ถล่มโปรเขย่าดีล “ทรู-ดีแทค” ลดต้นทุนธุรกิจ-ผู้บริโภคต้องได้ด้วย

มือถือ

บิ๊กดีลระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์(เครือ ซี.พี.) และกลุ่มเทเลนอร์ กรณีความร่วมมือในธุรกิจโทรคมนาคมระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ยังคงเป็นที่จับตาจากหลายฝ่ายซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ใครต่อใครจะให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพราะส่งผลกระทบในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้บริโภค แม้ทั้งคู่จะย้ำว่าเป็นการสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (technology company)

เมื่อผู้เล่นหลักในฐานะเบอร์ 2 และเบอร์ 3 (ในเชิงฐานลูกค้า) ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือไทยที่เคยขับเคี่ยวแข่งขันกันอย่างหนักหันมาจูบปากผนึกกำลังกัน ตลาดที่เคยแข่งกัน 3 เจ้า

“เอไอเอส ทรูมูฟ เอช และดีแทค” ก็จะเหลือ “เอไอเอส” กับบริษัทใหม่ที่เกิดจากการรวมกันระหว่าง “ทรูมูฟ เอช และดีแทค” (ถ้าปิดดีลสำเร็จ)คาดว่าจะเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2565

ในระหว่างทาง “เอไอเอส” ไม่รอช้า ใช้จังหวะเดียวกันดันแคมเปญต้อนรับลูกค้าของคู่แข่งทันที โดยใช้พรีเซ็นเตอร์ในเครือข่ายมาช่วยกันชวนลูกค้าให้ย้ายค่ายมาเป็นครอบครัวเดียวกัน พร้อมติดแฮชแท็ก #อยู่กับเอไอเอสดีที่สุด

สแกนโปรฯย้ายค่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่ละค่ายต่างลดราคาแพ็กเกจเพื่อจูงใจลูกค้าให้ย้ายมาใช้บริการของตนเองโดยพร้อมเพรียงกัน เริ่มจาก “เอไอเอส” มีโปรโมชั่นลดราคาแพ็กเกจบริการ 5G ลง 25%

สำหรับเเพ็กเกจเล่นเน็ตไม่จำกัด ราคาเริ่มต้น 899 บาท จากปกติ 1,190 บาทต่อเดือน โทร.ฟรีนอกเครือข่าย 150 นาที ตามด้วยราคา 1,049 บาทต่อเดือน จากปกติ 1,399 บาท โทร.ฟรีในเครือข่ายเอไอเอส

โทร.ฟรีนอกเครือข่าย 280 นาที และสูงสุดราคา 1,499 บาท จากราคา 1,999 บาทต่อเดือน โทร.ฟรีนอกเครือข่าย 700 นาที และแพ็กเกจ 5G ราคาพิเศษ เริ่มต้น 300 บาทต่อเดือน เน็ตไม่อั้น ความเร็ว 10 Mbps

โทร.ฟรีนอกเครือข่าย 50 นาที และสูงสุด 599 บาทต่อเดือน เล่นเน็ต 20 GB ใช้ต่อเนื่องที่ความเร็ว 15 Mbps โทร.ฟรีนอกเครือข่าย 300 นาที เป็นต้น

ฝั่ง “ทรูมูฟ เอช” ก็ไม่น้อยหน้า ขนแพ็กเกจดึงลูกค้าย้ายค่ายด้วยการลดราคาแพ็กเกจ 5G ซูเปอร์สมาร์ทสูงสุด 50% นาน 12 เดือน แถมฟรี 1 เดือน ที่ราคาเริ่มต้น 250 บาทต่อเดือน จาก 499 บาท โทร.ฟรี 200 นาที

เล่นเน็ตได้ 15 GB ความเร็วสูงสุด 1 Gbps และราคาสูงสุด 650 บาทต่อเดือน จากปกติ 1,299 บาท เล่นเน็ตได้ 55 GB ความเร็วสูงสุด 1 Gbps โทร.ฟรี 600 นาที มีแพ็กเกจ 5G เฟล็กซี่ อันลิมิเต็ด

