นิติเศรษฐศาสตร์ของเหรียญ NFT กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลกับ NFT (5)

bitcoin
คอลัมน์ระดมสมอง
ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย
สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา

หากพิจารณาการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเหรียญ NFT อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้าง (2) แพลตฟอร์มที่ให้บริการจัดแสดงและจำหน่ายเหรียญ NFT และ Underlying Asset (UA) ที่เชื่อมโยงหรืออ้างอิงกับเหรียญ NFT นั้น ๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นงานศิลปะดิจิทัล

ทั้งนี้ ผู้ที่ให้บริการสร้างเหรียญ NFT และแพลตฟอร์มจัดแสดงและจำหน่ายเหรียญดังกล่าวมักเป็นผู้ประกอบการรายเดียวกัน ก็เพราะหากต้องการให้กระบวนการบังคับตามเงื่อนไขและข้อกำหนดใน smart contract ของเหรียญ NFT แต่ละเหรียญ การจำหน่ายเหรียญ NFT นั้นต้องจัดทำขึ้นบนเครือข่ายบล็อกเชนที่เก็บข้อมูล smart contract (หรือที่เรียกว่า on-chain transaction ตามที่ได้อธิบายไว้โดยละเอียดในข้อ 2 ข้างต้น) เช่น MakersPlace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสร้าง แสดง และจำหน่ายเหรียญ NFT ที่เชื่อมโยงหรืออ้างอิงกับงานศิลปะดิจิทัลที่สร้างขึ้นบนระบบอีเทอเรียมบล็อกเชน เป็นต้น

เมื่อพิจารณานิยามคำว่า ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 พบว่า การให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อจัดแสดงและจำหน่ายเหรียญ NFT ที่ใช้เพื่อเป็นหลักฐานและกำหนดเงื่อนไขการครอบครองสิ่งของดิจิทัลหรือสิ่งของทางกายภาพตามที่ได้อภิปรายไว้ข้างต้น ไม่ใช่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามนิยามเพราะไม่มีประกอบกิจการเป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล

ทั้งนี้ก็เพราะเหรียญ NFT ไม่ใช่สินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายดังกล่าว นอกจากนั้น หากพิจารณารูปแบบการประกอบธุรกิจของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและแพลตฟอร์ม NFT พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้

ผู้เขียนเห็นว่าการตีความกฎหมายในลักษณะนี้เป็นการตีความที่สอดคล้องกับแนวทางการสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนดิจิทัลและการคุ้มครองผู้ลงทุน กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และกฎหมายเกี่ยวกับตลาดทุนอื่น ๆ ควรกำกับกิจกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน และรวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนเท่านั้น

เหรียญ NFT ซึ่งเป็นเพียงการแสดงหลักฐานหรือกรรมสิทธิ์ในสิ่งของบนโลกดิจิทัล จึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุน

เพราะไม่ได้สร้างสิทธิให้แก่ผู้ถือครองเหรียญที่สามารถบังคับได้กับผู้เสนอขายเหรียญในอนาคต

นอกจากนั้น หากพิจารณาลักษณะการประกอบธุรกิจของแพลตฟอร์มจัดแสดงและจำหน่ายเหรียญ NFT พบว่ามีความแตกต่างจากการให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

เพราะไม่มีลักษณะเป็นการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งประเภทใดต่อผู้ลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่เป็นเพียงการเสนอขายหรือประมูลเหรียญ NFT ที่มีความเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้สร้างเหรียญและบุคคลที่สามในฐานะผู้ซื้อ

และไม่ใช่ลักษณะของการเสนอขายเพื่อระดมทุนจากสาธารณะ

หมายเหตุ – ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เฟซบุ๊ก @narunonfintechlaw และมีเดียมที่ medium.com/fintech-law-and-public-policy

– บทความเป็นความเห็นทางวิชาการของผู้เขียนเท่านั้น