมเจรจาค้าปลีกไอที-จักรยานเป็นช่องทางขายเพิ่ม ตั้งเป้ายอดขาย 2,000 เครื่องใน 1 ปี 

นายอเล็กซ์ ฮวง ประธานหน่วยธุรกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไนน์บอท (Ninebot) ผู้ผลิตด้านนวัตกรรมพาหนะส่วนบุคคล เปิดเผยว่า หลังจากได้มีการรวมกิจการกับบริษัท เซกเวย์ (Segway) ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เพื่อการเคลื่อนที่อัจฉริยะ ตั้งแต่ปี 2558 ทำให้บริษัทมีสิทธิบัตรในมือกว่า 500 ฉบับ และเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดสินค้า Self Balancing ซึ่งปัจจุบันได้วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์แล้ว 89 เมือง มีร้านจำหน่าย 260 แห่ง และภายในปีนี้มีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 300 แห่งทั่วโลก ล่าสุดได้ตั้งบริษัท เอนเนอร์อินโฟ จำกัด ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายไนน์บอทอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้มีเมืองที่จำหน่าย 90 เมือง

“ไทยน่าจะมีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากอุปกรณ์นี้เหมาะกับประเทศที่มีปัญหาด้านการจราจร ช่วยในการเดินทางระยะสั้นราว 1-15 กิโลเมตรได้ แต่ในไทยยังเป็นเรื่องใหม่ และคิดว่าเป็นของเล่น แต่จริง ๆ ใช้งานได้จริง โดยในเอเชีย-แปซิฟิก เกาหลีใต้ มียอดขายสูงสุด”

นายปิยังกูร ลิ่มวานิชรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอนเนอร์อินโฟ จำกัด กล่าวว่า เทรนด์ Self Balancing เริ่มเข้ามาในไทยราว 2 ปี คาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก ปัจจุบันมีผู้จำหน่ายสินค้าประเภทนี้ 2-3 ราย โดยสินค้าที่จะวางจำหน่ายในไทยขณะนี้คือ สกูตเตอร์อัจฉริยะ 3 รุ่น Ninebot MiniPro มีจุดเด่นไม่ต้องใช้มือบังคับ มาพร้อมแบตเตอรี่ที่ขับขี่ได้ 30 กิโลเมตร ด้วยการชาร์จ 4 ชั่วโมง ราคา 29,900 บาท และ Ninebot One S2 และ A1 ที่มีน้ำหนักเบา โดย S2 มีน้ำหนัก 11.4 กิโลกรัม และ A1 หนัก 10.5 กิโลกรัม

โดย S2 แล่นได้เร็วสูงสุดที่ 24 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ A1 ทำความเร็วได้สูงสุด 18 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดย S2 ราคา 27,900 บาท และ A1 ราคา 15,900 บาท

โดยบริษัทจะเน้นไปที่กลุ่มครอบครัวและวัยรุ่นเป็นหลัก คู่กับการสร้างพาร์ตเนอร์ระยะยาวสำหรับกลุ่มธุรกิจ อาทิ การท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะ หรือสวนสาธารณะ หรือโกดังโรงงานที่มีพื้นที่กว้าง ซึ่งในระยะแรกจะเน้นการใช้ช่องทางออนไลน์ th.ninebot.com ช่วยให้ข้อมูลสินค้า ขณะที่การสั่งซื้อจะผ่าน Facebook, Instagram ชื่อเดียวกันกับเว็บไซต์ และหน้าร้านบนแพลตฟอร์ม Lazada กับ 11Street รวมทั้งมีศูนย์บริการเพื่อให้ผู้สนใจได้ทดลองใช้สินค้าอยู่แถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และใน 2 เดือนจะเปิดเพิ่มให้ใกล้กับเส้นทางรถไฟฟ้า

ขณะเดียวกันกำลังเจรจาเพิ่มช่องทางตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไอที หรือจักรยาน รวมถึงเชนไอทีสโตร์ ก่อนจะขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ โดยเตรียมงบฯการตลาดไว้ 5% ของการขาย ตั้งเป้าในครึ่งปีนี้จะขายได้ 800-900 ชิ้น และ 2,000 ชิ้นใน 1 ปี ซึ่งถ้าทำได้คาดว่าจะเป็นที่ 1 ของตลาดนี้