การ์ทเนอร์ ชำแหละ 12 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในปี’65

ภาพ Pixabay

ส่องเทคโนโลยีแห่งอนาคต บริษัทวิจัยดัง “การ์ทเนอร์” คาดการณ์ 12 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2565 ที่น่าจับตา และจะขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัล และนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า

วันที่ 14 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า “การ์ทเนอร์” บริษัทวิจัย และให้คำปรึกษาระดับโลกของสหรัฐอเมริกา ได้คาดการณ์เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตาและจะเกิดขึ้นในปี 2565 ที่จะมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจดิจิทัล และนวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไปอีก 3-5 ข้างหน้า เพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีในปีหน้าจะมีด้วยกัน 12 เรื่อง ได้แก่

เทรนด์ที่ 1 Data Fabric เทคโนโลยีการจัดการข้อมูล อย่างที่ทราบกันว่ามีข้อมูลเป็นจำนวนมากและกระจัดกระจายกันอยู่ และเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลนี้ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ มารวมเป็นผืนเดียวกัน และพร้อมใช้งานได้ทุกที่ ลดภาระ และกระบวนการในการจัดการข้อมูลลงได้มากถึง 70%

เทรนด์ที่ 2 Cybersecurity Mesh โครงข่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์ช่วยรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล มีระบบที่ให้ผู้ใช้ระบุตัวตน ตรวจสอบข้อมูล รวมถึงบริบทในการเข้าถึงข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลจากทั้งภายในและภายนอกระบบคลาวด์ได้อย่างรวดเร็ว และน่าเชื่อถือช่วยยกระดับเรื่องความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจไม่สามารถใช้การรักษาความปลอดภัยรูปแบบเดิม เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังเป็นกระแสในขณะนี้

เทรนด์ที่ 3 Privacy-Enhancing Computation เทคโนโลยีช่วยรักษาความปลอดภัยในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนเมื่ออยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่น่าเชื่อถือ

เทรนด์ที่ 4 Cloud-Native Platforms คือ แพลตฟอร์มบนเทคโนโลยีคลาวด์ เป็นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่รองรับการประมวลผลบนคลาวด์ ที่เพิ่มศักยภาพความสามารถด้านดิจิทัลที่มากขึ้น และตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เพิ่มความสามารถของระบบให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว รวมถึงปรับปรุงวิธีการโอนย้ายข้อมูลไปสู่ระบบคลาวด์ ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เต็มที่และลดความยุ่งยากในการดูแลรักษา

เทรนด์ที่ 5 Composable Applications แอปพลิเคชั่นที่สร้างองค์ประกอบทางเทคโนโลยีโดยอิงจากโมดูลของธุรกิจเป็นหลัก ทำให้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นใหม่ง่ายต่อการใช้และนำโค้ดกลับมาประกอบเพื่อใช้ใหม่ได้อีก

เทรนด์ที่ 6 Decision Intelligence การตัดสินใจ เป็นหนึ่งกระบวนการเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้องค์กรนั้น ๆ ได้ เทคโนโลยีนี้จะจำลองการตัดสินใจแต่ละครั้งเป็นชุดกระบวนการผ่านระบบข้อมูลอัจฉริยะ และการวิเคราะห์เพื่อให้ข้อมูลเหมาะสมที่สุด

เทรนด์ที่ 7 Hyperautomation ระบบอัตโนมัติขั้นสูง โดยใช้เทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แมชีนเลิร์นนิ่ง (ML) และระบบอัตโนมัติของกระบวนการหุ่นยนต์ (RPA) ทำงานอัตโนมัติอย่างที่มนุษย์เคยทำจะช่วยเร่งกระบวนการต่าง ๆ ในธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น

เทรนด์ที่ 8 AI Engineering มีหน้าที่ในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากปัจจุบันองค์กรต่าง ๆพยายามนำระบบปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงาน และการสร้างมูลค่าทางธุรกิจมากขึ้น

เทรนด์ที่ 9 Distributed Enterprises คือ เทคโนโลยีที่ใช้ระบบดิจิทัลมาเป็นตัวกลาง ที่ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและกลุ่มคู่ค้าที่อยู่ไกลกันให้สามารถติดต่อและสื่อสารกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

เทรนด์ที่ 10 Total Experience กลยุทธ์ทางธุรกิจที่นำเอาประสบการณ์ต่าง ๆ ภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของพนักงาน ประสบการณ์ลูกค้า มาใช้ต่อยอดและยกระดับการมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ในอนาคต

เทรนด์ที่ 11 Autonomic Systems ระบบการทำงานที่สามารถคิดค้น และปรับตัวจากสิ่งที่เรียนรู้ เช่น สภาพแวดล้อม โดยปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมของตนเองได้แบบไดนามิก และเรียลไทม์ เพื่อปรับตัวให้เหมาะสมกับระบบนิเวศที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

สุดท้าย เทรนด์ Generative AI เป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างหนึ่งที่จะพัฒนาเป็นการเรียนรู้จากข้อมูลแล้วสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาที่คล้ายคลึงกับต้นแบบแต่ไม่ทำซ้ำเดิม มีศักยภาพในการสร้างเนื้อหาสร้างสรรค์รูปแบบใหม่จึงอาจนำมาช่วยในการวิจัย และพัฒนาวงการต่าง ๆ เพื่อร่นระยะเวลาให้สั้นขึ้น