ย้ายค่ายเบอร์เดิม ราคาเริ่มที่ 449 บาทต่อเดือน เล่นเน็ต 5 GB ความเร็ว1 Gbps โทร.ฟรี 150 นาที และราคาสูงสุด 599 บาทต่อเดือน เล่นเน็ตได้ 20 GB ความเร็ว1 Gbps โทร.ฟรี 300 นาที

ส่วน “ดีแทค” ก็ไม่อยู่เฉย มีโปรโมชั่น “ย้ายมาดีแทค ใช้เน็ตเร็วสุดได้ไม่อั้น ไม่ลดสปีด” ลดราคาถึง 60% เฉพาะลูกค้าย้ายค่าย ที่ราคาเริ่มต้น 199 บาทต่อเดือน จากปกติ 499 บาท

เล่นเน็ตความเร็ว 10 GB โทร.ฟรี 200 นาทีทุกเครือข่าย และสูงสุดเพียงเดือนละ 555 บาท เล่นเน็ตไม่ลดความเร็ว โทร.ฟรี 300 นาทีทุกเครือข่าย นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นเฉพาะ ได้แก่ เน็ตเต็มสปีด เน็ตไม่อั้น ให้ลูกค้าเลือกได้

พลัง “โซเชียล” ป้องผู้บริโภค

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนค่อนข้างสูงมาก ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ตลาดเข้าสู่จุดอิ่มตัว ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในหลายมิติ เพื่อให้ธุรกิจยังคงเติบโต โดยเฉพาะรายได้ เชื่อว่าการควบรวบจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งสองบริษัท

รวมถึงผู้บริโภค และประเทศไทยไปพร้อมกัน โดยจะเป็นโอกาสในการสร้างการแข่งขันที่ดีขึ้นมากกว่าที่จะเป็นการผูกขาดตลาด

“หลังมีการประกาศดีลนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจน คือคู่แข่งประกาศลดราคาแพ็กเกจ 5G ลง 25% เช่นเดียวกับทรูเองก็ประกาศลดราคาแพ็กเกจลงอีก 50% ดังนั้นสิ่งที่กังวลว่าหากเหลือผู้เล่น 2 รายจะเกิดการรวมตัวกันปรับขึ้นค่าบริการคงไม่เกิด

เพราะแต่ละรายต้องพยายามรักษาฐานลูกค้าไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้สูญเสียลูกค้าไป”

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าตลาดจะถอยหลังกลับไปเหมือนในอดีต เช่น มีการล็อกรหัสประจำเครื่อง (อีมี่) ที่มีผู้เล่น 2 รายนั้น เชื่อว่าประเด็นนี้จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากตลาดปัจจุบันแข่งขันเสรี เป็นธรรม

ภายใต้การกำกับดูแลโดย กสทช. ซึ่งมีอำนาจจัดการ ขณะที่ผู้บริโภคเปิดรับสื่อจากหลายช่องทาง และมีช่องทางแสดงความคิดเห็นบนออนไลน์ ทั้ง
เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ เป็นต้น

ดังนั้นค่ายไหนที่เอาเปรียบก็จะโดนโพสต์เรื่องราวบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งในมุมของแบรนด์อาจได้ไม่คุ้มเสียเช่นกัน

จัดการไม่ดียากจะสู้เบอร์ 1

ด้านแหล่งข่าวจากธุรกิจโทรคมนาคมกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างทรู และดีแทคเกิดขึ้นบนเป้าหมายร่วมกัน คือต้องการทำให้ทั้งคู่ได้ประโยชน์

ทั้งในแง่การลดต้นทุน และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และคาดว่าจะมีผลกระทบกับ 1.บุคลากรในองค์กรของสองบริษัท เพราะการรวมกันทำให้ “งาน และคน” หลายส่วนมีความซ้ำซ้อน

