ธุรกิจหนีไม่พ้นสึนามิ “ดิจิทัล” “ซิสโก้” จัดทัพรับบทผู้ช่วยองค์กร

ในปี 2015 “ซิสโก้” ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในหลายองค์กรพบว่า ผู้บริหารทั้งหลายเชื่อว่าองค์กรที่เคยอยู่ Top 100 ของโลกจะหายไปถึง 40% ใน 5 ปี และพบอีกว่ามีเพียง 1 ใน 4 หรือ 25% ที่มีแผนรับมือการเข้ามาของ “ดิจิทัล” ล่าสุดเพิ่มขึ้นมาเป็น 37% ส่วนธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีมากที่สุด คือ 1. สื่อและบันเทิง 2.สินค้าและบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยี 3.ค้าปลีก 4.บริการการเงิน และ 5.โทรคมนาคม รวมไปถึงธุรกิจอื่น ๆ เช่น รถยนต์ที่เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันไปใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ธุรกิจตื่นตัวใช้เทคโนโลยี

“วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” กรรมการผู้จัดการ “ซิสโก้” ประจำประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลกระทบหลายวงการ เช่น รถขับอัตโนมัติจะส่งผลกับธุรกิจเครื่องบินและห้องพัก เพราะเมื่อไม่ต้องขับก็สามารถนอนในรถได้ ธุรกิจประกันหากไม่มีอุบัติเหตุในไทยหลายธุรกิจเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น โรงพยาบาลใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์พูดคุยกับคนไข้ต่างชาติ

แต่ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าการลงทุนด้านดิจิทัลต้องใช้เวลาเท่าใดถึงคุ้มทุน บางรายอาจไม่ถึงปี บางรายอาจ 3-4 ปีหรือบางบริษัทไม่ได้ดูเรื่องคุ้มทุน แต่อาจได้ผลทางอ้อม อาทิ ความพึงพอใจของพนักงาน ซึ่งวัดเป็นมูลค่าไม่ได้

โดย “ซิสโก้” คาดการณ์ไว้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกระหว่างปี 2011-2016 จะเติบโตขึ้น 29.1% ปัจจุบันโต 29.9% มีปริมาณข้อมูลสูงถึง 278 เอกซาไบต์จากการเชื่อมต่อระหว่าง “แมชีน ทู แมชี”ด้วยเทคโนโลยี “ไอโอที” ที่คาดว่าจะโต3 เท่าใน 3 ปี โดยในปี 2020 จะมีอุปกรณ์ที่ใช้ไอโอทีถึง 5 หมื่นล้านชิ้น

ในแง่จำนวนอุปกรณ์ไอโอทีอาจมากแต่ในแง่ทราฟฟิกจะมาจากสมาร์ทโฟนเป็นหลัก และโตต่อเนื่อง ส่วนคอมพิวเตอร์, ทีวีจะเริ่มใช้ทราฟฟิกน้อยลง

เอกชนไทยขับเคลื่อน ศก.

“ผู้บริหารซิสโก้” กล่าวต่อว่า ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (GCI) ของไทยโตขึ้น 2 หลัก มาอยู่อันดับ 32 สิ่งที่ยังต่ำกว่ามาตรฐานคือ ความนิ่งของการเมืองและนวัตกรรม สิ่งที่โดดเด่นคือ ความพร้อมด้านเศรษฐกิจ มีตัวขับเคลื่อนหลักคือภาคเอกชน

ขณะที่ระบบนิเวศในประเทศมีหลายมิติ เช่น ความเร็วอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ได้เร็วเท่าสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำ ถ้าเจาะลึกด้านฟิกซ์บรอดแบนด์มีความเร็วในการอัพโหลด 2-3 MB เท่านั้น แต่ดาวน์โหลดอยู่ที่ 10 MB ส่วนความเร็วของโมบายเน็ตเวิร์ก อัพโหลดอยู่ที่ 2 MB แต่ดาวน์โหลดอยู่ที่ 4 MB

“บางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ค่าเฉลี่ยของฟิกซ์บรอดแบนด์ต่ำมาก แต่โมบายเน็ตสูงมาก สะท้อนให้เห็นว่าเขาเลือกจะมุ่งไปที่โมบาย ไทยต้องตัดสินใจว่าจะไปทางไหน”

ภาพรวมอาเซียนคาดว่า ปี 2016-2021 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มจาก 1.7 พันล้านคน เป็น 2.6 พันล้านคน อุปกรณ์จาก 7.9 พันล้านชิ้นเป็น 12.2 พันล้านชิ้น มีความเร็วอินเทอร์เน็ตจาก 33.9 MB เป็น 63.7 MB ส่วนการชมวิดีโอจาก 72% ของทราฟฟิกทั้งหมด เพิ่มเป็น 83% และ “ไวไฟ” เร็วขึ้น 2 เท่า

ทราฟฟิกเน็ตโต 20 เท่า

ส่วนในไทยคาดปี 2016-2021 คนไทยจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มจาก 33% เป็น 40% ของประชากร ใช้เฉลี่ยเดือนละ 18.9GB มีอุปกรณ์เพิ่มจากค่าเฉลี่ย 1.5 ชิ้น/คน เป็น 1.9 ชิ้น/คน ความเร็วอินเทอร์เน็ตเพิ่มจาก 28.2 Mbps เป็น 45.7 Mbps เท่ากับมีการใช้งานเพิ่มขึ้น 25-30% ใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่การใช้งานผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 50% โตขึ้น 7 เท่า จะมีเลขหมายโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นจาก 89 ล้านเลขหมายเป็น 100.3 ล้านเลขหมาย และใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเคเบิลโมเด็มลดลงจาก 8% ในปีนี้ เป็น 7% ในปี 2021 แต่ใช้ผ่านไฟเบอร์ออปติก เพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 38%

สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย ขณะที่ค่าเฉลี่ยในการใช้แบนด์วิดท์ของอุปกรณ์ IOT จาก 260 MB เพิ่มเป็น 890MB ต่อเดือน, สมาร์ทโฟน จาก 3,000 MB เป็น 14,300 MB ต่อเดือน, แท็บเลตจาก 8,800 MB เป็น 23,300 MB, แล็ปทอป/พีซี จาก 29,300 MB เพิ่มเป็น 49,800 MB และ Ultra High Definition TV จาก 3,600 MB เพิ่มเป็น 19,400 MB ต่อเดือน

ที่น่าจับตาคือ การใช้วิดีโอ ที่ต้องการภาพที่ชัดมาก ทั้งยังนำเทคโนโลยี AR และ VR (Virtual and Augmented Reality) มาใช้มากขึ้นทั้งเพื่อความบันเทิง และการทำงาน ทำให้ทราฟฟิกอินเทอร์เน็ตเพิ่ม 20 เท่า

“ซิสโก้” โฟกัส 5 ด้านรับมือ

จากสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทำให้แนวทางดำเนินธุรกิจของ “ซิสโก้” ทั่วโลกในปี 2018 โฟกัสใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.reinvent networking เน็ตเวิร์กจะมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นสามารถเรียนรู้ได้เอง 2.enable a multi-cloud world รองรับการใช้งานมัลติคลาวด์ 3.unlock the power of data ทำหน้าที่ดึงข้อมูลจากอุปกรณ์และประมวลผลได้ 4.enrich the employee/customer experience มีระบบไอเอใช้รับฟังคำสั่งตามภาษาของผู้ใช้เหมือนสิริ และ 5.deploy security everywhere พัฒนารับมือภัยคุกคามในไทยจะเน้น 1.ด้านซอฟต์แวร์ซับสคริปชั่นมากขึ้น 2.เพิ่มทีมงานเพื่อช่วยลูกค้า 3.ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเน้นกลุ่มแบงก์, น้ำมัน และแมนูแฟกทอริ่ง4.เน้นด้าน architecture construct และ 5. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ช่วยเอสเอ็มอีใช้ประโยชน์จากดิจิทัลมากขึ้น