
ปี 2565 การแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ยังคงอยู่ พร้อมส่งสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน เข้ามาเสริมทัพอีกรอบเมื่อปลายปี 2564 แม้ต้องอยู่กับสถานการณ์มาเกือบ 2 ปี แต่ภาคธุรกิจก็ยังไม่ ชิน กับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งธุรกิจไอที
ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่ได้อานิสงส์เชิงบวกจากการระบาดโควิด-19 เพราะถือเป็นสิ่งจำเป็นในการปรับตัวและสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ แต่บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจไอทีก็นิ่งนอนใจไม่ได้ แต่ต้องเตรียมพร้อมและเพิ่มโอกาสในการเติบโตในทุกมิติเช่นกัน
“จักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า
ความท้าทายหลัก ๆในปี 2565 ก็ยังขึ้นอยู่กับการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2564 ซึ่งหากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ไม่รุนแรง การท่องเที่ยวยังดำเนินต่อได้ คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจปี 2565 ก็จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น กำลังซื้อของผู้บริโภคก็จะเริ่มกลับมาดีขึ้น
โอไมครอนเขย่ากำลังซื้อปี 2565
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปลายเดือนธันวาคม 2564 รัฐบาลได้ประกาศปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศแล้ว ทำให้ต้องรอดูสถานการณ์ต่อว่า การระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่จะรุนแรงแค่ไหน
นั่นหมายถึงรายได้จากท่องเที่ยวก็อาจจะหายไปซึ่งโครงสร้างรายได้ของประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ
“ถ้าไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นในต้นปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมและกำลังซื้อน่าจะค่อย ๆ ฟื้นกลับมา ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังจนถึงปลายปี 2564 กำลังซื้อลดลง และถ้าหากเกิดการระบาดอีกเชื่อว่าจะกระทบต่อกำลังซื้อค่อนข้างมาก”
อย่างไรก็ตาม แม้สินค้าไอทีจะกลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการของผู้บริโภคอยู่เพราะทุกองค์กรต้องใช้ไอทีเข้ามาช่วยในธุรกิจ ทั้งระบบการทำงาน การติดต่อสื่อสาร ซึ่งถือเป็นการปรับตัวขององค์กรในยุคเน็กต์นอร์มอลต่อไป
ทำให้ความต้องการสินค้าไอทีในปี 2565 ยังคงมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง เพราะธุรกิจเรียนรู้แล้วว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา บริษัทหรือองค์กรที่มีระบบไอทีที่ดี ทำให้องค์กรสามารถปรับตัวได้เร็ว ยืดหยุ่น และพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
“องค์กรขนาดใหญ่มองว่าการลงทุนไอที เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและสามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ไปเรื่อย ๆ ในส่วนของภาครัฐต้องดูว่าปี 2565 จะมีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ขนาดไหน เพราะภาครัฐยังได้ใช้งบประมาณเข้ามาดูแลภาคประชาชนไปค่อนข้างมาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อภาพรวม”
ซัพพลายขาดลากยาว
“จักรกฤช” กล่าวต่อว่า องค์กรจะต้องมีระบบไอทีและการติดตั้งระบบไอทีตัวอย่าง ธุรกิจไหนที่มีดาต้าของลูกค้า หรือมีระบบไอทีหลังบ้านที่แข็งแรง ก็สามารถเปลี่ยนองค์กรไปสู่ธุรกิจออนไลน์ได้ภายใน 1-2 เดือน ซึ่งเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องเพิ่มระบบไอทีเข้ามา
ดังนั้น คาดการณ์ว่าความต้องการสินค้าไอทีในปี 2565 จะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันปัญหาในเรื่องของซัพพลายของสินค้ายังมีปัญหาที่กำลังการผลิตยังไม่ได้กลับมา 100% เหมือนความต้องการของตลาด
ทั้งนี้ ความต้องการกลุ่มสินค้าไอทีจากทั่วโลกมีความต้องการมาก ทางด้านกำลังการผลิตจากที่ได้ข้อมูลจากเวนเดอร์ทั้ง Intel และ AMD ในปี 2565 สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น แต่ยังน้อยกว่าความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น
“สุธิดา มงคลสุธี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2565 กระแสการทำงานไฮบริดยังคงอยู่ เนื่องจากการระบาดโควิดก็ยังไม่จบ
ดังนั้น คาดว่าธุรกิจไอทีโดยรวมยังคงโตขึ้น โดยกลุ่มคอนซูเมอร์ก็ยังมีความต้องการอยู่ และยังมีกลุ่มที่ยังต้องการอัพเกรดอุปกรณ์ไอที ขณะที่กลุ่มลูกค้าโครงการต่าง ๆ คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นกลับมาจากก่อนหน้าที่เลื่อนโปรเจ็กต์ออกมาแล้วสักระยะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อความต้องการเติบโตขึ้น แต่ธุรกิจนี้ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาซัพพลายขาดต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเติบโตของหลาย ๆบริษัท เพราะไม่มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการ แต่ปี 2565 เชื่อว่าจะมีสินค้าเพิ่มมากขึ้น
หากเจาะเฉพาะตลาดสมาร์ทโฟนโดยรวม เชื่อว่าปี 2565 ตลาดนี้ก็จะคงเติบโตต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากสมาร์ทโฟน 5G ที่หลายแบรนด์เตรียมจะปล่อยมา ซึ่งยังเป็นสมาร์ทโฟน
ในระดับราคากลางและบนอยู่ โดยราคาต่ำกว่า 10,000 บาท อาจจะไม่มีรุ่นให้เลือกมากนัก เนื่องจากปัญหาชิปเซตขาดก็ยังไม่คลี่คลาย
สำหรับทิศทางธุรกิจปี 2565 ซินเน็คก็ต้องปรับตัวมากขึ้น โดยไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นแค่ผู้นำเข้าสินค้าไอทีอีกแล้ว แต่จะขยายเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น การบริการหลังการขาย โซลูชั่นต่าง ๆ รวมถึงมีแผนจะสร้างสินค้าเฮาส์แบรนด์ด้วย เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มของซินเน็คให้แข็งแรง
ลุ้นท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ
ฟากฝั่งของแบรนด์ “นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การใช้งาน หรือพฤติกรรมนิวนอร์มอลของผู้บริโภคไทย ถูกเปลี่ยนมาแล้ว 2 ปี
ซึ่งโควิดทำให้คนเหล่านี้ต้องทำงานและเรียนที่บ้าน ทำให้มีกลุ่มคนใหม่ ๆ ที่เข้าใช้งานอุปกรณ์ไอทีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ต้องเรียนออนไลน์ โดยกลุ่มเหล่านี้กระตุ้นให้ตลาดสินค้าไอทีโตขึ้น
ถือเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรม และคาดว่าปี 2565 สถานการณ์โควิดที่ยังไม่จบ ทำให้หลายบริษัทก็ยังคงนโยบายการทำงานแบบไฮบริด ลดจำนวนคนเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศอยู่ ดังนั้น สินค้าไอทีก็ยังเติบโตอยู่ แต่อาจจะไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ปัญหาซัพพลายขาดก็ยังเป็นความท้าทายที่อุตสาหกรรมนี้ยังคงต้องเจออยู่ ซึ่งได้รับผลกระทบเหมือนกันทั่วโลก ดังนั้น สถานการณ์เรื่องของสินค้าก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละแบรนด์ว่าจะสามารถดึงสินค้าเข้ามาจำหน่ายได้มากน้อยแค่ไหน
“แม้สินค้าไอทีจะกลายเป็นสินค้าจำเป็นไปแล้ว แต่ก็มีความกังวลเรื่องของกำลังซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากภาคธุรกิจยังคงเดินหน้าได้ไม่เต็มสูบ เพราะประเทศไทยยังพึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยวสูงขึ้น
ซึ่งถือเป็นปัจจัยชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นกลับมาก็อาจจะส่งผลต่อกำลังซื้อและสินค้าไอทีโดยรวมด้วย”
“ชานนท์ จิรายุกุล” ประธานกรรมการอาวุโส ฝ่ายบริหาร ออปโป้ ประเทศไทย กล่าวว่า ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้หลายธุรกิจชะลอการเติบโตลง แต่สำหรับธุรกิจสมาร์ทโฟนโดยรวมถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ และคาดว่าปี 2565 การแพร่ระบาดก็ยังคงอยู่
ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็ยังพึ่งพาการท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก และการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนก็จะผูกกับเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นกลับมา ในแง่ของตลาดก็อาจจะไม่มีการเติบโตมากนัก
ขณะที่ทิศทางปี 2565 ออปโป้เน้นการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นไฮเอนด์ที่มีระดับราคาตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไปมากขึ้น ซึ่งในปีนี้ได้เปิดตัว OPPO Fine X3สมาร์ทโฟนรุ่นแฟลกชิป และพบว่ายอดขายโตขึ้น 40%
เทียบกับรุ่น OPPO Fine X2 Series ที่เปิดตัวในปี 2563 โดยตั้งเป้าว่าในปี 2565 จะทำให้ออปโป้สามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟนกลุ่มไฮเอนด์ได้ จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดโดยรวมอันดับ 3
ลดต้นทุน หาโอกาสธุรกิจใหม่
“วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศในหลายด้าน
โดยเฉพาะเรื่องคมนาคมทางอากาศ ทำให้รายได้ของระบบวิทยุการบินของบริษัทเองก็ลดลงไปในระดับหนึ่งแต่ในความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดที่มีอยู่ เป้าหมายสำคัญของบริษัทคือ ต้องสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ได้ โดยได้มีการลดต้นทุนลงในบางธุรกิจ และยังมองหาโอกาสในธุรกิจโมเดลใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
“กระแสโลกปัจจุบันหันไปหาโลกของดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งบริษัทก็ไม่ได้มองข้ามต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ พยายามหาธุรกิจโมเดลใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น โดยเพิ่งได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นด้านการให้บริการศาสตร์พยากรณ์แบบครบวงจร
และพร้อมขยายช่องทางการตลาดมากยิ่งขึ้น โดยลงทุนกับโปรเจ็กต์นี้ราว ๆ 20-30 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องของต้นทุนทางการตลาดเป็นส่วนใหญ่ พร้อมตั้งเป้ายอดดาวน์โหลด 1 ล้านแอ็กเคานต์ รวมถึงตั้งเป้ารายได้ประมาณ 200 ล้านบาทภายในปี 2565”