และ 2.กระทบกับคู่ค้าหรือเวนเดอร์ ทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ และบริษัทที่ทำงานร่วมกันกับทั้งคู่จากเดิม ทั้งดีแทค และทรู ต่างฝ่ายต่างดิวกับคู่ค้าของตนเองแยกกัน แต่ต่อไปจะรวมกัน เป็นต้น

“สถานีฐานที่เคยต่างคนต่างสร้าง ก็ไม่ต้องแล้ว ก็จะต้องคิดว่าจะใช้ร่วมกันได้ยังไง แน่นอนว่าจะทำให้เครือข่ายการให้บริการครอบคลุมขึ้น รวมถึงความถี่ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เรียกว่าเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับเบอร์หนึ่ง

เช่นกันกับในแง่ฐานลูกค้า เมื่อเบอร์ 2 เบอร์ 3 รวมกันก็มากกว่าที่เอไอเอสมี แต่ในแง่รายได้ และกำไร รวมแล้วก็ยังตามหลังเบอร์ 1 จึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการธุรกิจหลังดีลจบว่าจะเป็นเช่นไร ถ้าทำได้ดีก็อาจมีโอกาสชนะเบอร์ 1 ที่มีกำไรที่แข็งแรงได้

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ทั้งเบอร์ 2 และเบอร์ 3 แทบจะไม่มีโอกาสชนะเบอร์ 1 ได้เลยจึงต้องร่วมมือกัน อีกจุดที่ทั้งคู่จะต้องแสดงให้ผู้บริโภคเห็นก็คือ เมื่อบริษัทได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลงแล้ว ผู้บริโภคจะได้อะไร”

ย้ำ “กสทช.” ต้องดูแลค่าบริการ

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าการแข่งขันที่ลดลงจากการที่ผู้เล่นหลักลดจำนวนลงจะส่งให้ค่าบริการแพงขึ้นได้นั้น แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวว่าต้องขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจ เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมชัดเจน โดยประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนด และกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบุว่าราคาบริการเสียงต้องไม่เกิน 0.60 บาทต่อนาที

บริการข้อความสั้นไม่เกิน 0.89 บาทต่อข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดียไม่เกิน 2.33 บาทต่อข้อความ และบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ไม่เกิน 0.16 บาทต่อเมกะไบต์ เป็นต้น

“โครงสร้างอัตราค่าบริการมีอยู่แล้ว กสทช.มีหน้าที่ที่จะต้องสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคว่าจะไม่ให้ราคาแพงขึ้น

เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกังวลว่าการรวมกันของทรูและดีแทคอาจทำให้ค่าบริการปรับแพงขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น ถ้า กสทช.ไม่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค”

“ลูกค้า” เลือกใช้บริการที่ดีกว่า

ด้าน นายอิกอร์ มอเรล ประธาน บริษัท อีริคสัน ประเทศไทย กล่าวว่า ในต่างประเทศก็มีกรณีที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรวมตัวกัน เช่น อินเดีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยเชื่อว่าการแข่งขันจะยังสูงขึ้น

เช่นกันกับการพัฒนาคุณภาพเครือข่าย และบริการ ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดระหว่างเบอร์ 1 กับเบอร์ 2 จะไล่เลี่ยกัน หรือมีเส้นแบ่งต่างกันเล็กน้อย โดยมองว่าหากดีลควบรวมระหว่างทรู และดีแทคแล้วเสร็จ

สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้น คือผู้ประกอบการมีฐานลูกค้าใหญ่ขึ้น ขณะที่ต้นทุนลดลงจึงเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้มากขึ้น

แต่ในระยะยาวก็ยังคงต้องร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพเครือข่าย และบริการเพื่อให้ประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าให้ได้ เพราะท้ายที่สุดโอกาสของการเติบโตของธุรกิจขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภค

ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้วก็ต้องให้บริการที่ดีกับลูกค้า และสำหรับอีริคสันเองก็คงต้องทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด