ลุ้นเหนื่อยคลื่น 2300 ต่อลมหายใจ “ทีโอที-ดีแทค”

28 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา “บอร์ดทีโอที” ไฟเขียวให้ “ทีโอที” ลงนามในสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายมือถือในประเทศ (โรมมิ่ง) บนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ (15 เมกะเฮิรตซ์) และสัญญาการเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม กับ”เอไอเอส” ได้แล้ว หลังอัยการสูงสุด ตรวจร่างสัญญาเสร็จ โดย “ทีโอที” หวังว่าจะมีการลงนามได้ในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งดีลนี้หักลบกลบกันแล้ว “ทีโอที” มีรายได้เข้ากระเป๋าปีละ 3,900 ล้านบาท ไปจนถึงปี 2568

แต่ที่ยังต้องลุ้นหนักกว่า คือสัญญาเป็นพันธมิตรธุรกิจคลื่น 2300MHz กับ “ดีแทค” แม้จะเพิ่งเข้าไปชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกับ “กสทช.”

“ดร.มนต์ชัย หนูสง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่าจะทำหนังสือชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการใช้คลื่น 2300MHz ไปยัง กสทช.อีกครั้ง หลังจากได้เข้าไปชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.เกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์มือถือในคลื่น 2300 MHz แล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา

“เราได้รับอนุญาตจาก กสทช.ปลายปี 2558 ให้ปรับปรุงคลื่น 2300MHz เพื่อให้บริการเสียง, ข้อมูล และมัลติมีเดีย โดยใช้เทคโนโลยีแอลทีอี ตามประกาศ กทช.เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการ Broadband Woreless Access (BWA) ที่ระบุให้ใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ ตามข้อเสนอแนะ ITU ที่ให้คำอธิบายว่า BWA คือการเชื่อมต่อไร้สายที่ความเร็วสูงกว่า 2Mbps ใช้ได้ทั้งฟิกซ์, โมบาย และไร้สายแบบกึ่งเคลื่อนที่”

สำหรับรูปแบบธุรกิจ “ทีโอที” จะเช่าอุปกรณ์เพื่อให้บริการโทรคมนาคมบนคลื่น 2300MHz จากคู่ค้า (ในกรณีนี้หมายถึงดีแทค) และนำคลื่นมาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ดังกล่าว จากนั้นจึงนำความจุโครงข่ายที่ได้มาดำเนินด้วยตนเอง 40% เป็น 2 ส่วน คือโมบายบรอดแบนด์เพื่อให้บริการมือถือ รวมถึงให้บริการผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือน (MVNO) 20% และ”ฟิกซ์ไวร์เลสบรอดแบนด์” 20% อีก 60% ให้ดีแทคเช่าใช้ (ทีโอทีจะมีรายได้ปีละ 4,510 ล้านบาท)

“เราเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอ ตอนนั้นมี 6 ราย แต่ข้อเสนอของดีแทคดีที่สุด เราส่งร่างสัญญาธุรกิจกับคู่ค้าไปยัง กสทช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นแล้วเมื่อ 1 ก.ย. รวมถึงส่งให้อัยการสูงสุด และ สคร. มั่นใจว่าปฏิบัติตามมติ กสทช. และ กม.ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด แต่ก็คงต้องรอแต่ละหน่วยงานตอบกลับมา เมื่อได้แล้วก็ต้องทำเรื่องเข้าบอร์ด ถ้าได้เซ็นสัญญาปีนี้ก็จะใช้บริการได้ในไตรมาส 1 ปีหน้า”

“ดร.มนต์ชัย” กล่าวว่า ถ้าทีโอทีได้นำคลื่น 2300MHz จำนวน 60MHz มาให้บริการโดยใช้เทคโนโลยี LTE จะทำให้ผู้บริโภคได้รับการบริการที่ดีขึ้นมากจากการใช้งานทั้งฟิกซ์ไวร์เลสบรอดแบนด์ และโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากความเร็วในการรับส่งข้อมูลจะสูงถึง 300-400Mbps ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย

“ปีหน้าจากการประมาณการเราจะขาดทุน 900 ล้านบาท แต่ผมพยายามจะทำให้ไม่ขาดทุนด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน และการหารายได้ ซึ่งดีลเอไอเอสและดีแทค ยิ่งช้ายิ่งมีผล”

ไม่เฉพาะ “ทีโอที” ที่ต้องลุ้น “ดีแทค” เองก็ไม่ต่างกัน ด้วยว่าคลื่นทั้ง 1800 MHz และ 850 MHz ที่จะหมดอายุสัมปทานในปลายปีหน้า